×

“ชีวิตคือการมีส่วนร่วม ไม่ใช่เป็นเพียงกองเชียร์ข้างสนาม” แคทเธอรีน สวิตเซอร์ นักวิ่งหญิงคนแรกในบอสตัน มาราธอน ผู้ที่กล้าแตกต่างเพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

12.02.2021
  • LOADING...
แคทเธอรีน สวิตเซอร์ นักวิ่งหญิงคนแรกในบอสตัน มาราธอน

HIGHLIGHTS

10 mins. read
  • แคทเธอรีน สวิตเซอร์ คือนักวิ่งหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของการแข่งขันบอสตัน มาราธอนอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1967
  • เธอเข้าร่วมแข่งขันในวันที่ไม่มีใครคิดว่าผู้หญิงจะวิ่งมาราธอนได้ โดยลงทะเบียนอย่างถูกต้องด้วยลายเซ็น K.V. Switzer และสามารถแข่งขันจนจบด้วยเวลา 4.20 ชั่วโมง
  • เรื่องราวของเธอ แม้ว่าจะถูก จ็อค เซมเปิล ฝ่ายจัดการแข่งขัน วิ่งลงมาพยายามแย่งบิบเบอร์แข่งขัน 261 และพยายามตัดสิทธิ์เธอจากการแข่งขัน 
  • แต่สุดท้ายการตัดสินใจวิ่งจนจบของเธอได้พิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าผู้หญิงก็วิ่งมาราธอนได้ ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับวงการ 
  • บอสตัน มาราธอน ได้เปิดรับผู้หญิงลงแข่งขันอย่างเป็นทางการในปี 1972 รวมถึงโอลิมปิกได้จัดแข่งมาราธอนหญิงเป็นครั้งแรกในปี 1984 
  • แคทเธอรีนยอมรับว่าคติประจำใจของเธอคือคำพูดของพ่อในวัยเด็กที่มอบความเชื่อมั่นในความฝันให้เธอว่า “ชีวิตคือการมีส่วนร่วม ไม่ใช่เป็นเพียงกองเชียร์ข้างสนาม” (Life is to participate not to spectate)
  • และได้สอนเธอเกี่ยวกับการวิ่งตั้งแต่วัย 12 ปีว่า “การวิ่งไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการทำให้ได้เร็วที่สุด แต่เป็นการทำงานตามเป้าหมายให้สำเร็จลุล่วง” 

แคทเธอรีน สวิตเซอร์ เป็นชื่อที่ผู้คนในวงการวิ่ง โดยเฉพาะมาราธอนคุ้นเคยเป็นอย่างดี ในฐานะนักวิ่งหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของการแข่งขันบอสตัน มาราธอน เมื่อปี 1967 และหมายเลขบิบ 261 ของเธอกลายเป็นสิ่งที่มากกว่าตัวเลขระบุตัวตนของนักวิ่ง แต่เป็นสัญลักษณ์ของผู้เปิดเส้นทางแห่งโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขันมาราธอน 

 

เรื่องราวของเธอในวันนั้นได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วโลก จนวันนี้เธอยังคงรณรงค์เรื่องสิทธิและความเท่าเทียมของผู้หญิงในการเข้าถึงโอกาสในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม โดยเฉพาะการแข่งขันกีฬาผ่านทาง 261 Fearless องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เธอก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2015 

 

เส้นทางของเธอนับตั้งแต่วันแรกที่พ่อของเธอให้เธอวิ่งวันละ 1 ไมล์ตั้งแต่อายุ 12 ขวบจนถึงวันนี้ที่เธอกลายเป็นที่รู้จักในฐานะผู้หญิงที่ก้าวข้ามเส้นชัยบอสตัน มาราธอนอย่างเป็นทางการคนแรกเกิดขึ้นได้อย่างไร วันนี้ THE STANDARD จะพาคุณย้อนเส้นทางไปถึงจุดออกสตาร์ทกัน 

 

“ชีวิตคือการมีส่วนร่วม ไม่ใช่เป็นเพียงกองเชียร์ข้างสนาม” (Life is to participate not to spectate)

 

Kathrine Switzer

 Credit: Brealey.com 

 

ก่อนที่แคทเธอรีนจะกลายเป็นนักวิ่งหญิงคนแรกของการแข่งขันบอสตัน มาราธอน เธอยอมรับว่าเธอมีอีกหนึ่งความฝันที่เธอต้องการในวงการกีฬา นั่นคือการเป็นเชียร์ลีดเดอร์ 

 

ในวัย 12 ปี ระหว่างที่เธอกำลังจะก้าวขึ้นไปสู่ระดับมัธยม แคทเธอรีนได้บอกกับพ่อว่าเธออยากที่จะเป็นเชียร์ลีดเดอร์ 

 

“ฉันจำได้แม่นว่าตอนอายุ 12 ปี และบอกพ่อว่าฉันอยากจะเป็นเชียร์ลีดเดอร์ตอนที่ก้าวขึ้นไปสู่ระดับมัธยม” แคทเธอรีนกล่าวผ่านการให้สัมภาษณ์กับ GBH Radio วิทยุท้องถิ่นในบอสตัน 

 

ในวันนั้นพ่อของเธอได้ตอบมาประโยคหนึ่ง ซึ่งเปลี่ยนแปลงชีวิตและความเชื่อของแคทเธอรีนไปตลอดกาลด้วยคำพูดที่ว่า

 

“ลูกไม่อยากเป็นเชียร์ลีดเดอร์หรอก เพราะเชียร์ลีดเดอร์ต้องเชียร์คนอื่น แต่ลูกอยากให้คนเชียร์ลูกมากกว่า เพราะการแข่งขันอยู่ในสนาม ฟังให้ดีนะ ชีวิตคือการมีส่วนร่วม ไม่ใช่เป็นเพียงกองเชียร์ข้างสนาม ลูกควรจะออกไปวิ่ง เพราะมีทีมฮอกกี้ที่โรงเรียน บอกตามตรงพ่อไม่แน่ใจว่าพวกเขาแข่งขันกันอย่างไร รู้แค่ว่าพวกเขาวิ่งเยอะมาก พ่อเห็นลูกวิ่งมาก่อน และถ้าลูกวิ่งได้วันละ 1 ไมล์ ลูกจะกลายเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดในสนาม” 

 

ตอนนั้นแคทเธอรีนเองก็ไม่เชื่อว่าเธอจะสามารถวิ่งได้ 1 ไมล์ต่อวัน แต่สุดท้ายด้วยการสนับสนุนจากพ่ออย่างเต็มที่ด้วยการช่วยวัดระยะทางและให้กำลังใจเธอในทุกๆ วัน พร้อมกับให้แง่คิดเกี่ยวกับการวิ่งว่า 

 

“การวิ่งไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการทำให้ได้เร็วที่สุด แต่เป็นการทำงานตามเป้าหมายให้สำเร็จ”

 

การเริ่มต้นฝึกซ้อมวิ่งกับพ่อในวันนั้นของแคทเธอรีนจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ช่วยสร้างให้เธอมีความมั่นใจในการทำในสิ่งที่แตกต่างจากผู้หญิงคนอื่นๆ ในช่วงเวลานั้น

 

อีกสิ่งที่แคทเธอรีนได้เรียนรู้จากพ่อแม่ที่เป็นกำลังใจสำคัญมาตั้งแต่วัยเด็กคือ เธออยากที่จะให้ผู้ปกครองทุกคนสนับสนุนสร้างความมั่นใจว่าพวกเขาสามารถทำอะไรก็ได้ และให้โอกาสลูกทั้งลูกชายลูกสาวด้วยความเคารพและความเท่าเทียมกัน เพราะนั่นคือสิ่งที่พ่อแม่ของเธอได้ทำตลอดมา 

 

“ยกตัวอย่างเช่น หากพี่ชายของฉันต้องกลับเข้าบ้านภายในเวลา 4 ทุ่ม ฉันเองก็ต้องกลับบ้านในเวลาเดียวกัน” 

 

ด้วยการสนับสนุนและกำลังใจในวัยเด็ก ทำให้แคทเธอรีนเรียนรู้สิ่งที่พ่อและแม่ของเธอมีคือความสม่ำเสมอในการทำสิ่งที่ต้องการให้สำเร็จ ซึ่งกลายเป็นเมล็ดพันธุ์สำคัญในการเริ่มต้นออกเดินทางของเธอ 

 

ครั้งแรกที่ได้รู้จักกับบอสตัน มาราธอน 

 

Kathrine Switzer

Credit: Brearley.com 

 

แคทเธอรีนเติบโตมากับการเล่นฮอกกี้ พร้อมกับการวิ่ง 1 ไมล์สะสมมาทุกวันตั้งแต่อายุ 12 ปี ความรักและความชื่นชอบในกีฬาของเธอเติบโตขึ้นพร้อมกับอายุในทุกๆ วัน 

 

เธอเริ่มต้นชีวิตมหาวิทยาลัยที่ Lynchburg ในเวอร์จิเนียร์ เป็นเวลา 2 ปี ระหว่างที่เธอลงแข่งขันให้กับทีมฮอกกี้ โค้ชกรีฑาของมหาลัยได้ขอให้เธอมาลงแข่งขันวิ่ง 1 ไมล์สำหรับทีมชาย นั่นเป็นครั้งแรกที่แคทเธอรีนได้รู้จักกับชุมชนนักวิ่ง

 

“นั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันได้รู้จักกับความยอดเยี่ยมของทีมวิ่งชาย พวกเขาให้การต้อนรับเป็นอย่างดี แม้ว่าช่วงนั้นนักกีฬาชายจากกีฬาประเภทอื่นจะมีการเหยียดบ้าง แต่นักวิ่งพวกเขาเป็นคนที่เปิดกว้างมาก” 

 

“บวกกับตอนนั้นคนที่ฉันคบหาด้วยที่ Lynchburg เพิ่งวิ่งบอสตัน มาราธอนมา ทำให้ฉันตื่นเต้นมาก ตอนนั้นฉันเลยถามเขาว่า ผู้หญิงวิ่งได้ไหม เขาบอกว่ามี และผู้หญิงคนนั้นทำเวลาได้ 3.20 ชั่วโมง”

 

“เธอเอาชนะคุณได้เหรอ” แคทเธอรีนถาม 

 

“ใช่” แฟนของเธอในเวลานั้นยืนยัน 

 

ช่วงเวลานั้นเองที่ทำให้แคทเธอรีนมองเห็นความหวังที่จะสามารถลงแข่งขันบอสตัน มาราธอนได้ 

 

หลังจากนั้นเธอก็ตัดสินใจเดินตามความฝันที่จะเป็นนักข่าวกีฬาด้วยการย้ายไปเรียนที่มหาวิทยาลัย Syracuse ที่มีชื่อเสียงด้านวารสารศาสตร์

 

แต่ในขณะเดียวกันตอนนั้นมหาวิทยาลัย Syracuse ไม่มีทีมกีฬาหญิงให้ลงแข่งขัน ซึ่งเธอมองว่าถ้าเธอลงแข่งขันกีฬาไม่ได้ อย่างน้อยเธอจะมีโอกาสได้เรียนรู้ที่จะเขียนเกี่ยวกับกีฬาแทน 

 

แต่ระหว่างที่เธอศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยในการไล่ล่าความฝันที่จะเป็นนักข่าวกีฬา เธอได้ขอโค้ชกรีฑาของมหาวิทยาลัยลงแข่งขันในทีมชายประเภทวิ่งครอสคันทรี แต่เขาก็ได้ให้โอกาสเธอร่วมฝึกซ้อมแทนการลงแข่งขัน

 

“ในตอนนั้นฉันยอมรับเลยว่านี่คือแสงแรกของการผลักดันสิทธิ์ของผู้หญิงในการวิ่ง เพราะตอนนั้นผู้ชายในทีมแทนที่จะปฏิเสธฉัน เพราะกลัวว่าผู้หญิงจะมาท้าทายความสามารถของพวกเขา แต่ในทางกลับกัน พวกเขาให้การต้อนรับฉันเป็นอย่างดี” 

 

หนึ่งในคนที่ให้การต้อนรับแคทเธอรีนสู่ทีมวิ่งในเวลานั้นคือโค้ชอาสาสมัครอายุ 50 ปีที่มีชื่อว่า อาร์นี บริกส์ ซึ่งผ่านการแข่งขันบอสตัน มาราธอนมาแล้ว 15 สมัย 

 

“อาร์นีรู้สึกสงสารฉัน เพราะตอนนั้นฉันวิ่งช้ามาก และรับฉันเข้าเป็นลูกศิษย์ เราวิ่งด้วยกันทุกวัน และทุกวันต่อจากนั้นก็คือเรื่องราวของบอสตัน มาราธอน เพราะเขาคือคนที่สร้างแรงบันดาลใจให้ฉันออกไปวิ่ง”

 

อาร์นี โค้ชผู้ที่ไม่เชื่อว่าผู้หญิงจะวิ่งมาราธอนได้ 

 

Kathrine Switzer

Credit: Personal photo 

 

“อาร์นีไม่เชื่อเลยว่าผู้หญิงคนไหนก็ตามบนโลกใบนี้จะสามารถวิ่งมาราธอนได้” 

 

แคทเธอรีนกล่าวถึงความเชื่อของอาร์นีในวันที่พวกเขาฝึกซ้อมด้วยกัน ในช่วงเวลาที่ก่อนหน้านั้นมีผู้หญิงวิ่งมาราธอนไปแล้ว 6-7 คน 

 

โดยเฉพาะ บ็อบบี้ กิบบ์ ที่ไม่ผ่านขั้นตอนการสมัคร จนตัดสินใจแอบเข้าร่วมแข่งขันบอสตัน มาราธอนในปี 1966 ด้วยการปลอมตัวสวมกางเกงผู้ชายและเสื้อฮู้ด รวมถึงได้แอบซ่อนอยู่ในพุ่มไม้ใกล้จุดออกตัว ออกวิ่งจนจบการแข่งขันด้วยเวลา 3 ชั่วโมง 21 นาที 40 วินาที และกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่วิ่งจบการแข่งขันบอสตัน มาราธอนอย่างไม่เป็นทางการ 

 

“ตอนที่อาร์นีได้ยินฉันพูดถึงเรื่องราวของบ็อบบี้เขาโกรธมาก และพยายามที่จะกระตุ้นฉันว่าไม่เคยมีผู้หญิงคนไหนวิ่งมาราธอน! ฉันเข้าใจดีเพราะตอนนั้นมีความเชื่อที่ถูกแพร่กระจายไปทั่วว่าผู้หญิงไม่ควรวิ่งมาราธอน ด้วยเหตุผลทางสุขภาพ เพราะอาร์นีกลัวว่าการให้ฉันวิ่งมาราธอนจะเป็นการทำร้ายฉัน” 

 

บรรยากาศโดยรอบการแข่งขันมาราธอนในเวลานั้นผู้คนเต็มไปด้วยความเชื่อที่ว่าผู้หญิงไม่สามารถวิ่งระยะมาราธอนได้ เนื่องจากปัจจัยทางร่างกายที่จะทำให้สุขภาพของพวกเขาเสื่อมเสีย

 

อาร์นีจึงได้ตัดสินใจบอกกับแคทเธอรีนว่า ถ้าเธอสามารถพิสูจน์ให้เขาเห็นได้ว่าเธอวิ่งระยะไกลได้ เขาจะเป็นคนแรกที่พาเธอไปวิ่งที่บอสตันเอง 

 

หลังจากนั้นพวกเขาได้ฝึกซ้อมร่วมกันจนถึงวันหนึ่งที่แคทเธอรีนก้าวเท้าไปถึงระยะมาราธอนที่ 42.195 กิโลเมตร อาร์นีตกใจในความสามารถของเธอ แต่แคทเธอรีนยังไม่พอ เธอต้องการที่จะไปต่อ 

 

“วิ่งกันอีก 8 กิโลเมตร” แคทเธอรีนชวนอาร์นีให้ไปต่อ 

 

ผลปรากฏว่าหลังจากนั้นพวกเขาวิ่งกันจนถึง 50 กิโลเมตร แคทเธอรีนเข้าสวมกอดอาร์นีด้วยความดีใจที่จะไปบอสตัน มาราธอน และอาร์นีก็เป็นลมลงตรงนั้นด้วยความเหนื่อยล้า 

 

หลังจากที่อาร์นีได้สติ เขายอมรับว่าผู้หญิงมีความสามารถในทั้ง Stamina และ Endurance และเขาได้ทำตามสัญญาว่าเขาจะพาเธอไปบอสตัน มาราธอน ด้วยการนำใบสมัครมาให้เธอต้วยตัวเอง 

 

การสมัคร บอสตัน มาราธอน ในฐานะผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของการแข่งขัน 

 

Kathrine Switzer

Credit: Brearley.com

 

ในระหว่างที่อาร์นีและแคทเธอรีนกำลังเขียนใบสมัคร เธอได้พบว่าในรายละเอียดที่ต้องเขียนนั้นไม่จำเป็นต้องระบุเพศ เพราะในเวลานั้นไม่มีใครเชื่อว่าผู้หญิงอยากที่จะลงแข่งขันวิ่งมาราธอน 

 

แต่แคทเธอรีนก็ตั้งคำถามกับอาร์นีว่า ผู้หญิงที่ลงแข่งขันในปี 1966 ไม่ได้ใส่บิบลงแข่งขัน ซึ่งอาร์นีได้ยืนยันว่านั่นจะไม่ใช่สิ่งที่แคทเธอรีนควรทำในการวิ่งมาราธอนครั้งแรกของเธอที่บอสตัน 

 

พวกเขาทั้งสองจึงได้ทำการศึกษากฎกติกาการแข่งขัน และพบว่าไม่ได้มีข้อจำกัดทางเพศ แคทเธอรีนจึงได้เซ็นชื่อของเธอในใบสมัครว่า K.V. Switzer 

 

หลายคนเชื่อว่าเธอต้องการที่จะปกปิดเพศของเธอด้วยการใส่ตัวย่อ แต่แท้จริงแล้วเธอต้องการที่จะเซ็นชื่อเป็นตัวย่อเหมือนกับนักเขียนชื่อดังที่เธอชื่นชอบ 

 

“ตอนที่ฉันเซ็นชื่อ K.V. Switzer ฉันอยากที่จะเป็นเหมือนนักเขียนอย่าง J.D. Salinger หรือ E.E. Cummings รวมถึงพ่อของฉันสะกดชื่อฉันผิดอีกต่างหากในใบเกิด ดังนั้นชื่อของฉันจึงเป็น K.V. Switzer มาตั้งแต่อายุ 12 ปี หลายคนบอกว่าฉันจงใจเซ็นแบบนั้นเพื่อจะหลบหลีกเข้าไปแข่งขัน ฉันบอกเลยว่าไม่ใช่ ฉันเซ็น K.V. Switzer มาตลอด และก็ผ่านเข้าไปแข่งขัน” 

 

จ็อค เซมเปิล วายร้ายในสายตาของประวัติศาสตร์ แต่เป็นบุคคลสำคัญในสายตาของแคทเธอรีน 

 

Kathrine Switzer

Credit: Boston Herald 

 

มาถึงจุดนี้หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของการวิ่งมาราธอนหญิง เมื่อแคทเธอรีนลงแข่งขันพร้อมกับอาร์นีและทอม มิลเลอร์ แฟนของเธอที่ลงแข่งขันมาราธอนครั้งแรกร่วมกับเธอจนจบการแข่งขันด้วยเวลา 4.20 ชั่วโมง ในปี 1967 และกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่วิ่งจบการแข่งขันอย่างเป็นทางการพร้อมกับเบอร์เสื้อ 261 

 

หากคุณไม่เคยได้ยิน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ระหว่างการแข่งขันแคทเธอรีนถูกจ็อค เซมเปิล ทีมฝ่ายจัดการแข่งขันวิ่งพยายามที่จะกระชากเบอร์ออกจากเสื้อของเธอ และตะคอกใส่เธอว่า “ไสหัวออกไปจากการแข่งขันของฉันเดี๋ยวนี้!” 

 

ก่อนจะโดนแฟนของเธอวิ่งเอาไหล่กระแทกจนกระเด็นล้มไปข้างทาง 

 

ตลอดทาง จ็อค เซมเปิล ยังได้ขับรถตามมาข่มขู่เธอว่า เธอจะพบเจอกับปัญหาไม่จบไม่สิ้นหลังจากที่เข้าเส้นชัยอย่างแน่นอน รวมถึงจ็อคยังได้เดินทางไปฟ้องสหพันธ์ต่างๆ อีกด้วย 

 

“อย่างแรกเลยหลังจากที่ จ็อค เซมเปิล ลุกขึ้นมา เขาไล่ด่าเรามาจนเขากลับไปถึงจุดออกตัว เขาโทรหาสหพันธ์กรีฑา ไม่เพียงแค่เขาตัดสิทธิ์ฉันออกจากการแข่งขัน เขายังพยายามทำให้ฉันโดนไล่ออกจากสหพันธ์กรีฑาด้วยข้อหาวิ่งกับผู้ชาย ซึ่งเป็นการกระทำที่ฉันมองว่าน่ารังเกียจมาก เพราะเหมือนกับเป็นการกล่าวหาว่ามีเรื่องของความรู้สึกทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง” 

 

“รวมถึงข้อหาวิ่งมากกว่า 1 ไมล์ครึ่ง เพราะนั่นคือระยะทางที่อนุญาตให้ผู้หญิงวิ่งได้ ไม่อย่างนั้นจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ข้อหาปลอมแปลงเอกสารใบสมัครแข่งขันด้วยลายเซ็นตัวย่อ นี่เป็นกฎทั้งหมดที่เขาบอก ขณะที่อาร์นีก็โมโหมาก เพราะเขาเชื่อในตัวฉันมากๆ”

 

“แต่สำหรับฉันแล้ว ฉันให้อภัยจ็อคตั้งแต่ช่วงที่วิ่งผ่าน Heartbreak Hill ในการแข่งขันครั้งนั้น เพราะจ็อคคือผลผลิตของยุคสมัยเขา ในทางกลับกัน จ็อคยังคงโมโหฉันต่อไปอีก 5 ปี และเขายึดมั่นว่าเขาเป็นฝ่ายถูกมาตลอด ตอนที่สื่อโทรมาถามฉัน ฉันก็บอกไปตรงๆ ว่าฉันให้อภัยเขาแล้ว แต่คนก็ยังถามฉันว่าจะฟ้องเขาไหม ฉันก็ยืนยันว่าจะไม่ฟ้อง เพราะนั่นเป็นเรื่องที่ไม่ดี เพราะเราพยายามหาทางออกที่ดีที่สุดจากเรื่องนี้” 

 

“จ็อคโกรธมาตลอด แต่ในขณะเดียวกันเขาก็มีอารมณ์ขันเวลาที่ถูกคนล้อเลียนเขาจากเหตุการณ์ในวันนั้น ฉันจำได้ว่าเขาให้สัมภาษณ์สื่อถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า “ภรรยาของผมโกรธผมมากในวันนั้น เธอเสิร์ฟเนื้ออบให้กับสุนัขของเรา ขณะที่เสิร์ฟอาหารไมโครเวฟให้กับผมแทน” ตอนที่ฉันได้ยินเขาพูดแบบนี้ ฉันยอมรับเลยว่ามันเป็นเรื่องที่ตลกมาก” 

 

“หลังจากการลงทะเบียนต่างๆ และเดินหน้ายื่นเรื่องผ่านสหพันธ์ต่างๆ บอสตัน มาราธอนคือรายการแรกที่เปิดประตูต้อนรับผู้หญิง และจ็อคเป็นคนที่ต้องทำการประกาศข่าว เขาก็ได้ทำตามหน้าที่ แต่ฉันเห็นเลยว่าเขาประกาศโดยยังมีอารมณ์โมโหอยู่” 

 

“หลังจากที่ฉันลงแข่งขันอีกครั้งและได้อันดับที่ 3 จ็อคเดินมาให้ถ้วยรางวัลพร้อมกับความรู้สึกอาย เพราะว่าถ้วยรางวัลมีตำหนิจากการขนส่ง เขาขอโทษและบอกว่าถ้าฉันส่งถ้วยไปให้เขา เดี๋ยวเขาจะซ่อมและส่งใบใหม่มาให้ แต่หลังจากนั้นเขาก็บอกว่า แต่ผมโกรธคุณมาเป็นเวลา 5 ปี และคุณควรที่จะได้รับถ้วยที่พังนี่แหละ (หัวเราะ)”

 

“ท้ายที่สุดแล้ว ปีต่อมาระหว่างจุดออกสตาร์ทที่จ็อคกำลังพยายามจัดระเบียบนักวิ่ง เขาคว้าแขนฉัน ฉันตกใจมาก นึกว่าจะโดนเขาชก แต่เขากลับจูบฉันที่แก้มต่อหน้ากล้องโทรทัศน์ที่ถ่ายอยู่ที่จุดออกตัว นั่นแหละคือวิธีการบอกขอโทษของเขา และวันต่อมาเฮดไลน์ของ The New York Times ก็พาดหัวว่า จ็อค เซมเปิล ต้อนรับแคทเธอรีนสู่บอสตัน มาราธอน เวลาได้เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ พร้อมกับภาพที่เขาจูบฉันที่แก้ม” 

 

Kathrine Switzer

จ็อค เซมเปิล กับ แคทเธอรีน ถ่ายภาพร่วมกันเมื่อปี 1973 

 

“ฉันกับเขากลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตของเขา ฉันก็ยังเดินทางไปพบเขา เพื่อนๆ ของฉันบอกว่านี่เป็นการให้อภัยแบบเยอะมาก แต่ฉันก็ยืนยันว่าคุณจะไม่รักคนที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของคุณไปมากขนาดนี้ และคนที่ทำให้ประสบการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตกลายเป็นเรื่องที่ดีที่สุดในชีวิต และเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้หญิงหลายคนทั่วโลก รวมถึงมอบสัญลักษณ์ให้กับการเรียกร้องสิทธิ์ให้กับผู้หญิง ด้วยภาพถ่ายที่ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ได้อย่างไร” 

 

บอสตัน มาราธอน 2017 วันที่แคทเธอรีนมีความสุขที่สุดในชีวิต

 

Kathrine Switzer

 

จากวันที่แคทเธอรีนออกสตาร์ทมาราธอนในฐานะผู้หญิงคนเดียวของการแข่งขันเมื่อปี 1967 มาถึงการแข่งขันบอสตัน มาราธอนในปี 2017 เธอได้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของเธอในวันนั้น

 

หลังจากมาราธอนครั้งแรกของเธอ การแข่งขันต่างๆ เริ่มเปิดประตูให้กับผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน หากเปรียบเทียบจากปี 1967 ที่มีความเชื่อว่าผู้หญิงไม่เหมาะสมที่จะวิ่งมากกว่า 1 ไมล์ครึ่ง จนถึงวันนี้ที่มีผู้หญิงลงทะเบียนงานวิ่งมากกว่า 58% ในสหรัฐอเมริกา 

 

รวมถึงล่าสุดในการแข่งขันกีฬาที่หลายคนในอดีตอาจยกให้เป็นกีฬาผู้ชายอย่างอเมริกันฟุตบอล ล่าสุด ซาราห์ โทมัส ก็ได้ทำหน้าที่ในการแข่งขันซูเปอร์โบวล์ครั้งที่ 55 ในฐานะ Down Judge หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของการแข่งขัน 

 

แคทเธอรีนได้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในปี 2017 ในการแข่งขันบอสตัน มาราธอนครบรอบ 50 ปีนับตั้งแต่ครั้งแรกของเธอ 

 

“ลองจิตนาการดูนะ ฉันวิ่งบอสตัน มาราธอนทั้งหมด 9 ครั้งจนได้เวลาที่อยากจะได้ แต่ฉันก้าวมาจากผู้หญิงคนเดียวในมาราธอนที่ใส่เบอร์ 261 และสร้างความวุ่นวายในวันแรก จนมาถึงอายุ 70 ปี ฉันลงวิ่งบอสตัน มาราธอนในโอกาสครบรอบ 50 ปี ได้สวมหมายเลขเดิมที่โดนเจ้าหน้าที่พยายามดึงออกตอนแข่ง และรู้สึกขอบคุณมากที่สุขภาพตนเองยังสามารถทำได้” 

 

“ลองพยายามจิตนาการในปี 2017 เรามีผู้หญิงเข้าร่วมแข่งขัน 49% ของปีนั้น และ 51% เป็นผู้ชาย แต่ฉันถูกรายล้อมไปด้วยผู้หญิง 13,500 คนที่ได้สวมใส่เสื้อที่มีหมายเลขลงแข่งขัน ทุกคนรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในรายการนี้ทั้งหมด วันนั้นเป็นวันที่มีฉันมีความสุขที่สุดในชีวิต เพราะทุกอย่างที่ฉันฝันไว้เมื่อ 50 ปีก่อนกลายเป็นจริงหมดเลย”

 

เรื่องราวของแคทเธอรีนไม่เพียงทำให้บอสตัน มาราธอนเปิดรับนักกีฬาหญิงเข้าร่วมแข่งขัน กลายเป็นพลังในการเปิดโอกาสให้กับผู้หญิงในการแข่งขันกีฬาต่างๆ โดยแคทเธอรีนยังได้ผลักดันมาราธอนหญิงไปสู่การเปลี่ยนแปลงในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างโอลิมปิก ที่บรรจุมาราธอนหญิงเข้าสู่การแข่งขันอย่างเป็นทางการที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ในปี 1984 

 

แคทเธอรีนยอมรับว่าเบื้องหลังความสำเร็จต่างๆ ของเธอเกิดขึ้นจากคนธรรมดา หลายๆ คนที่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ ที่กล้าที่จะตัดสินใจช่วยเหลือเธอจนก้าวมาถึงจุดนี้ได้ รวมถึงเธอยังได้ชื่นชมการวิ่งว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้หญิงค้นพบกับความมั่นใจและความกล้าที่จะก้าวไปทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ 

 

เรื่องราวของเธอจึงเปรียบเสมือนกับความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เริ่มต้นจากการที่คนธรรมดาคนหนึ่งตัดสินใจที่จะทำสิ่งที่แตกต่างออกไปเพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นได้ทำในสิ่งที่พวกเขาชื่นชอบ

 

ปัจจุบันเธอได้รับการยกย่องจากวงการวิ่งในฐานะผู้เบิกทางให้กับผู้หญิงในการแข่งขันมาราธอน รวมถึงล่าสุดเธอยังได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Be different, Be Noble

 

ด้วยการนำเอาเรื่องราวของเธอมาฉายอีกครั้งในภาพยนตร์ 30 ปีแห่งความแตกต่าง โนเบิล แตกต่างเพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า 

 

 

30 Years of Difference… ‘Be Different, Be Noble’ for a Better Future

 

เพื่อตอกย้ำแง่คิดที่เกิดขึ้นจากเรื่องราวของแคทเธอรีน ที่เชื่อในความแตกต่างและสนับสนุนให้ทุกคนเชื่อมั่นในตัวเองและลงมือทำ เพื่อทำให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นให้กับโลกใบนี้ และยังสอดคล้องกับเรื่องราวของแคทเธอรีนที่เธอตัดสินใจทำตามความฝันและสิ่งที่เธอชื่นชอบตั้งแต่วัยเด็ก การตัดสินใจของอาร์นีที่เลือกที่จะเชื่อมั่นในตัวของเธอ แม้ว่าเขาจะไม่เชื่อว่าผู้หญิงวิ่งมาราธอนได้ 

 

รวมถึงหลายคนธรรมดาในประวัติศาสตร์ที่ตัดสินใจทำในสิ่งที่แตกต่าง เพื่อเลือกที่จะเดินตามทางที่ตนเองเชื่อมั่น จนสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมเป็นวงกว้าง

 

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบเรื่องราวของแคทเธอรีน วันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ คุณจะมีโอกาสได้ร่วมรับชมการสัมภาษณ์พิเศษสดผ่าน Facebook Live ของ THE STANDARD กับแคทเธอรีนโดยตรงจากนิวซีแลนด์ 

 

โปรดรอติดตามรายละเอียดการสัมภาษณ์ทางเพจ THE STANDARD 

 

[IN PARTNERSHIP WITH NOBLE]

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X