×

แม้โควิด-19 หยุดระบาดในปีนี้ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ รายได้ท่องเที่ยวไทยปี 63 จะหดตัว 49.4-55.1%

โดย THE STANDARD TEAM
01.05.2020
  • LOADING...

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้สถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลาย ซึ่งอาจทำให้กิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยน่าที่จะค่อยๆ กลับมา แต่ตลาดในช่วงที่เหลือของปีนี้ก็คงจะยังไม่สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยลบ เช่น นักท่องเที่ยวยังมีความกังวล เพราะยังไม่มีวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวมถึงผลกระทบจากความเชื่อมั่นต่อการมีงานทำและกำลังซื้อที่อ่อนแอของประชาชน หลังกิจกรรมเศรษฐกิจส่วนใหญ่หยุดชะงัก 

 

การระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความกังวลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของนักท่องเที่ยวไทยบางกลุ่ม ประกอบกับในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางการได้ประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และในหลายจังหวัดได้ยกระดับมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโควิด-19 โดยเฉพาะควบคุมการเดินทางเข้า-ออกระหว่างจังหวัด มาตรการกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดอื่นเป็นเวลา 14 วัน การปิดสถานที่ท่องเที่ยวอย่างวนอุทยานแห่งชาติและชายฝั่งทะเล รวมถึงระบบการคมนาคมขนส่ง อย่างบางสายการบินที่ปิดให้บริการเส้นทางการบินในประเทศ และแม้ว่าธุรกิจท่องเที่ยวอย่างโรงแรมและที่พักในบางพื้นที่จะไม่ได้ปิดการให้บริการก็ตาม แต่จากสถานการณ์ดังกล่าวก็ส่งผลทำให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศลดลง

 

จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพบว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 จำนวนคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศหดตัวถึง 29.5% (YoY) และส่งผลให้รายได้ท่องเที่ยวจากคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศหายไปแล้วกว่า 9 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะเริ่มดีขึ้น โดยธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวอย่างสายการบินมีแผนที่จะกลับมาให้บริการอีกครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ยังเป็นเฉพาะบางเส้นทาง 

 

อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ที่ยังไม่เอื้อต่อการเดินทางท่องเที่ยว เช่น ในหลายๆ สถานที่น่าจะยังคงมาตรการเข้มข้นในการดูแลและป้องกันเพื่อไม่ให้การแพร่ระบาดกลับมาอีกครั้ง การควบคุมการเดินทางระหว่างจังหวัดหรือการกักตัว 14 วัน สำหรับประชาชนที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่น และการปิดสถานที่ท่องเที่ยวในบางจังหวัด ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะหดตัวประมาณ 52.2% (YoY) ซึ่งหากในช่วง 1 เดือนต่อจากนี้ ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ คาดว่าทางการน่าจะพิจารณาลดระดับความเข้มข้นของมาตรการลงในช่วงปลายไตรมาส 2 นี้

 

ดังนั้น จากสถานการณ์ข้างต้นทำให้ทั้งปี 2563 ตลาดไทยเที่ยวไทยอาจหดตัวประมาณ 52.3% ถึงหดตัวประมาณ 46.4% หรือมีจำนวน 79.5-89.5 ล้านคนหรือครั้ง ขณะที่รายได้ท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยน่าจะมีมูลค่า 4.85-5.45 แสนล้านบาท หดตัวประมาณ 55.1% ถึงหดตัวประมาณ 49.4% จากปีก่อน (การประเมินอยู่ภายใต้สมมติฐานที่โควิด-19 ไม่กลับมาระบาดอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้) อย่างไรก็ดี ท่ามกลางภาพเชิงลบของตลาดโดยรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ตลาดนักท่องเที่ยวระดับบนจะเป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวกลับมาได้เร็วกว่ากลุ่มอื่นๆ 

 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วน่าจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวตลาดบน เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมากนัก ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 หลายประเทศยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวระดับพรีเมียม เช่น โรงแรมหรู ที่โดยปกติจะเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับบน หันมาทำกิจกรรมการตลาด จัดแพ็กเกจการท่องเที่ยวร่วมกับพันธมิตรอย่างสายการบินหรือเรือยอชต์เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยระดับบนมากขึ้นแทน

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องหยุดชะงักไปช่วงเวลาหนึ่ง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคบางกลุ่มที่ยังอ่อนแอ ซึ่งทำให้ตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะยังไม่สามารถกลับมาเป็นบวก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะยังหดตัวประมาณ 52.4% ถึงหดตัวประมาณ 41.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังโควิด-19 ธุรกิจยังมีความท้าทาย โดยเฉพาะโจทย์ในการปรับวิถีการดำเนินธุรกิจใหม่ (New Business Norms) ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เช่น การปรับรูปแบบการให้บริการโดยยังต้องคำนึงถึงระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งคงจะส่งผลกระทบต่อรายได้ 

 

แต่ก็เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวอย่างโรงแรมและที่พักก็คงต้องบริหารจัดการห้องพัก เพื่อไม่ให้เกิดความหนาแน่นในแต่ละชั้น การลงทุนระบบออนไลน์ให้นักท่องเที่ยวเช็กอินออนไลน์ ขณะที่ผู้ประกอบการหลายรายเผชิญกับสภาพคล่องที่จำกัด ทำให้ยังต้องระมัดระวังควบคุมรายจ่าย โดยให้มีผลกระทบต่อการบริการน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในสต๊อกสินค้า การจ้างงาน หรือการจัดกิจกรรมการตลาดที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น 

 

ตัวอย่างการปรับรูปแบบการให้บริการโดยคำนึงถึงระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เช่น ในธุรกิจโรงแรมและที่พัก ผู้ประกอบการอาจจะมีปรับรูปแบบการให้บริการ ได้แก่ 

 

  1. จัดระบบการให้บริการเช็กอินออนไลน์ โดยให้ลูกค้าสามารถเช็กอินเข้าห้องพักผ่านระบบออนไลน์ หรือผู้ประกอบการอาจเปิดให้บริการจุดคอมพิวเตอร์ในที่พักสำหรับกลุ่มลูกค้าที่สะดวกในการเช็กอินออนไลน์ 

 

  1. ปรับรูปแบบการให้บริการในห้องอาหารและพื้นที่ส่วนกลาง โดยห้องอาหารในโรงแรมควรจะมีการจัดสถานที่นั่งให้มีระยะห่าง การปรับจากรูปแบบการบริการอาหารแบบตักเองเป็นการสั่งและอาจบริการส่งถึงห้องพัก 

 

  1. การจัดโซนห้องพักที่จะเปิดให้บริการ และควรลดความหนาแน่นเมื่อนักท่องเที่ยวเข้าพักในแต่ละชั้น โดยผู้ประกอบการอาจจะหลีกเลี่ยงการให้บริการห้องพักติดกัน โดยอาจเว้นระยะระหว่างห้องพัก เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความสบายใจระหว่างการใช้บริการ เป็นต้น

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising