×

ทนายเสื้อแดง-งูเห่า-ทำเนียบรัฐบาล ฉากชีวิต ‘คารม’ ใต้ร่มเงาภูมิใจไทย

16.01.2024
  • LOADING...
คารม พลพรกลาง

HIGHLIGHTS

  • คารม พลพรกลาง อดีต สส. ก้าวไกล มองว่า เพราะคำว่า ‘สส.งูเห่า’ ทำให้แพ้เลือกตั้ง 
  • แต่เขากลับเป็นอดีต ‘สส.งูเห่า’ ที่ได้โอกาสเข้าใกล้ศูนย์กลางอำนาจการเมืองไทย (ทำเนียบรัฐบาล) มากที่สุด
  • พรรคภูมิใจไทย ‘อบอุ่น’ กว่าพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกล สมัยหน้าขอสู้ต่อ ลง สส. เขต ตั้งใจพัฒนาร้อยเอ็ดบ้านเกิด เหมือน ‘บุรีรัมย์’

‘สส.งูเห่า’ คือคำครหาที่ คารม พลพรกลาง อดีต สส. พรรคก้าวไกล จากสภาชุดที่ 25 ถูกเพื่อนนักการเมืองและสื่อมวลชนตีตรามาโดยตลอด

 

คำว่า ‘งูเห่า’ เป็นคำศัพท์ทางการเมือง สำหรับเรียก สส. ที่ลงมติขัดแย้งกับมติของพรรคการเมืองต้นสังกัด เพื่อให้ได้ผลประโยชน์จากฝ่ายที่ลงคะแนนให้ ถูกเรียกครั้งแรกจากปากของ สมัคร สุนทรเวช ครั้งนั่งหัวหน้าพรรคประชากรไทย เปรียบตัวเองเป็นชาวนาที่ถูกงูเห่ากัดตามนิทานอีสป  

 

ก่อนยุบสภา 3 เดือน เพื่อก้าวสู่หนทางใหม่ในการเลือกตั้ง 2566 คารมร่วมกับเพื่อน สส. อีก 4 คนได้ทิ้งพรรคก้าวไกลมาลงสมัครรับเลือกตั้งภายใต้เสื้อสีน้ำเงินยี่ห้อภูมิใจไทย

 

แม้คารมจะไม่ได้เป็นผู้แทนฯ ตามที่หวัง แต่เขาคืออดีต สส.งูเห่า ที่รุ่งโรจน์ที่สุด เพราะได้รับโอกาสจาก อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้เป็น ‘โทรโข่งรัฐบาล’ ในโควตาพรรคภูมิใจไทย ได้เข้าใกล้ศูนย์กลางอำนาจการเมืองไทย (ทำเนียบรัฐบาล) มากที่สุด 

 

THE STANDARD เปิดใจชีวิตที่ไม่ง่ายของผู้ชายที่ชื่อ ‘คารม พลพรกลาง’ และบทบาทใหม่รองโฆษกรัฐบาล โควตาพรรคภูมิใจไทย ลมใต้ปีกตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล 

 

“พี่พูดอะไรก็ได้ ไม่มีปัญหาอะไร ไม่กลัวอะไรทั้งนั้น พี่พูดได้ทุกเรื่อง พี่ผ่านศึกสงครามมาตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่จนถึงพรรคก้าวไกล ในบรรดาคนที่ย้ายจากพรรคก้าวไกลพี่ได้คะแนนสูงสุด (16,306 คะแนน) แม้พี่จะเป็น สส. บัญชีรายชื่อ มาลง สส. เขต นี่คือข้อพิสูจน์ว่าพี่ทำงานจริง และลบล้างทุกคำครหา ไม่อย่างนั้นจะมานั่งตำแหน่งนี้ (รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี) ไม่ได้” คารมกล่าวเปิดบทสนทนากับ THE STANDARD

 

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

คารม พลพรกลาง คือใคร

 

คารมเริ่มต้นเล่าชีวิตของตัวเองว่า ‘ใฝ่ฝัน’ อยากจะเป็นนักการเมืองตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก สมัยเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษา เนื่องจากได้ฟังการอภิปรายในสภาผ่านวิทยุทรานซิสเตอร์ ระหว่างที่เดินเท้าไปโรงเรียน ซึ่งจากบ้านห่างเกือบ 2 กิโลเมตร 

 

ครั้งหนึ่งเคยพูดกับพี่ชายว่า อยากเป็น สส. แต่พี่ชายตอบกลับมาว่า “เป็นไม่ได้หรอก” เพราะด้วยฐานะทางบ้านที่ไม่ค่อยดี ขณะเดียวกันจังหวัดร้อยเอ็ด ‘บ้านเกิด’ ของเขา ก็มีเจ้าของพื้นที่ที่เป็นบ้านใหญ่จากพรรคเพื่อไทย และเป็นผู้แทนฯ มาตั้งแต่ปี 2542 อยู่แล้ว

 

คารมเล่าต่อว่า ด้วยความที่ชื่นชอบการเมือง ตอนที่ก่อที่ตั้งพรรคไทยรักไทย ตอนนั้นเป็นแค่ทนายความธรรมดา ไม่ได้มีโปรไฟล์ ไม่มีความพร้อม มีแต่ความชอบงานการเมือง โดยนักการเมืองที่ชื่นชอบมากที่สุดคือ ชัชวาลย์ ชมภูแดง อดีต สส. ร้อยเอ็ด 5 สมัย จึงวิ่งเข้าไปสมัครสมาชิกพรรค จนได้เป็นสมาชิกลำดับประมาณ 2,000 

 

หนทางสู่เส้นทางการเมืองนั้น คารมบอกว่าในปี 2551 ได้รู้จักกับ พล.ต.ท. อำนวย นิ่มมะโน ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ขณะส่งลูกสาวไปโรงเรียน ที่กำลังหาทนายเพื่อทำหน้าที่ฟ้องกลุ่มพันธมิตร จากนั้นก็สู้กับพันธมิตรมาโดยตลอด จนได้เป็นทนายคนเสื้อแดงอย่างเต็มตัว

 

“ชีวิตทนายคนเสื้อแดงเหมือนกับถูกขีดไว้ เวลามีม็อบผมก็จะไปดูตลอด ตั้งแต่บุกบ้าน พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ หรือถ้าจะย้อนไปไกลกว่านั้น ช่วงที่รัฐบาล พล.อ. สุจินดา คราประยูร ผมก็ไป ชีวิตผมก็เหมือนสู้กับคนยึดอำนาจมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน”

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

คารมบอกว่า สิ่งที่เขาภูมิใจมากที่สุดจากการเป็น ‘ทนายเสื้อแดง’ คือเขาเป็นทนายคนเดียวที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เลือกไปศาลโลก (International Criminal Court (ICC) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อไปให้การกับอัยการศาลโลกเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของกลุ่มคนเสื้อแดง

 

เขาบอกอีกว่า คดีที่ทำส่วนใหญ่ที่เขาทำนั้นล้วนประสบความสำเร็จทั้งสิ้น ทำให้เขาเป็นที่รู้จักของแกนนำคนเสื้อแดง คนในพรรคไทยรักไทย หรือแม้แต่คนในพรรคเพื่อไทยเกือบทุกคน 

 

ขณะเดียวกัน การเป็นทนายของคนเสื้อแดงนั้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จักกับ ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และเลขาธิการคณะก้าวหน้าด้วย

 

 

 

พรรณิการ์ วานิช (ซ้าย) ปิยบุตร แสงกนกกุล และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แถลงภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 

แฟ้มภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

ปี 2561 ตอนที่ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เป็นช่วงที่เริ่มอิ่มตัวจากการอาชีพทนาย และเริ่มมีความคิดที่จะเป็นนักการเมืองอีกครั้ง จึงโทรศัพท์ไปหาปิยบุตร และสมัครสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ ในราคา 2,000 บาท พร้อมทั้งลงสมัครเป็นกรรมการภาคอีสานด้วย 

 

คารมบอกว่า เขาคิดมาตลอดว่าพรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคที่เป็นประชาธิปไตย แต่ความจริงนั้นกลับ ‘ไม่ใช่’ อย่างที่เขาคิด พรรคอนาคตใหม่ได้วางตัวกรรมการภาคไว้แล้ว 

 

“อย่างภาคอีสานเขาก็วาง นาย ก ภาคนี้วาง นาย ข ไว้แล้ว” คารมเล่า 

 

หลังเสร็จสิ้นกระบวนการเลือกผู้สมัคร ปิยบุตรคือคนที่ต่อสายถึงเขาเป็นคนแรกว่าอยู่ สส. บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 26 เมื่อทราบลำดับแล้วก็ได้ต่อสายพูดคุยกับนักวิชาการที่สนิท หรือแม้แต่อดีตรัฐมนตรี ต่างบอกตรงกันว่า “ไม่ได้หรอก เต็มที่ 10 คนก็เก่งแล้ว”

 

แต่คารมกลับคิดว่าในพื้นที่แต่ละเขตนั้น พรรคอนาคตใหม่ต้องได้ 3,000 คะแนน หากได้ 3,000 คะแนน X 400 เขต อย่างไรคะแนนก็ถึงลำดับที่ 26 ของเขาอยู่แล้ว 

 

เมื่อได้เป็นผู้แทนฯ คารมเล่าว่าเขาเป็นคนเคารพกติกามาตลอด ชอบทำงาน ชอบพูด ชอบอภิปรายในสภา พอเนื้อหาลึกขึ้น หรืออภิปรายประเด็นหนักๆ ต้องมีคนตรวจสอบก่อน ไล่มาตั้งแต่อดีตหัวหน้าพรรค ก็รู้สึกว่าไม่ใช่ เมื่อทำงานไป สุดท้ายเริ่มเห็นความขัดแย้งภายในพรรค

 

 

คารม พรพลกลาง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล 

ขณะกำลังอภิปรายญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 

แฟ้มภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

คารมบอกว่า เขาชัดเจนมาตลอดเรื่องการแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ปัญหาของเขาและพรรคนั้น สาเหตุที่แท้จริงไม่ได้เกิดเพราะกฎหมายมาตรา 112 แต่เกิดจากคนในพรรคคาดการณ์ว่า หากมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ เขาจะทิ้งพรรค ไปหาพรรคอื่นมากกว่า

 

“วันนั้นหากย้อนเวลาได้ ผมว่าย้ายออกเลยดีที่สุด ไม่ต่างจากวันนี้เลย มีความสุขกว่านี้ สมบูรณ์แบบกว่านี้ และไม่มีใครว่าด้วย” คารมกล่าว 

 

วันนั้นหลังตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อ เขาถูกเตะออกจากกลุ่มไลน์ของพรรค จากนั้นถูกโจมตีว่ามีสาเหตุจากแก้ 112 และโจมตีมาโดยตลอด 

 

“หลังๆ ถูกโจมตีหนักทำอะไรไม่ได้เลย จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ เสนอผู้ใหญ่เขาก็ไม่เอา จึงเริ่มรู้ว่าก้าวไกลนี่เขามีเจ้าของ มีกลุ่ม ถึงแม้จะออกไปแล้ว เขาก็มีคนที่บริหารอยู่

 

“ตอนนั้นอยากไปอยู่พรรคอื่น ไม่ใช่พรรคภูมิใจไทย ที่มองพรรคชาติไทยพัฒนา และ พรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐที่ผู้ใหญ่มาขอไปอยู่เลย”

 

 

อนุทิน​ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ซ้าย) 

คารม พลพรกลาง กำลังยกมือไหว้ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย 

หลังสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

คารมบอกว่า การมาอยู่พรรคภูมิใจไทยของเขา เหมือน ‘ชีวิตถูกเบี่ยง’ มา พร้อมย้ำว่า อยู่ที่ไหนเต็มที่กับที่นั่น รักใครรักจริง ตรงไปตรงมา เป็นคนเดียวที่ถูกกล่าวหาว่า ‘หิวแสง’ เป็นหมู่บ้านตำบลกระสุนตก จนน้องๆ ที่ย้ายมาอยู่ด้วยกันไม่กล้าเดินตาม 

 

“ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผู้ใหญ่ในภูมิใจไทยจะมองอย่างไร แต่ผมมาด้วยความพร้อม ไปอยู่ที่ไหนที่ให้โอกาสเราทำงาน ก็ทำอย่างเต็มที่จนวันสุดท้าย” 

 

แม้จะแพ้การเลือกตั้ง ไม่ได้กลับมาเป็นผู้แทนอีก แต่คารมบอกว่าเขาได้อันดับ 2 ด้วย 16,306 คะแนน และกล้าพูดได้อย่างหนึ่งว่า สามารถเป็นคำพูดที่ถูกปรามาสไว้ตอนที่ลงเขตว่า ไม่มีทางได้คะแนนถึง 3,000 คะแนน

 

เพราะคำว่า ‘งูเห่า’ ทำให้แพ้เลือกตั้ง 

 

THE STANDARD จึงถามว่า “คิดหรือไม่ เพราะคำว่า ‘งูเห่า’ ทำให้แพ้เลือกตั้ง” คารมตอบออกมาอย่างรวดเร็วแบบไม่ต้องคิดว่า ‘คิด’ เพราะนี่คือสิ่งที่เป็นความรู้สึกของประชาชนเช่นกัน 

 

คารมกล่าวต่อว่า แต่จำนวนอดีต สส. ที่สอบตก ทั้งจากพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล เมื่อเทียบคะแนนกับคนอื่น โดยเฉพาะคนที่มาจากพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าจะย้ายตั้งแต่รอบแรกหรือย้ายแบบเขา เขาคืออดีต สส. ที่ได้คะแนนจากการเลือกตั้งสูงสุด 

 

“ผมก็ยังดีใจว่าเขาเลือกที่ตัวเรา เพราะเราไม่ได้มีอาวุธอะไรเหมือนเพื่อไทยที่ชนะเรา และอีกอย่างผมก็ชนะพรรคก้าวไกล 4,000 คะแนนกว่า”

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

คารมบอกอีกว่า การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ตอนที่เป็น สส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ด้วยบัตรใบเดียว หากเขาอาศัยพรรคอย่างเดียวคะแนนจะไม่เป็นแบบนี้ นั่นแสดงว่าประชาชนเลือกเพราะผู้ชายที่ชื่อ คารม พลพรกลาง ด้วย

 

“ถึงได้บอกว่าชั่วโมงนี้บาดแผลของงูเห่าไม่อยากพูดถึง เพราะในชีวิตผมถ้าจะว่ากันตรงๆ ตั้งแต่เป็นทนายเสื้อแดง ทนาย นปช. และยืนในสังคมนี้เป็นข่าวมาเยอะแยะมากมาย ผมทำมาหมดแล้ว มีความรู้สึกว่าทุกอย่างในยุคนี้ต้องแคร์ความรู้สึกคน” 

 

คารมบอกว่า แม้อยากจะลบล้างคำว่าเป็น ‘งูเห่า’ ออกไปแค่ไหน แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้ ตอนนี้ดีขึ้นมาแล้ว จึงตั้งใจว่าจะ ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ เพื่อลบคำว่างูเห่าให้ได้ แม้จะลบไม่หมดแต่ก็จะใช้ความพยายามลบออกให้ได้ 

 

อนาคตใหม่ ก้าวไกล และภูมิใจไทย

 

“ความสัมพันธ์ภายในพรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกล และต้นสังกัดใหม่ภูมิใจไทยเป็นอย่างไร” คารมตอบว่า สำหรับพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล ถ้าได้รับรู้เนื้อแท้จริงๆ 2 พรรคนี้ไม่มีความต่างกันเลย เพราะมี ‘เจ้าของพรรค’ เป็น ‘คนเดียวกัน’ 

 

 

อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กำลังสนทนากับ คารม พลพรกลาง 

ขณะเดินทางเข้าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

 

ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยนั้น คารมบอกว่า ‘ภูมิใจไทย’ ไม่ใช่พรรคการเมืองที่สร้างความนิยมสูง เหมือน ‘อนาคตใหม่’ และ ‘ก้าวไกล’ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยก็ปรับปรุงในส่วนนี้ 

 

คารมบอกอีกว่า ในแง่ ‘ความสัมพันธ์’ พรรคภูมิใจไทย ‘อบอุ่น’ กว่าพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกลอย่างมาก ลูกพรรคภูมิใจไทยสามารถเข้าหาผู้บริหารพรรค ‘เรียกพี่ เรียกหัวหน้า’ ยกมือไหว้ เขารับไหว้ ภูมิใจไทยคุยกันแบบไม่มีวงชั้น สส. เข้าหาได้เลย และเขาก็ให้โอกาสในการทำงานและการดูแล สส. ดีกว่าเยอะ 

 

“ภูมิใจไทยดูแลดีกว่าเยอะ เขาไม่ต้องการความขัดแย้ง เวลาพูดกันต้องระวังว่าอย่าไปสร้างความขัดแย้งหรือจะไปสร้างปมใหม่” คารมกล่าว

 

อยากเป็น สส. เขต พัฒนาบ้านเกิดเหมือน ‘บุรีรัมย์’ 

 

แม้ผลการเลือกตั้งเมื่อกลางปี 2566 จะไม่ประสบความสำเร็จ และทำให้เขาไม่สามารถกลับมาเป็นผู้แทนฯ ได้อีกครั้ง แต่การเลือกตั้งครั้งหน้า คารมยืนยันว่า ขออยู่สู้กับพรรคภูมิใจไทยต่อแน่นอน 

 

“ผมเป็นคนชัดเจนตั้งแต่แรกแล้วว่า อยากเป็น สส. เขต จังหวัดร้อยเอ็ด…ถ้าผมได้เป็นและอยู่ในรัฐบาลแบบนี้ ผมว่าอำเภอสุวรรณภูมิ เขต 6 ของผมจะพัฒนามากขึ้นมาก” 

 

เมื่อไม่กี่วันได้เดินทางไปที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ได้เห็นสิ่งที่เคยประสานงานกับกรมทางหลวงตอนที่ได้เป็นผู้แทนในสภา เวลาผมขับรถกลับบ้านรู้สึกภูมิใจมาก ความภูมิใจนี้ไม่ใช่ภูมิใจ เพราะเป็น สส. ความภูมิใจคือคุณทำอะไรไว้ เหมือนจังหวัดบุรีรัมย์ ใครจะโจมตีคุณเนวิน ชิดชอบ, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ หรือพรรคภูมิใจไทย 

 

“คุณลองไปดูจังหวัดบุรีรัมย์ ในวันที่เขามีแข่งโมโตจีพี เขาเอารถอีแต๋นมาให้คนขึ้นนั่งไปดูแข่งรถ เป็นการสร้างท้องถิ่น ผมอยากเห็นจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่เป็นแค่เมืองธรรมดา เป็นเมืองที่สงบเงียบเหมือนทุกวันนี้” 

 

ภาพ : ฐานิส สุดโต

 

ทีมโฆษกรัฐบาล ลมใต้ปีกทำเนียบรัฐบาล

 

ปัจจุบัน ‘คารม’ อยู่ในทีมโฆษกรัฐบาล เขาเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจากโควตาของพรรคภูมิใจไทย แม้จะรู้แจ้งเห็นจริงต่อการเมืองไทยเพราะอยู่บนเส้นทางการเมืองมานาน แต่บทบาทใหม่ที่เขาได้รับนั้น เขาบอกกับ THE STANDARD ว่ายังต้องปรับตัวอีกมาก

 

“สำหรับผม เวลาทำหน้าที่ประเด็นต้องคมขึ้น ดีขึ้น ต้องปรับการพูดให้ช้าลง การแต่งเนื้อแต่งตัวต้องเตรียมตัวให้ดี ผมคิดว่าคนยังจำทีมโฆษกฯ ทั้งหมดไม่ได้ เนื่องจากยุคนี้โฆษกฯ หน้าตาไม่ดี ฉะนั้นเราต้องเอาความน่าเชื่อถือมาสู้ ต้องปรับให้คนสามารถจำทีมโฆษกฯ ได้ ให้การสื่อสารผ่านโฆษกฯ ลงไปให้ชัดเจน”

 

โดยเฉพาะการทำงานกับทีมโฆษกฯ ที่มาจากหลายพรรคการเมือง ทั้งเพื่อไทย ภูมิใจไทย และรวมไทยสร้างชาติ คารมยืนยันว่า ‘ไม่ได้เป็นปัญหา’ แต่ก็มีอีกหลายอย่างที่ต้องปรับจูนกัน ทั้งการกระจายข่าว ทิศทางข่าวต้องวางได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะที่กระทรวงที่พรรคคุณดูแล ถ้าเป็นประเด็นสำคัญก็ต้องแบ่งประเด็นที่น่าสนใจให้ทั้ง 3 คน ตำแหน่งโฆษกฯ อย่างไรก็เป็นที่หนึ่ง เพราะอยู่หลังนายกฯ ทุกที่ แต่หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา อย่าลืมว่ารองโฆษกฯ ต้องมาทำหน้าที่แทนเหมือนกัน 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising