×

กสิกรไทยปรับเป้ามอง GDP ไทยปี 2564 โต 2.6% แต่มองปีนี้ติดลบ 6.7%

08.12.2020
  • LOADING...
กสิกรไทย GDP

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ทางศูนย์วิจัยฯ ปรับคาดการณ์ GDP ปี 2564 ดีขึ้น โดยมองว่าจะขยายตัว 2.6% ผ่านแรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐทั้งการบริโภคและการลงทุน แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ต้องติดตามเรื่องความเพียงพอและการเข้าถึงวัคซีน

 

ทั้งนี้จากความเสี่ยงข้างต้นมองว่าประเทศไทยจะทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 ขณะที่ต้องติดตามความเสี่ยงจากทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่า

และปัจจัยการเมืองในประเทศ 

 

อย่างไรก็ตาม ปี 2564 คาดว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวที่ 3.0% จากปี 2563 ที่คาดว่าจะหดตัว 7.0% โดยการส่งออกยังฟื้นตัวช้ามาก เพราะปัจจัยกดดันด้านค่าเงินบาทที่อาจแข็งค่าหลุดระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

 

ขณะเดียวกันแรงส่งหลักของไทยต้องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่างบประมาณภาครัฐที่เหลือจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รวมกับ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ราว 5 แสนล้านบาทน่าจะเพียงพอที่จะดูแลเศรษฐกิจโดยไม่ต้องมีการก่อหนี้เพิ่มเติม ภายใต้กรณีไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศอย่างรุนแรงจนต้องมีมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง

 

ทั้งนี้มองว่าการฟื้นตัวของแต่ละอุตสาหกรรมของไทยจะไม่เท่ากัน และมี 3 อุตสาหกรรมที่ต้องติดตาม ได้แก่

 

  1. ภาคการท่องเที่ยวที่ยังได้รับผลกระทบหนักจากไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาครัฐคงต้องพิจารณามาตรการช่วยเหลือที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ทั้งสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง รวมถึงการจัดตั้งกองทุนและการ Warehouse สถานประกอบการ เพื่อประคองธุรกิจส่วนใหญ่ให้มีโอกาสไปต่อได้ 
  2. อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย ที่อาจยังมีประเด็นด้านสภาพคล่อง ท่ามกลางหน่วยเหลือขายสะสมที่คาดว่าจะสูงราว 2.2 แสนหน่วย ณ สิ้นปี 2564 ดังนั้นผู้ประกอบการจึงยังต้องรอบคอบในการเปิดโครงการใหม่ 
  3. รถยนต์ แม้เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวและคงผ่านปัญหาเฉพาะหน้าได้ แต่ถัดจากนี้อุตสาหกรรมจะเจอโจทย์ที่ต้องยกระดับการผลิตไปสู่รถยนต์แห่งอนาคต มิเช่นนั้นจะสูญเสียศักยภาพการเติบโตในตลาดส่งออกได้ 

 

ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า นโยบายการเงินปี 2564 มองว่า ธปท. คงประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นระยะ ซึ่งหากมีสัญญาณลบของการฟื้นตัว คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังสามารถลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมได้อีก 0.25% หรือลดเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์

 

อย่างไรก็ตาม จะเป็นการดำเนินการควบคู่กับนโยบายอื่นๆ เช่น การปรับปรุงโครงการ Soft Loan และการค้ำประกันสินเชื่อโดย บสย. เป็นต้น และมีโจทย์หลักคือการดูแลเรื่องคุณภาพหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ยังมีจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 ของพอร์ตสินเชื่อรวมให้สามารถประคองการจ่ายหนี้ปกติได้ต่อเนื่อง

 

ขณะที่มาตรการผ่อนปรนเกณฑ์จัดชั้นหนี้ของ ธปท. คงทำให้ Reported NPLs ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย แม้จะเพิ่มขึ้นเข้าหา 3.53% ณ สิ้นปี 2564 จากระดับประมาณการที่ 3.35% ณ สิ้นปีนี้ แต่ก็ถือเป็นระดับที่ไม่สูง

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising