×

กสิกรไทยชี้ ดอกเบี้ยต่ำกระตุ้นนักลงทุนมุ่งหาคริปโต จับตาโอไมครอนหากรุนแรงกด GDP ปี 65 โตแค่ 2.8%

07.12.2021
  • LOADING...
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ต่ำกระตุ้นให้นักลงทุนเกิดพฤติกรรม Search for Yield หรือการมองหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยหนึ่งในสินทรัพย์ที่นักลงทุนให้ความสนใจมากในขณะนี้คือสินทรัพย์ดิจิทัล เห็นความสนใจเพิ่มขึ้นโดยการค้นหาคำใน Google Trend ในปี 2563-2564 ที่คนไทยเสิร์ชคำว่า Bitcoin และ DeFi เพิ่มขึ้น 

 

โดยเฉพาะในจังหวะที่ราคาเหรียญเพิ่มขึ้น ซึ่งการสำรวจพฤติกรรมนักลงทุนจากกลุ่มตัวอย่าง 548 คน พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซี สัดส่วนสูงสุดมากกว่า 50% ของพอร์ต เพื่อเก็งกำไรและคาดหวังราคาเพิ่มขึ้น และในอีก 1 ปีหน้ายังคงลงทุนเพิ่มอยู่

 

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินความรู้ความเข้าใจในคริปโตเคอร์เรนซีของนักลงทุน พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง (50%) ไปถึงน้อย (27%) ดังนั้นโจทย์ในการสร้างความรู้ความเข้าใจยังเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายต้องช่วยกัน ทั้งสถาบันการเงินและผู้ประกอบการ เพื่อให้ตลาดนี้เป็นทางเลือกการลงทุนที่มาพร้อมกับความรู้เท่าทันด้วย

 

“คริปโตเคอร์เรนซีอย่าง Bitcoin ตั้งแต่ต้นปีมาให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูงจริง แต่ความผันผวนก็สูงถึง 68% ดังนั้นนักลงทุนต้องรับรู้และรับได้จริงๆ” ธัญญลักษณ์กล่าว

 

สำหรับทิศทางดอกเบี้ยในปีหน้า ธัญญลักษณ์ประเมินว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยในขณะนี้เริ่มเห็นหลายประเทศปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed จะลดวงเงิน QE จาก 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็น 3 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นการสิ้นสุดมาตรการ QE เร็วขึ้น หรือราวไตรมาสแรกของปี 2565 และตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยจะปรับขึ้นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน และจะมากกว่านี้หรือไม่ขึ้นกับความรุนแรงของโอไมครอนจะมีมากน้อยเพียงใด

 

ธัญญลักษณ์กล่าวอีกว่า ความไม่แน่นอนจากผลกระทบของโควิด และท่าทีของ Fed ทำให้ในปี 2565 จะเป็นอีกปีที่กรอบเคลื่อนไหวของเงินบาทจะค่อนข้างกว้าง โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมากรอบความเคลื่อนไหวของเงินบาทกว้างขึ้นต่อเนื่อง ในปี 2562 อยู่ที่ 2 บาท ปี 2563 อยู่ที่ 3.42 บาท 

 

ขณะที่ปีนี้กรอบความเคลื่อนไหวขึ้นไปถึง 4.15 บาท โดยมองว่าครึ่งแรกของปีหน้ามีโอกาสที่เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.25- 34.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในกรณีที่ผลกระทบของโอไมครอนมีจำกัด เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวต่อเนื่อง มีแรงกดดันเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ย Fed ปรับขึ้น 2-3 ครั้ง อันจะผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ สูงกว่าไทยในช่วงปลายปี ส่งผลกดดันต่อการขึ้นดอกเบี้ยของไทยอาจเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี

 

อย่างไรก็ตาม กรณีที่โอไมครอนส่งผลกระทบรุนแรง กระทบการท่องเที่ยวและกิจกรรมในประเทศนาน 2-3 เดือน ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังคงอ่อนแอ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวต่อเนื่อง Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ย 1-2 ครั้ง ทำให้มีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าหลุด 34.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งปีแรก

 

“แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยจะยังไม่ปรับขึ้นในปี 2565 แต่แนวโน้มต้นทุนการกู้ยืมในตลาดตราสารหนี้ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อ สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องเตรียมรับมือคือต้นทุนการเงินที่จะเพิ่มต่อ ทั้งพันธบัตรรัฐบาล แม้ว่าต้นทุนการเงินจะไม่ใช่ต้นทุนหลักของธุรกิจ แต่ก็ควรทำต้นทุนอื่นๆ ให้บางลง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่” ธัญญลักษณ์กล่าว

 

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโอไมครอนต่อเศรษฐกิจไทยได้ชัดเจนนัก โดยจะขึ้นอยู่กับอัตราการแพร่เชื้อ ประสิทธิภาพของวัคซีน และความรุนแรงของโรค ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า GDP ในปีหน้าจะขยายตัวในระดับ 2.8-3.7% โดยในกรณีดี ผลกระทบจากโอไมครอนไม่รุนแรงเท่าเดลตา มาตรการการควบคุมยังไม่จำเป็น เราอาจจะได้เห็น GDP เติบโต 3.7% โดยเศรษฐกิจไทยยังจะได้รับแรงหนุนจากการส่งออก การฟื้นตัวของการใช้จ่ายครัวเรือน รวมถึงการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี 

 

สำหรับกรณีแย่ คือความรุนแรงเท่าสายพันธุ์เดลตา และประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงอย่างมาก รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศมาใช้ เช่น ปิดประเทศ รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ จะเห็น GDP อยู่ที่ 2.8% ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานที่การแพร่ะบาดของสายพันธุ์โอไมครอนจะบรรเทาลงในปลายไตรมาส 1/65 นอกจากนี้ รัฐบาลไทยคาดว่าจะไม่มีการกู้เงินนอกงบประมาณเพิ่มเติม โดยให้ใช้วงเงิน 2.6 แสนล้านบาทที่คงเหลือจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

 

“ผลกระทบจากโอไมครอนต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เราเพิ่งพบเคสแรก ผลกระทบปีนี้คงไม่มาก เรายังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน ในเดือนหน้าน่าจะมีข้อมูลมากขึ้น ศูนย์วิจัยจะทบทวนตัวเลขอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม แต่หากเป็นกรณีแย่ และหาก GDP ต่ำกว่า 2.8% ก็อาจเห็นรัฐบาลกู้เพิ่มเพื่อบรรเทาผลกระทบ โดยในเบื้องต้นเท่าที่ประเมินคาดว่าจะอยู่ที่ราว 2-3 แสนล้านบาท” ณัฐพรกล่าว

 

เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภาคการท่องเที่ยวไทยในกรณีดีนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 น่าจะฟื้นตัวมาแตะ 4 ล้านคน จากปีนี้ที่ประมาณ 3.5 แสนคน ส่วนกรณีแย่ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเหลือประมาณ 2 ล้านคน เพราะการท่องเที่ยวจะขาดช่วงไป 2-3 เดือน จากการที่ประเทศต่างๆ รวมถึงไทย จำเป็นต้องยกระดับการควบคุมการเดินทาง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปทุกๆ 1 ล้านคน จะกระทบรายได้จากการท่องเที่ยวราว 7-8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในทั้งสองกรณีก็ยังถือว่าห่างไกลจากช่วงก่อนโควิดมาก

 

ธัญญลักษณ์ยังกล่าวถึงธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยปี 2565 ว่ายังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีก 2-3 ปี กว่าที่กำไรของระบบธนาคารจะกลับมาสู่ภาวะปกติก่อนโควิด และยังเป็นอีกปีที่คงขับเคลื่อนด้วยความระมัดระวัง เพราะสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยมองสินเชื่อขยายตัวในกรอบคาดการณ์ 4-5.5% ชะลอลงจากปี 2564 ที่สินเชื่อขยายตัวแตะระดับ 6% ซึ่งดีกว่าคาด เพราะธุรกิจขอสินเชื่อไปเพื่อสะสมสภาพคล่อง รองรับความไม่แน่อนทางเศรษฐกิจ และมีผลของมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน โดยแรงขับเคลื่อนยังคงมาจากการเติบโตของสินเชื่อรายย่อย

 

ขณะที่ NPL ยังเป็นขาขึ้น เข้าหาระดับประมาณ 3.30% ต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2565 เทียบกับราว 3.20% ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งแม้จะถือว่าเพิ่มขึ้นไม่มาก เพราะยังมีอานิสงส์ของการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของ ธปท. อยู่ แต่ธนาคารพาณิชย์คงไม่ได้ผ่อนระดับการตั้งสำรองฯ ลงมากนัก โดยในแง่ของคุณภาพสินทรัพย์ยังน่าเป็นห่วงในกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน และสินเชื่อธุรกิจ ขนส่ง ค้าปลีก-ส่ง และอสังหาริมทรัพย์ 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising