×

กสิกรไทยปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี ’62 เหลือ 2.8% มองปีหน้าอาจโตต่ำ 3% มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง

01.10.2019
  • LOADING...
ธนาคารกสิกรไทย

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • เศรษฐกิจไทยปี 2562 โตชะลอตัว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้มาอยู่ที่ 2.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน เพราะการส่งออก 8 เดือนแรกติดลบกว่าที่คิดไว้
  • แม้รัฐจะออกมาตรการชิมช้อปใช้ แต่ก็มีผลต่อเศรษฐกิจเพียง 0.02% ของ GDP และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวนี้อาจส่งไปทำให้ปีหน้ามองว่าเศรษฐกิจไทยอาจโตตำ่ 3%
  • ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองยังมาจากต่างประเทศ ทั้งค่าเงินบาทแข็งค่า การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed Trade War และ Brexit

เมื่อภาครัฐทั้งด้านเศรษฐกิจและธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงต่อเนื่อง ภาคเอกชนเมื่อมองว่าปีนี้จะไทยอาจจะเติบโตน้อยลงไปอีก ว่าแต่ปีหน้ามองทิศทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไร 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 2.8% ส่วนปี 2563 อาจจะโตต่ำ 3% 

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ทางศูนย์วิจัยปรับลด GDP ไทยปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 2.8% จากเดิมที่อยู่ 3.1% สาเหตุเพราะการส่งออกไทยที่หดตัวมากกว่าที่คิด ผลกระทบหลักมาจากปัจจัยนอกประเทศ

 

ทั้งนี้ 8 เดือนแรกที่ผ่านมา (มกราคม ถึง สิงหาคม 2562) การส่งออกหดตัว 2.2% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ถือว่ามากกว่าที่คาดไว้ ส่งผลกระทบต่อกลุ่มสินค้าหลัก เช่น แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ฯลฯ รวมถึงตลาดการส่งออกหลักหดตัวเกือบทุกตลาด มีเพียงการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ยังขยายตัว

 

ส่งผลให้ปี 2562 นี้คาดว่าการส่งออกไทยจะหดตัวในกรอบ 0-2.0% จากเดิมมองว่าจะทรงตัวที่ 0% 

 

โดยปัญหาการส่งออกที่หดตัวอาจส่งผลกระทบไปถึงปี 2563 ทำให้ทางศูนย์วิจัยฯ คาดการณ์ว่า GDP ไทยปี 2563 จะเติบโตในกรอบ 2.5-3.0% ทั้งนี้อาจต้องรอติดตามว่าภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาเพิ่มเติม

 

ส่วนมาตรการรัฐที่ออกมาในปี 2562 นี้อย่างมาตรการ ‘ชิมช้อปใช้’ จะช่วยหนุนราว 0.02% ของ GDP แต่หากดูมาตรการรัฐภาพรวมที่วงเงินราว 3.1 แสนล้านบาทอาจกระตุ้นเศรษฐกิจไทย 0.3% ของ GDP อย่างไรก็ตาม มาตรการทางการคลังจะส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะเวลาสั้นๆ ต่างจากมาตรการที่มาจากดอกเบี้ยนโยบายต้องใช้เวลาส่งผ่านสู่วงจรเศรษฐกิจนานกว่า

 

“หากรัฐจะมีมาตรการเพิ่มเติม ควรเน้นดูแลแรงงานที่ไม่มีหลักประกันทางสังคมรองรับ อย่างเช่น กลุ่มอาชีพอิสระ รวมถึง SME ที่ยอดขายชะลอตัวลง หลังผู้บริโภคระวังการใช้จ่าย ในส่วนของมาตรการทางการเงินนั้นมองว่า กนง. อาจลดดอกเบี้ยได้อีก เพียงแต่มาตรการทางการเงินต้องใช้เวลากว่าจะทยอยเห็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ”

 

เมื่อเศรษฐกิจไทยเจอภัยจากนอกประเทศ จนถึงสิ้นปีนี้และปี 2563 ต้องเตรียมตัวกับอะไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองทั้งปีนี้และปีหน้า ได้แก่

 

1. ค่าเงินบาทที่แข็งค่า เพราะได้รับแรงกดดันจากการเกินดุลการค้าของไทย รวมถึงติดตามการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดเงิน กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ทางธนาคารประเมินว่า สิ้นปี 2562 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และครึ่งปีแรก 2563 มีโอกาสแตะ 30.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

2. ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงยืดเยื้อจะกระทบการส่งออกของไทย โดยปี 2562 คาดการณ์ผลกระทบต่อไทยไว้ที่ 2,100-3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปี 2563 จะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมอีก 1,000-2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ทั้งนี้ไทยอาจได้รับประโยชน์ส่วนหนึ่งจากกรณีต่างชาติที่มีฐานการผลิตทั้งไทยและจีน อาจขยายการผลิตในไทยเพิ่มเติม เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสไดรฟ์ ชิ้นส่วนกล้องดิจิทัล ฯลฯ 

 

3. สถานการณ์ Brexit มองว่าจะกระทบต่อตลาดเงินแต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะไทยมีการส่งออกไปอังกฤษไม่ถึง 2% ของการส่งออกทั้งหมด โดยคาดการณ์ว่าในช่วงปลายตุลาคม 2562 อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป (EU) แบบ No Deal

 

แต่ต้องรอดูข้อตกลงทางการค้าและประเด็นพรมแดนไอร์แลนด์เหนือต่อไป เพราะจะมีผลกระทบต่อตลาดเงิน 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising