×

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด มาตรการกระตุ้นภาครัฐช่วยดัน GDP ปีหน้าโตเพิ่ม 1% เตือนต่างชาติจับตาวินัยการคลัง หวั่นกระทบ Credit Rating ประเทศ

26.09.2023
  • LOADING...
ดิจิทัลวอลเล็ต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จาก 3.7% แม้ความเชื่อมั่นจะเพิ่มขึ้น หลังจากที่ประเทศไทยมีการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ แต่เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่เผชิญกับปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์อยู่ เตือนต่างชาติจับตาวินัยการคลัง หวั่นกระทบอันดับความน่าเชื่อถือประเทศ

 

บุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการและ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับการค้าโลก สะท้อนจากภาคการผลิตที่ชะลอตัวทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจเยอรมนีที่พึ่งพาการส่งออกสูง นอกจากนั้น จีนยังคงเผชิญกับปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลลบกับอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังแสดงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ อีกทั้งเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดีอยู่ ส่งผลให้ Fed มีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีนี้ และคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้านี้ในปี 2567

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตต่ำกว่าคาด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จาก 3.7% จากการที่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มองว่าจะเข้ามาเพียง 27.6 ล้านคนในปี 2566 และการส่งออกสินค้าที่จะหดตัว 2.5% มากกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ -1%  

 

นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศยังคงได้รับผลจากการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมถึงภาคการผลิตที่ยังชะลอต่อเนื่อง และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะแนวโน้มการเร่งตัวของหนี้รหัส 21 หรือหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน อันเนื่องมาจากสถานการณ์ไม่ปกติ เช่น โควิด ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแออยู่ สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังหดตัวต่อเนื่อง และเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับตัวต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อของ ธปท. 

 

“ทั้งเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของ ธปท. ทำให้เราปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ลงจาก 1.8% มาอยู่ที่ 1.4% และคาดว่าในการประชุม กนง. ในวันที่ 27 กันยายนนี้ ธปท. จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% อย่างไรก็ดี ต้องจับตาดูสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นด้วย หากน้ำมันแพงขึ้นอีกเงินเฟ้อก็อาจสูงขึ้นอีกได้” บุรินทร์กล่าว

 

สำหรับนโยบายที่รัฐบาลประกาศไปและจะดำเนินการเพิ่มเติม ซึ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นผ่านการลดค่าครองชีพ การพักหนี้ และเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้จำกัดในปี 2566 แต่คาดว่าจะเห็นผลบวกชัดขึ้นในช่วงต้นปี 2567 โดยเบื้องต้นประเมินว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะมีส่วนช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ หรือ Multiplier Effect ราว 0.4-0.6 รอบ ขณะที่ภาพรวมมาตรการกระตุ้นทั้งหมดของภาครัฐจะช่วยให้ GDP ในปี 2567 ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นราว 1% คิดเป็นการเติบโตประมาณ 4%

 

“ส่วนข่าวที่ระบุว่ารัฐบาลมีแผนจะขยายกรอบการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังเพิ่มเป็น 45% เพื่อนำเงินมาขับเคลื่อนนโยบาย มองว่าเรื่องนี้เหมือนกับการหยิบเงินจากกระเป๋าซ้ายหรือกระเป๋าขวา ซึ่งสุดท้ายจะเป็นภาระทางการคลังเหมือนกัน ตอนนี้ภาคเอกชนคงต้องรอดูว่ารัฐบาลจะมีการแจกแจงอย่างไร จะใช้เต็มแม็กซ์เลยหรือไม่ ถ้ามีความโปร่งใสและชี้แจงได้ตลาดอาจคลายความกังวล” บุรินทร์กล่าว

 

เมื่อถามถึงความเสี่ยงที่ประเทศไทยอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ บุรินทร์ระบุว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคตกับการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐบาลในระยะต่อไป หากเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายตัวหารหนี้ก็จะใหญ่ขึ้นซึ่งไม่น่ากังวล แต่ถ้าไม่มีแผนหารายได้ที่ชัดเจน มีแต่รายจ่ายก็อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติ ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของไทยสูงขึ้น

 

ด้านค่าเงินบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะสั้น ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าจากแนวโน้มส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐฯ กับไทยที่จะอยู่ในระดับสูงอีกสักระยะ โดยปัจจุบันดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปีของสหรัฐฯ อยู่ที่ 5.12% ส่วนของไทยอยู่ที่ 2.54% นอกจากนี้ เงินบาทยังมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation Coefficient) เงินหยวนถึง 80% ทำให้การอ่อนค่าของเงินหยวนที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าอาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงตามในบางจังหวะด้วยเช่นกัน โดยศูนย์วิจัยฯ ประเมินกรอบเงินบาทไว้ที่ 36.3-36.6 บาทต่อดอลลาร์

 

บุรินทร์กล่าวอีกว่า นอกจากการให้ความสำคัญกับมาตรการ Quick Win ต่างๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ สิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ เช่น การเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ การพาประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลาง การเพิ่มผลิตภาพของแรงงานในภาคเกษตรที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 30% ของแรงงานทั้งประเทศ แต่กลับสร้างรายได้เพียง 8.9% ของ GDP รวมถึงการเพิ่มความง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของไทยให้แข่งขันกับเพื่อนบ้านให้ได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising