×

กสิกรไทยเตือนนักลงทุนจับตา 4 ความเสี่ยงฉุดผลตอบแทนในปีนี้ ชี้หุ้นกลุ่ม Cyclical และ Value ยังน่าสนใจในภาวะเงินเฟ้อและบอนด์ยีลด์ขาขึ้น

21.01.2022
  • LOADING...
กสิกรไทยเตือนนักลงทุนจับตา 4 ความเสี่ยงฉุดผลตอบแทนในปีนี้

ธนาคารกสิกรไทยร่วมกับ Lombard Odier พันธมิตรทางธุรกิจ ไพรเวตแบงก์จากสวิตเซอร์แลนด์ คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเติบโตในอัตราที่ชะลอลง และยังมีหลายประเด็นความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับการลงทุน โดยแนะนำนักลงทุนให้เตรียมพร้อมปรับกลยุทธ์การลงทุนตามสถานการณ์โลก เพื่อรักษาผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนให้ยั่งยืน 

 

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนส่งผลให้ราคาหุ้นทั่วโลกปรับลดลง อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นก็กลับมาฟื้นตัวได้ดี เพราะแม้ว่าโอมิครอนจะแพร่ระบาดได้ง่าย แต่อาการไม่รุนแรง จำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลและเสียชีวิตน้อย ทำให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจำกัด ส่งผลให้ผลตอบแทนรวมจากดัชนีหุ้นโลก MSCI All Country World Index ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่บวก 18.5% ใกล้เคียงกับจุดสูงสุดตลอดกาล

 

สำหรับในปี 2565 นี้ ธนาคารยังมองว่า เศรษฐกิจโลกจะยังเติบโตได้ราว 3-4% เนื่องจากภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศหลักๆ ทั่วโลก ทั้งด้านการค้า การผลิต การบริโภค การเดินทาง ยังอยู่ในเกณฑ์ดี กลับเข้าสู่ระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปกติก่อนการแพร่ระบาดของโควิด อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นความเสี่ยงอีกหลายปัจจัยที่อาจส่งผลลบต่อภาคการลงทุน ได้แก่

 

  1. เงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 7% ในเดือนธันวาคม 2564 จนเกิดความกังวลว่าเงินเฟ้อจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ถ้าหากปัญหาคอขวดอุปทานไม่คลี่คลายเร็วๆ นี้

 

  1. ด้วยเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูงอาจทำให้ Fed ต้องเข้มงวดนโยบายเร็วกว่าที่ประเมินไว้ และอาจบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้

 

  1. เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงและมาตรการควบคุมในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเทค

 

  1. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งประเด็นไต้หวัน อิหร่าน การเลือกตั้งในฝรั่งเศส รวมถึงความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ

 

ด้าน ศิริพร สุวรรณการ Senior Managing Director – Financial Advisory Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ผ่านมาประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกประสบกับภาวะเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก จนเกิดความกังวลว่าเงินเฟ้อสูงจะไม่ใช่เพียงเรื่องชั่วคราว (Transitory) อีกต่อไป อย่างไรก็ดี Lombard Odier คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะค่อยๆ ปรับตัวลดลงในปีนี้ จากระดับสูงที่ 7% ในช่วงปลายปี 2564 โดยปัจจัยที่กดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจะคลี่คลายลง ได้แก่

 

  1. ด้านอุปทาน (Supply) ที่เริ่มมีการขยายตัวมากขึ้น จากการคลี่คลายของ 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัญหาคอขวดห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด ทั้งด้านการขนส่งและปัญหาการขาดแคลนสินค้าเริ่มมีการผ่อนคลาย และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน เริ่มส่งสัญญาณปรับตัวลง  

 

  1. ด้านความต้องการซื้อ (Demand) ที่มีแนวโน้มขยายตัวลดลง เนื่องจากความต้องการซื้อที่เคยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (Pent-Up Demand) หลังการเปิดเมืองค่อยๆ หมดไป และมาตรการเยียวยาขนานใหญ่ที่รัฐบาลอัดฉีดเงินสู่มือประชาชนได้จบลงไปแล้ว

 

นอกจากนี้ Lombard Odier ยังมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว (Hawkish) น้อยกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ประเมินว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ถึง 4 ครั้ง โดยคาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 2-3 ครั้งในปีนี้ ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยได้ในช่วงปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566 

 

ขณะเดียวกันยังเชื่อว่า แม้ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ก็จะไม่บั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพราะยังมีต้นทุนการกู้ยืมที่อยู่ในระดับต่ำ หลังจากที่ผ่านมามีการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในช่วงโควิด 

 

สำหรับภาพรวมของจีนในปีนี้จะแตกต่างกับสหรัฐฯ โดยเศรษฐกิจจีนสามารถฟื้นตัวได้ก่อน จีนจึงเข้าสู่ภาวะที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวก่อน ทำให้นโยบายการเงินและการคลังของจีนผ่อนคลาย แตกต่างจากในสหรัฐฯ ที่เริ่มถอนสภาพคล่อง 

 

โดยเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ลดอัตราเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) 0.5% และลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.05% ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าปีนี้จีนจะผ่อนคลาย ขณะที่นโยบายการคลังก็คาดว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา แม้จะไม่ใหญ่เท่ากับช่วงวิกฤตโควิด แต่จะเป็นนโยบายแบบตรงจุดไปยังอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อไม่ให้ระดับหนี้สูงขึ้น 

 

นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาจีนได้มีการออกพันธบัตรรัฐบาลเยอะขึ้น เพื่อนำเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจ และในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ยังมีการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะมีการโหวตให้ สีจิ้นผิง เป็นประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่ 3 และจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศอีก 7 ตำแหน่ง ซึ่งก่อนการเปลี่ยนแปลงสำคัญทางการเมือง รัฐบาลมักจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ขณะที่ข้อบังคับที่เข้มงวดที่กดดันตลาดหุ้นจีนในปีที่ผ่านมาคาดว่าจะเบาลงในปีนี้ โดยจะเน้นไปที่การบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ออกมาปีที่แล้วมากกว่าออกกฎเกณฑ์ใหม่ๆ

 

ตรีพล ภูมิวสนะ Senior Managing Director – Private Banking Business Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมานับเป็นปีที่ดีของตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ (ดัชนี S&P 500) ที่ให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นที่สุดที่ 28% หนุนโดยกลุ่มพลังงาน เทคโนโลยี และการเงิน สำหรับกลยุทธ์และคำแนะนำการลงทุนในปี 2565 ได้แก่

 

  1. ท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น Lombard Odier ก็ยังคงมีมุมมองบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นมากกว่าตราสารหนี้ แต่อย่างไรก็ดี การคัดเลือกภูมิภาคหรือกลุ่มอุตสาหกรรมจะเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุนในปีนี้ หลังมูลค่าหุ้นในบางตลาดอาจแพงเกินไปแล้ว โอกาสที่หุ้นทุกตลาดจะปรับตัวขึ้นได้ดีเหมือนปีที่ผ่านมาอาจมีความเป็นไปได้ที่น้อยลง 

 

โดยยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นวัฏจักร (Cyclical Stock) และหุ้นคุณค่า (Value Stock) มากกว่า เพราะมักจะได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อขาขึ้นและบอนด์ยีลด์ขาขึ้น เช่น หุ้นกลุ่มการเงิน และหากดูตามภูมิภาคแนะนำเน้นลงทุนในยุโรปและญี่ปุ่นที่คาดว่านโยบายการเงินจะผ่อนคลายตลอดปี ต่างจากสหรัฐฯ ที่กำลังเข้มงวด 

 

  1. ด้านตราสารหนี้ Lombard Odier แนะนำให้ลดสัดส่วนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวและหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง (Investment Grade) เนื่องจากให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ ไม่สามารถชดเชยราคาที่จะถูกกดดันจากบอนด์ยีลด์ขาขึ้นได้ และเลือกลงทุนในหุ้นกู้เอกชนในเอเชียที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ (High Yield) และพันธบัตรรัฐบาลจีนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า 

 

  1. เพิ่มสัดส่วนเงินสดในพอร์ต เพื่อรับมือกับความผันผวนของตลาดที่สูงขึ้น หากตลาดมีการปรับฐานก็สามารถใช้โอกาสการเข้าซื้อในราคาที่ต่ำลง

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X