พาฮัลกาม เมืองเล็กๆ กลางหุบเขาหิมาลัย ในดินแดนแคชเมียร์ที่อินเดียปกครอง เมืองนี้ถูกขนานนามในหมู่ชาวอินเดียว่าเป็น “สวิตเซอร์แลนด์ของอินเดีย”
แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 22 เมษายนตามเวลาท้องถิ่น ได้เกิดเหตุกราดยิงกลางวันแสกๆ โดยกลุ่มมือปืนไม่ทราบจำนวนยิงใส่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่กำลังเดินลงมาจากเขา บ้างก็เดินเล่นอยู่ริมลำธาร บางคนเพิ่งลงจากบ้านเรือ หรือว่า Houseboat ที่เป็นลักษณะโรงแรมที่ตั้งอยู่บนเรือ และบางคนเป็นครอบครัวที่มาเที่ยวช่วงวันหยุดฤดูร้อน
เหตุการณ์นี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 26 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวอินเดีย 25 คน และอีก 1 คนเป็นชาวเนปาล มีผู้บาดเจ็บอีกอย่างน้อย 17 คน
The Resistance Front กลุ่มที่ออกมาอ้างว่าอยู่เบื้องหลัง
ขณะที่กลุ่มติดอาวุธที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้างที่ใช้ชื่อว่า ‘The Resistance Front’ หรือ TRF ออกมาอ้างความรับผิดชอบ โดยกล่าวว่าเป็นการตอบโต้ต่อ “กลุ่มคนนอก” ที่มาจาก ‘การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในแคชเมียร์’ หลังแคชเมียร์ถูกเปลี่ยนสถานะในปี 2019
อินเดียตอบโต้ทันที
ภายใน 24 ชั่วโมง รัฐบาลอินเดียได้ตอบโต้ทันที ด้วยการประกาศปิดด่านชายแดนหลักที่เชื่อมต่อกับปากีสถาน ขับนักการทูตและที่ปรึกษาทางทหารของปากีสถานออกนอกประเทศ ภายใน 48 ชั่วโมง
และล่าสุดเมื่อวานนี้ อินเดียประกาศระงับสนธิสัญญาน้ำของแม่น้ำสินธุ (Indus Water Treaty) ซึ่งถูกลงนามตั้งแต่ปี 1960 โดยมีธนาคารโลกเป็นคนกลาง นี่คือข้อตกลงที่แบ่งสิทธิการใช้น้ำจากแม่น้ำสินธุและสาขาระหว่างสองประเทศ คืออินเดียควบคุมน้ำฝั่งตะวันออก ส่วนปากีสถานใช้น้ำจากฝั่งตะวันตก
ที่ผ่านมา แม้จะมีสงครามหรือความขัดแย้งทางการทูต สนธิสัญญาฉบับนี้ก็ยังอยู่
เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชนจำนวนมหาศาลในทั้งสองประเทศ
ในมุมของ ผศ. ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สะท้อนมุมมองนี้ว่า การที่อินเดียออกมาประกาศ ‘ระงับ’ สนธิสัญญาในครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองอย่างชัดเจนว่า อินเดียพร้อมใช้ ‘ทุกวิธีการ’ ที่มีอยู่ เพื่อแสดงความไม่พอใจ และกดดันปากีสถานกลับในระดับนโยบาย
ที่สำคัญประเด็นเรื่องน้ำยังเป็นหนึ่งในข้อพิพาทเก่าที่ยืดเยื้อระหว่างอินเดียกับปากีสถานมาโดยตลอดอีกด้วย
การระงับสนธิสัญญาครั้งนี้จึงอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อการชลประทาน การผลิตไฟฟ้า และความมั่นคงด้านอาหารของปากีสถาน
ปากีสถาน แสดงความเสียใจ ยืนยันไม่เกี่ยวข้อง
ด้าน เชห์บาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีของปากีสถาน เรียกประชุมคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติทันที
ส่วน อิช-ฮัก ดาร์ รัฐมนตรีต่างประเทศ โพสต์ผ่านแพลตฟอร์ม X แสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยว พร้อมปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเหตุโจมตี
ในถ้อยแถลงของกระทรวงการต่างประเทศปากีสถาน ใช้ถ้อยคำระมัดระวังอย่าง ‘เรากังวลต่อความสูญเสียของนักท่องเที่ยว และขอให้ผู้บาดเจ็บฟื้นตัวโดยเร็ว’
แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้อินเดียไม่พอใจ เพราะรัฐบาลนิวเดลีระบุว่า เหตุการณ์นี้ ‘มีรากจากการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในแคชเมียร์จากฝ่ายตรงข้าม’ แม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันโดยตรงก็ตาม
ขณะที่กลุ่ม ลัช-กัร-เอ-ไต-ยิบ-บา (Lashkar-e-Tayyiba) ที่เคยอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีในเมืองมุมไบปี 2008 ที่อินเดียเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่ม TRF ออกมาระบุว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ และเชื่อว่าอินเดียเป็นฝ่ายจัดฉากเองเสียมากกว่า เพราะต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของปากีสถาน
กลุ่ม TRF คือใคร?
กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า The Resistance Front หรือ TRF เป็นกลุ่มติดอาวุธที่เพิ่งปรากฏตัวในแคชเมียร์เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มนี้ยังมีไม่มากนัก แต่ในช่วงหลัง กลุ่ม TRF อ้างว่าอยู่เบื้องหลังการสังหารพลเรือนหลายคน โดยเฉพาะจากชุมชนชนกลุ่มน้อยในพื้นที่
TRF ปรากฏตัวครั้งแรกในปี 2019 ผ่านแอปส่งข้อความที่เข้ารหัสชื่อ Telegram หลังจากอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุโจมตีด้วยระเบิดมือในเมืองศรีนาการ์ เมืองใหญ่ที่สุดของแคชเมียร์
นักวิจัยจากคลังสมองในอินเดียของ Observer Research Foundation (ORF) มองว่าการเกิดขึ้นของ TRF สะท้อนถึง “แนวต้านรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นจากภายในแคชเมียร์เอง”
แม้อินเดียจะจัดให้ TRF เป็น “องค์กรก่อการร้าย” และเชื่อมโยงกับกลุ่มติดอาวุธชื่อดังอย่างกลุ่ม ลัช-กัร-เอ-ไต-ยิบ-บา (Lashkar-e-Tayyiba) ที่เคยอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีในเมืองมุมไบปี 2008
แต่ ผศ. ดร.มาโนชญ์ ชี้ว่า กลุ่ม TRF กลับพยายามแสดงตัวว่าไม่ใช่กลุ่มญิฮาดแบบเดิม หรือกลุ่มศาสนาสุดโต่ง โดยตั้งข้อสังเกตจากการใช้ภาษาอังกฤษมาเป็นชื่อกลุ่ม ที่สะท้อนแนวคิดชาตินิยมมากกว่าจะชูประเด็นเรื่องศาสนา
ขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นในพาฮัลกาม อาจารย์มาโนชญ์ระบุว่าถือเป็นเรื่องที่ไม่ปกติสำหรับแคชเมียร์ เพราะโดยทั่วไป เมืองท่องเที่ยวมักถูกเว้นจากความรุนแรง เพราะทุกฝ่ายรู้ว่า “การท่องเที่ยว” คือแหล่งรายได้หลักของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้ารายย่อย โรงแรม หรือแม้แต่แรงงานท้องถิ่นต่างพึ่งพาผู้มาเยือน
แต่ครั้งนี้ กลุ่มติดอาวุธเลือกโจมตีเป้าหมายที่เป็นนักท่องเที่ยวโดยตรง ซึ่งเป็นสิ่งที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในพื้นที่แบบนี้
ประกอบกับช่วงหลัง มีนักท่องเที่ยวจากรัฐอื่นของอินเดียหลั่งไหลเข้ามาในแคชเมียร์มากขึ้น และบางส่วนไม่ได้มาแค่เที่ยว แต่เริ่มเข้ามาจับจองที่ดิน สร้างบ้าน หรือทำธุรกิจ ตามสิทธิที่ได้รับหลังอินเดียเพิกถอนสถานะกึ่งปกครองตนเองของแคชเมียร์ในปี 2019
ปี 2019 แคชเมียร์ถูกเปลี่ยนสถานะสู่เหตุนองเลือดวันนี้
แคชเมียร์เป็นดินแดนที่ทั้งอินเดียและปากีสถานต่างอ้างกรรมสิทธิ์ โดยต่างฝ่ายต่างปกครองคนละส่วน ตั้งแต่ปี 1947 ความขัดแย้งที่นี่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วหลายหมื่นคน
ย้อนกลับไปในปี 2019 อินเดียเพิกถอนสถานะกึ่งปกครองตนเองของแคชเมียร์ ยุติการมีรัฐธรรมนูญของตนเอง และเริ่มโครงการย้ายประชากรจากรัฐอื่นเข้ามาอยู่ในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลกลางเรียกสิ่งนี้ว่า ‘การพัฒนา’
แต่ฝ่ายต่อต้านอย่างกลุ่ม TRF มองว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่อ่อนไหวทางศาสนาและชาติพันธุ์
ครอบครองนิวเคลียร์ทั้งคู่ น่ากังวลต่อภูมิภาค?
คำถามว่าแล้วทั้งสองประเทศต่างก็มีนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง สิ่งนี้จะสร้างความกังวลและนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ได้หรือไม่ ซึ่งถ้าเราย้อนดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียใต้นี้ แม้จะเต็มไปด้วยความตึงเครียด และสุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งอยู่เสมอ แต่อินเดียกับปากีสถาน ก็ยังไม่เคยเข้าสู่ ‘สงครามเต็มรูปแบบ’ เลย แม้จะเคยมีการปะทะทางทหารหลายครั้งก็ตาม”
ตรงจุดนี้นั้น ผศ. ดร.มาโนชญ์ อธิบายว่า ทั้งอินเดียและปากีสถานต่างมีศักยภาพด้านนิวเคลียร์ ซึ่งกลายเป็นกลไกถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน
ในทางหนึ่ง เราเรียกสิ่งนี้ว่า “Balance of power” หรือ “สมดุลทางอำนาจ”
แม้อินเดียจะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจและกองกำลังใหญ่กว่าอย่างชัดเจน
แต่อีกด้านหนึ่ง ก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า “Balance of terror” คือสมดุลที่สร้างขึ้นจากความหวาดกลัว เพราะต่างฝ่ายต่างรู้ดีว่า หากเกิดความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นใช้อาวุธนิวเคลียร์ ผลลัพธ์จะไม่มีใครเป็นผู้ชนะ
แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดความกังวลจากนิวเคลียร์เลย ผศ. ดร.มาโนชญ์ กล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงที่ความกังวลพุ่งถึงจุดสูงสุด ก็คือปี 2001 ตอนที่เกิดเหตุโจมตีอาคารรัฐสภาอินเดีย ในตอนนั้น อินเดียกล่าวหากลุ่มติดอาวุธที่มีฐานในปากีสถานว่าอยู่เบื้องหลัง ความตึงเครียดพุ่งสูงจนหลายฝ่ายกังวลว่าอาจกลายเป็นความขัดแย้งนิวเคลียร์
แต่ปรากฏว่าสหรัฐฯ ในเวลานั้นได้เข้ามาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย และเรียกร้องให้ทั้งสองประเทศหันมาใช้มาตรการต่อต้านการก่อการร้ายเป็นจุดร่วม ซึ่งกลายเป็นการเปิดทางสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพในเวลาต่อมา
สหรัฐฯ ใต้ทรัมป์ จะเข้ามาเป็น ‘ตัวกลาง’ หรือไม่?
ย้อนกลับไปในปี 2019 ที่เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรงลักษณะใกล้เคียงกันนี้ ซึ่งในตอนนั้น เกิดเหตุโจมตีขบวนรถบัสของเจ้าหน้าที่อินเดียในแคชเมียร์ อินเดียตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศเข้าไปในดินแดนที่ปากีสถานควบคุม และปากีสถานก็ตอบกลับด้วยการส่งเครื่องบินเข้าสู่ดินแดนอินเดียเช่นกัน
ตอนนั้นเอง โดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เสนอตัวเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยความตึงเครียดระหว่างสองประเทศ แม้ข้อเสนอนั้นจะไม่ได้รับการตอบรับอย่างเป็นทางการจากอินเดีย แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐฯ มีความกังวลต่อเสถียรภาพของเอเชียใต้มากเพียงใด
เมื่อถามว่าแล้วในวันนี้ เมื่อทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง มีโอกาสที่เขาจะกลับมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยอีกครั้งหรือไม่ ผศ. ดร.มาโนชญ์ กล่าวว่า อาจได้เห็น เพราะจากท่าทีที่ทรัมป์ออกมาแสดงความเสียใจต่อเหตุโจมตีในพาฮัลกามอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจตีความได้ว่าเป็นการวางจุดยืนล่วงหน้า หากจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทอีกครั้งในฐานะตัวกลางทางการทูต
อีกทั้งยังต้องไม่ลืมว่า ทั้งอินเดียและปากีสถานต่างมีผลประโยชน์ร่วมกับสหรัฐฯ อินเดียเองก็เป็นพันธมิตรยุทธศาสตร์สำคัญในอินโด-แปซิฟิก คานอำนาจกับจีน ขณะที่ปากีสถานยังเป็นคู่ค้าทางทหารและเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ ยังจับตา
ส่วนถ้าหากมองไปข้างหน้าจากเหตุการณ์ในพาฮัลกามครั้งนี้ อาจไม่ได้นำไปสู่สงครามโดยตรง แต่ ผศ. ดร.มาโนชญ์ มองว่ามีแนวโน้มจะได้เห็นความสัมพันธ์ทางการทูตที่ห่างเหินลง ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างทั้งสองประเทศจะถอยหลัง และช่องทางการสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการอาจถูกลดระดับลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
สุดท้ายแล้ว ในพื้นที่ที่เปราะบางที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียใต้ เหตุการณ์หนึ่งสามารถสั่นคลอนความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
และแม้จะยังไม่มีใครรู้ว่า เรื่องนี้จะจบลงอย่างไร แต่สิ่งที่เรารู้แน่ๆ คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจนั้นเปราะบางเสมอ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่สันติภาพไม่ได้ถูกสร้างจากความไว้ใจ แต่ถูกถ่วงไว้ด้วยความกลัว และการคุมเชิงที่ไม่มีใครอยากเริ่มก่อน
อ้างอิง: