กสิกร วิชั่น ไฟแนนเชียล ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น 67.50% ในธนาคารแมสเปี้ยน อินโดนีเซีย ตั้งเป้าผลักดันเป็นแบงก์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาคชวาตะวันออกภายในปี 2570
ภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ ประธานกรรมการ บริษัท กสิกร วิชั่น ไฟแนนเชียล จำกัด (KVF) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของธนาคารกสิกรไทย ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นแบบมีเงื่อนไข (Conditional Sale and Purchase Agreement: CSPA) กับ อาริม มาคุส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแมสเปี้ยน โดย KVF จะเข้าถือหุ้นรวม 67.50% คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนไม่เกิน 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่าประมาณ 7,556 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าจะได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย และสามารถเข้าทำธุรกรรมได้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2565
สำหรับการได้มาซึ่งหุ้น (Share Acquisition) โดย KVF จะซื้อหุ้นธนาคารแมสเปี้ยนอีก 30.01% ซึ่งจะทำให้การถือหุ้นของกลุ่มธนาคารกสิกรไทยเพิ่มขึ้นเป็น 40.00% จาก 9.99% ที่ธนาคารถือครองอยู่เดิมตั้งแต่ปี 2560 หลังจากนั้น KVF จะซื้อหุ้นเพิ่มทุน (Rights Issue) เพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่มธนาคารกสิกรไทยในธนาคารแมสเปี้ยนรวมเป็น 67.50% และจะทำให้ธนาคารแมสเปี้ยนมีทุนขั้นต่ำประมาณ 210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภัทรพงศ์กล่าวว่า การเข้าซื้อธนาคารแมสเปี้ยนในครั้งนี้จะทำให้กสิกรไทยสามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศอินโดนีเซียได้ ด้วยมูลค่าเงินลงทุนที่ต่ำกว่าการยื่นขอใบอนุญาตใหม่ (เงินลงทุนขั้นต่ำ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ยังเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการขยายธุรกิจของธนาคาร เนื่องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยดิจิทัลในอินโดนีเซีย ช่วยสนับสนุนให้แนวโน้มบริการทางการเงินสำหรับลูกค้าทุกกลุ่มมีแนวโน้มสดใสไปพร้อมกับการเติบโตของเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด และสอดคล้องกับกลยุทธ์การเติบโตที่สำคัญในการมุ่งสู่ความเป็นธนาคารแห่งภูมิภาคที่แท้จริง ในการเชื่อมโยงธุรกิจของธนาคารกสิกรไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC), จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ (AEC+3) ที่จะมีพลวัตการเติบโตสูงต่อไปในอนาคต ขณะเดียวกัน การเข้าซื้อธนาคารแมสเปี้ยนซึ่งเป็นธนาคารท้องถิ่นที่มีศักยภาพและจุดแข็งในการเข้าถึงกลุ่มธุรกิจท้องถิ่นขนาดเล็กและขนาดย่อม ซึ่งสอดรับกับความเชี่ยวชาญของธนาคารกสิกรไทยในการสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม เพื่อช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการในประเทศอินโดนีเซีย
นอกจากนี้จะใช้ความเชี่ยวชาญด้านโมบายล์แบงกิ้งผ่านแอปพลิเคชัน K PLUS ในการนำเสนอและส่งมอบนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์และบริการที่ครอบคลุมให้แก่ลูกค้าในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีการเติบโตของเทคโนโลยีทางการเงินที่โดดเด่นเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน และจะทำให้ K PLUS กลายเป็นแพลตฟอร์มระดับภูมิภาคที่แท้จริง (True Regional Platform)
ทั้งนี้ กลยุทธ์ทางธุรกิจของธนาคารจะมุ่งเน้นไปที่ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มองค์กรขนาดใหญ่
ตั้งเป้าเร่งการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มองค์กรหรือธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยที่ลงทุนโดยตรงในอินโดนีเซีย (TDI) ธุรกิจต่างชาติที่ลงทุนในอินโดนีเซีย ตลอดจนกลุ่มธุรกิจท้องถิ่น ให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมและการผนึกกันเป็นหนึ่งเดียวของตลาดภายในประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมุ่งหวังที่จะให้บริการธนาคารที่ครอบคลุมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าองค์กร ทั้งบริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ตและบริการบัญชีเงินเดือนสำหรับพนักงานองค์กร
- กลุ่มธุรกิจ SMEs
มุ่งสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ หรือไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการทางการเงิน รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการให้สินเชื่อตั้งแต่ต้นจนจบ นอกจากนี้ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรมและการขยายตัวของความเป็นเมืองในอินโดนีเซีย ธนาคารจะสนับสนุนสินเชื่อเครือข่ายธุรกิจ (Supply Chain Financing) แก่ธุรกิจ SMEs ท้องถิ่น เพื่อให้ธุรกิจดังกล่าวสามารถเติบโตไปพร้อมกับห่วงโซ่มูลค่าของประเทศและของโลกได้ ทั้งนี้ จะนำใช้ความสามารถทางเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งในการปรับปรุงการชำระเงินและบริการธุรกรรมทางธนาคาร เพื่อให้สามารถเข้าถึงธุรกิจ SMEs ในระดับท้องถิ่นอีกจำนวนมากในอินโดนีเซียที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อ
- กลุ่มลูกค้ารายย่อย
ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินเชื่อดิจิทัลและการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคและธุรกิจ MSME จำนวนมากในอินโดนีเซีย สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกและง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะใช้ K PLUS ในการให้บริการโมบายล์แบงกิ้งเพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าในทุกด้านของบริการทางการเงิน
“ด้วยกลยุทธ์ดังกล่าว เชื่อว่าจะสามารถผลักดันธนาคารแมสเปี้ยนให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะ 5 ปีนับจากนี้ โดยมีเป้าหมายสู่การเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาคชวาตะวันออก (East Java) ภายในปี 2570” ภัทรพงศ์กล่าว