ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่าการเจรจาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติมระหว่างกลุ่ม OPEC และประเทศพันธมิตรผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ประสบความล้มเหลวในการประชุมวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบียจึงตัดสินใจประกาศลดราคาน้ำมันดิบซื้อขายล่วงหน้า 6-8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกลดลงอย่างรวดเร็ว สถานการณ์นี้จะเป็นปัจจัยชั่วคราวที่กดดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่กำหนดสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกในปีนี้ยังอยู่ที่เงื่อนไขเวลาในการบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหม่ระหว่างกลุ่ม OPEC และประเทศพันธมิตร ซึ่งหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใหม่ได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ จะทำให้ในเดือนเมษายนกลุ่ม OPEC และประเทศพันธมิตรสามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบได้อย่างเสรี อาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด ทั้งนี้หากราคาน้ำมันดิบโลกเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำนาน 3-4 เดือน อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ปี 2563 ลดลงมาอยู่ที่ -0.3%
อย่างไรก็ดี การประเมินผลกระทบของสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไทยในปี 2563 ยังอยู่ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจจะทำให้ราคาสินค้าบางรายการปรับตัวสูงขึ้นและอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเงินเฟ้อไทย ทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อใช้ประเมินภาพรวมทิศทางเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไป
การเจรจาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติมอีก 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันระหว่างกลุ่ม OPEC และประเทศพันธมิตรผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ (OPEC+) ประสบความล้มเหลวในการประชุม OPEC วันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศพันธมิตรที่นำโดยรัสเซียเห็นต่างจากกลุ่ม OPEC ที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย ซึ่งต้องการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมมากกว่าที่ประเทศพันธมิตรเสนอไว้ในตอนต้นที่ 0.6-1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขยับขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่องตามอุปสงค์การใช้น้ำมันดิบโลกที่ชะลอลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ส่งผลให้กลุ่มผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใหม่ในการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม ในขณะที่ข้อตกลงเดิมกำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคมนี้
ดังนั้นแล้วซาอุดีอาระเบียจึงตัดสินใจใช้วิธีการรุนแรงเพื่อผลักดันให้เกิดการเจรจาปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมระหว่างกลุ่ม OPEC+ ตามข้อเสนอของกลุ่ม OPEC ด้วยการประกาศลดราคาน้ำมันดิบซื้อขายล่วงหน้าบาร์เรลละ 6-8 ดอลลาร์สหรัฐแก่ประเทศคู่ค้าในเดือนเมษายนนี้ ทำให้ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกลดลงอย่างรวดเร็ว โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ซื้อขายล่วงหน้า (Brent Crude Future) ปรับตัวลดลงอย่างมากจากระดับ 45.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา มาอยู่ที่ระดับ 31.02 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม หรือลดลง 31.8%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นปัจจัยชั่วคราวที่กดดันราคาน้ำมันดิบโลก เนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกที่อยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการบริโภคน้ำมันลดลงอยู่แล้ว ไม่เป็นผลดีกับทั้งประเทศที่มีต้นทุนการผลิตน้ำมันที่สูงกว่าซาอุดีอาระเบียหรือซาอุดีอาระเบียเอง อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่กำหนดสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกในปี 2563 ยังอยู่ที่เงื่อนไขเวลาในการบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหม่ระหว่างกลุ่ม OPEC และประเทศพันธมิตร โดยแบ่งเป็นกรณีต่างๆ ดังนี้
1.หากกลุ่มประเทศ OPEC+ สามารถบรรลุข้อตกลงใหม่ได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ จะทำให้ราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำราว 1-2 เดือน และกลับเข้าสู่ระดับปกติ ซึ่งอาจจะมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 ลดลงไปอยู่ที่ 0.2% (กรณีที่ 1 จากปัจจุบันที่ 0.4% (สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 58 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล))
2.หากกลุ่มประเทศ OPEC+ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใหม่ได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ จะทำให้ในเดือนเมษายน กลุ่ม OPEC และประเทศพันธมิตรสามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบได้อย่างเสรี ซึ่งอาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด กดดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้หากราคาน้ำมันดิบโลกเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำเกินกว่า 3 เดือน อาจจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไทยในปี 2563 ติดลบดังที่เคยปรากฏในปี 2558 โดยแบ่งเป็น 2 กรณีดังนี้
- หากราคาน้ำมันดิบโลกเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำนาน 3-4 เดือน อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยปี 2563 ลดลงมาอยู่ที่ -0.3% ซึ่งกรณีนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุดเมื่อพิจารณาสถานการณ์โลกในปัจจุบัน
- หากราคาน้ำมันดิบโลกเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำนาน 6-7 เดือน อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยปี 2563 ลดลงมาอยู่ที่ -0.5%
อย่างไรก็ดี การประเมินผลกระทบของสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบโลกต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไทยในปี 2563 ยังอยู่ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจจะทำให้ราคาสินค้าบางรายการปรับตัวสูงขึ้นและอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเงินเฟ้อไทย ทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อใช้ประเมินภาพรวมทิศทางเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไป
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
เรียบเรียง: ชุติมา มุสิกะเจริญ
ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com