แม้จะแยกทางกันมาเป็นเวลาร่วมปีแล้วแต่ดูเหมือนเรื่องราวระหว่าง คานเย เวสต์ กับ adidas จะยังไม่สามารถสลัดตัดขาดกันได้อย่างสมบูรณ์
บียอร์น กูลเดน ซีอีโอคนใหม่ของบริษัทกีฬายักษ์ใหญ่จากเยอรมนี ได้กล่าวถึงคานเย หรือ Ye เมื่อเดือนที่แล้ว ในทำนองที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะได้ยินจากปากของผู้บริหารระดับสูงสุดของ adidas
“เขาไม่ได้ตั้งใจจะหมายถึงอย่างนั้นหรอกในสิ่งที่เขาพูด” กูลเดนกล่าวถึงแรปเปอร์ผู้เป็นพาร์ตเนอร์ที่ดีที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และพยายามบอกว่า Ye ไม่ได้เป็นคนเลวร้ายอะไร
แต่เรื่องนี้ได้นำไปสู่การเปิดโปงครั้งใหญ่ถึงเรื่องราวพฤติกรรมที่เหลือจะกล่าวของศิลปินผู้เต็มไปด้วยความขัดแย้งและสร้างปัญหา รวมถึงความทุกข์ให้แก่ผู้คนมากมายที่ต้องทำงานร่วมกับเขานับตั้งแต่จับมือกับ adidas เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2013
Ye แผลงฤทธิ์อะไรเอาไว้บ้างตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และทำไม adidas ถึงต้องยอมทนมาอย่างยาวนาน?
การพบกันครั้งแรกที่ไม่มีใครลืม
สำหรับทีม adidas การที่พวกเขาสามารถคว้าตัว Ye มาออกแบบเสื้อผ้าและรองเท้าในตระกูล Yeezy ถือเป็นข่าวดีอย่างมาก
นั่นเป็นเพราะ adidas ยังอ่อนต่อตลาดในสหรัฐอเมริกา พวกเขายังถูกผูกติดกับความเป็นแบรนด์กีฬาที่เน้นสาย Performance มากกว่า ตามข้อมูลจาก Industry Data ระบุว่าส่วนแบ่งของแบรนด์เยอรมันในตลาดอเมริกันชนนั้นอยู่ที่เพียง 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ห่างจากเจ้าพ่ออย่าง Nike ที่ครองเบอร์หนึ่งในบ้านเกิดของพวกเขาเองด้วยส่วนแบ่งการตลาดถึงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์
พวกเขาคาดหวังว่าแรปเปอร์ระดับเจ้าพ่อจะพา adidas ไปอยู่ในใจคนรุ่นใหม่มากขึ้น หลังจากที่เคยถอดใจไปแล้วว่าคงไม่มีความหวังที่จะไล่ตามได้ทัน
แต่เค้าลางของปัญหาเริ่มก่อตัวตั้งแต่การพบกันครั้งแรกในสำนักงานใหญ่ของ adidas ในประเทศเยอรมนี ที่ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้พบและหารือถึงแนวทางในการทำงานร่วมกันเป็นครั้งแรก
ด้วยความตั้งใจฝ่ายทีม adidas พยายามที่จะทำการบ้านด้วยการออกแบบผลงานซึ่งได้รับการแชร์ไอเดียมาจากทางด้าน Ye เอง
ปรากฏว่า Ye ได้คว้าเอากระดาษที่ดีไซเนอร์จาก adidas ได้วาดดีไซน์รองเท้าคร่าวๆ เอาไว้ ก่อนที่จะเอาปากกามาเขียนที่ตรงปลายเท้า
Ye ไม่ได้เขียนข้อความให้กำลังใจหรือติชมอย่างที่ควรจะเป็น เขาวาดรูปเครื่องหมาย ‘สวัสดิกะ’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนาซี
การวาดเครื่องหมายสวัสดิกะในห้องประชุมใหญ่ของบริษัทมหาอำนาจสัญชาติเยอรมนี ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเป็นเรื่องต้องห้ามอยู่แล้ว และยิ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากขึ้นไปอีกเมื่อตามประวัติศาสตร์ adidas ก่อตั้งโดย อดอล์ฟ ดาสส์เลอร์ ซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคนาซี
และสถานที่ที่พวกเขาพบกันก็อยู่ไม่ไกลจากเมืองนูเรมเบิร์ก ที่ที่เหล่าผู้นำของจักรวรรดิไรช์ที่ 3 พยายามก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ
นี่เป็นการส่งสัญญาณเตือนแบบโต้งๆ จาก Ye ซึ่งขณะนั้นยังเป็น คานเย เวสต์
อย่าคิดว่านี่เป็นการจับมือกับนักบุญ เพราะจริงๆ แล้วนี่อาจเป็นการทำสัญญากับปีศาจ
สัญญาปีศาจ
ทุกอย่างเริ่มต้นในช่วงฤดูร้อน 2013 เมื่อ จอน เว็กซ์เลอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจบันเทิงและการตลาดอินฟลูเอ็นเซอร์ของ adidas ในขณะนั้นได้รับสายจากศิลปินดัง
“ผมอยากร่วมงานกับคุณ”
ข้อเสนอขอเป็นพันธมิตรในการร่วมออกแบบรองเท้าของคานเยทำให้เว็กซ์เลอร์หัวใจเต้นรัว เพราะนี่คือสุดยอดศิลปินระดับไอคอนิกของโลก เขามองภาพที่สวยงามในการร่วมมือกันของสองฝ่ายออกในทันที เช่นเดียวกับทางด้าน ฮอร์มันน์ ไดนิงเงอร์ (Hermann Deininger) ผู้บริหารระดับสูงของ adidas ที่ชื่นชอบในการพยายามผลักดันให้บริษัทได้ทลายขีดจำกัดต่างๆ
ด้วยความรีบร้อน adidas จับมือกับคานเยทันที โดยแรปเปอร์ที่ขณะนั้นมีวัย 36 ปีจะได้เป็นผู้ร่วมออกแบบรองเท้าและเสื้อผ้า แลกกับส่วนแบ่งจากยอดขาย 15 เปอร์เซ็นต์ และเงินการันตีขั้นต่ำอีกปีละ 3 ล้านดอลลาร์
สัญญาฉบับดังกล่าวได้ถูกลงนามอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2013 และมีระยะเวลาถึงปี 2017 ซึ่งถือเป็นสัญญาที่พิเศษนอกเหนือจากสัญญาที่ adidas มอบให้แก่นักกีฬา
“โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว!!!” คานเยส่งข้อความหาเว็กซ์เลอร์ภายหลังจากที่เซ็นสัญญาร่วมมือกัน ก่อนที่เขาจะประกาศไปทั่วว่าจะ ‘นิยามขีดจำกัดของ adidas ใหม่’
เพียงแต่การทำงานกับศิลปินตัวพ่ออย่างเขาไม่เคยเป็นเรื่องง่าย ทีมงานที่ต้องทำงานด้วยต่างต้องรับมือกับพฤติกรรมที่ทดสอบความอดทนของมนุษย์จากคานเยตลอดเวลา ซึ่งรวมถึงการทำงานแบบเอาแต่ใจ ความอารมณ์ร้อนเหมือนภูเขาไฟ การใช้ถ้อยคำดูถูกเหยียดหยาม บางครั้งพูดจาไม่ให้เกียรติเพื่อนร่วมงานที่เป็นสุภาพสตรีด้วยการพูดจาลามกอนาจาร
คานเยก่อวีรกรรมมากมายที่ทางทีม adidas ได้ร้องเรียนและเก็บบันทึกคำร้องไว้ ซึ่งบางอย่างล้ำเส้นเกินไปมาก เช่น การบังคับให้พนักงานที่มีเชื้อสายยิวจูบรูปของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อดีตผู้นำนาซีที่เป็นผู้สั่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทุกวัน
ไปจนถึงการเปิด ‘หนังโป๊’ ในระหว่างการประชุม บังคับให้ทีมงานและผู้บริหารดู (แม้กระทั่งก่อนการเซ็นสัญญากันในปี 2013)
เรียกได้ว่าหากใครคิดว่าเคยเจอคนที่เสื่อมแล้ว ขอให้มาถามคนที่ทำงานร่วมกับคานเยดู
เพียงแต่สิ่งที่ทำให้ adidas ต้องอดทนก็เป็นเพราะฝีมือของศิลปินผู้นี้เป็นของจริง
‘Yeezy’ สามารถสร้างปรากฏการณ์ขึ้นมาอีกครั้ง
Yeezy ปีศาจแห่งโชคลาภ
ภายหลังจากที่ใช้เวลาในการสร้างสรรค์ผลงาน รองเท้า Yeezy สายพันธุ์ใหม่ก็ได้เปิดเผยตัวตนเป็นครั้งแรกในการแสดงคอนเสิร์ต
คานเยขึ้นเวทีร่วมกับ ทราวิส สก็อตต์ และศิลปินแรปเปอร์คนอื่นๆ โดยที่พวกเขาใส่ Yeezy รุ่นใหม่ ซึ่งได้แจกจ่ายให้แก่เหล่าศิลปินรวมถึงกลุ่มคนรอบตัวของคานเยเพื่อช่วยกันสร้างกระแสขึ้นมา
วิธีการง่ายๆ แบบนี้ได้ผลเสมอ เมื่อถึงเวลาที่รองเท้าวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ มันก็หายไปจากหน้าร้านและบนร้านค้าออนไลน์ของ adidas อย่างรวดเร็ว และไปปรากฏอยู่ตามเว็บไซต์ของร้านค้ารีเซลเลอร์
Yeezy ใหม่กลายเป็นที่ต้องการของเหล่าสนีกเกอร์เฮด, แฟชั่นนิสตา และบรรดานักกีฬา รวมถึงคนที่เซ็นสัญญากับบริษัทคู่แข่งของ adidas เองก็ตาม
จากนั้นก็มีการเปิดตัว Yeezy Boost 350 รองเท้าสนีกเกอร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Nike Roshe Run รองเท้าวิ่งใส่สบายๆ ที่เปิดตัวในช่วงเวลาดังกล่าว แต่รองเท้าของคานเยไปไกลกว่านั้น เพราะมีการใช้นวัตกรรมใหม่ล่าสุดอย่างพื้น Boost ที่ทำจากโฟม รวมถึงส่วนอัปเปอร์ของรองเท้าที่ทำมาจากผ้าถัก
‘350’ อาจจะไม่ใช่รองเท้าที่เหมาะสำหรับการวิ่ง แต่เหมาะสำหรับทุกคนที่อยากได้รองเท้าเท่ๆ สักคู่ ซึ่งรองเท้ารุ่นนี้ได้รับความนิยมอย่างถล่มทลาย จนได้รับรางวัลจากการประกวดที่เป็นเหมือนงานประกาศรางวัลออสการ์ของคนทำรองเท้า
ความสำเร็จนี้ทำให้บรรดาผู้บริหารของ adidas เริ่มรู้ตัวว่า พวกเขาค้นพบห่านทองคำเข้าแล้ว เพียงแต่ห่านตัวนี้นิสัยอาจเสียสักหน่อย หากอยากได้ไข่ทองคำก็ต้องยอมทน
อย่างไรก็ดีด้าน adidas มีการร่างสัญญาฉบับใหม่กับคานเยในปี 2016 ซึ่งเริ่มมีการ ‘ปกป้อง’ บริษัทบ้างเพื่อไม่ให้พลอยเสื่อมเสียชื่อเสียงจากศิลปินที่ไม่มีใครคาดเดาอะไรได้ทั้งนั้น (เขาแต่งเพลงที่มีเนื้อทำนองว่าน่าจะมีโอกาสได้มีอะไรกับ เทย์เลอร์ สวิฟต์ เพราะทำให้มีชื่อเสียงขึ้นมา จนทำให้ศิลปินสาวคนดังต้องออกมาประณาม)
แม้ว่าทางด้านตัวแทนด้านกฎหมายของแรปเปอร์จะยืนยันว่าสิ่งเดียวที่จะทำให้มีการยกเลิกสัญญาระหว่างกันได้คือคานเยถือปืนไปยิงคน แต่ทาง adidas ยืนกรานว่าพวกเขาต้องการระบุข้อห้ามที่ชัดเจนเอาไว้เป็นรายการมากมาย
ด้วยความที่คานเยเริ่มประสบปัญหาจากการใช้จ่ายแบบไม่ระมัดระวัง ทั้งยังเคยเปิดเผยว่ามีหนี้สินถึง 53 ล้านดอลลาร์ จนภรรยาอย่าง คิม คาร์ดาเชียน ยังต้องเคยขอให้หยุดการเผาเงินทิ้ง (แต่เจ้าตัวก็บอกว่า ‘ไม่มีใครคุมข้าได้’)
ไม่นับการที่ออกมาเปิดเผยว่ามีปัญหาการติดแอลกอฮอล์และการดูหนังโป๊ ซึ่งมาจากการเป็นโรคซึมเศร้าหลังแม่จากไปอย่างกะทันหันในปี 2007
สุดท้ายทางด้านคานเยต้องยอมรับสัญญาที่เป็นเหมือนการทำทัณฑ์บนควบคุมความประพฤติและศีลธรรม (Moral Clause)
แต่ในทางกลับกันสัญญาฉบับนี้ทำให้ทั้งสองฝ่ายมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่
Yzy Hotline สายด่วนปัญหา Ye
เป้าหมายที่ adidas ตั้งไว้ร่วมกันกับแรปเปอร์ตัวพ่อคือการเพิ่มยอดขายของ Yeezy จาก 65 ล้านดอลลาร์ในปี 2016 ไปสู่พันล้านดอลลาร์ในปี 2021
โดยสิ่งแลกเปลี่ยนคือการที่เขาจะได้รับเงินการันตีขั้นต่ำ 10 ล้านดอลลาร์ และเงินส่วนแบ่งจากยอดขายจำนวน 15 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดง่ายๆ คือหากทำได้ตามยอด ‘พันล้าน’ Kanye จะได้รับเงินส่วนแบ่ง 150 ล้านดอลลาร์
สัญญานี้เป็นเหมือนการกล่าวคำสาบานแต่งงานกันระหว่างสองฝ่าย
ทางผู้บริหาร adidas ยังได้ส่งคนเข้าไปอยู่ในทีม Yeezy ของคานเยจำนวน 20 คน ซึ่งจะประจำการอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของ adidas ในสหรัฐอเมริกาด้วย เพื่อทำให้ทุกอย่างราบรื่นมากที่สุด (หรืออีกนัยอาจเป็นการส่งคนไปประกบเพื่อสอดส่องด้วย?)
ชีวิตของคานเยอาจมีปัญหาถึงขั้นที่ต้องหยุดการทัวร์หลังจากที่ไปก่อเหตุอื้อฉาวมากมาย หนักข้อถึงขั้นที่คุณหมอมาช่วยดูอาการแล้วแต่กลับอาละวาดใหญ่จนต้องเรียกตำรวจมาควบคุมสถานการณ์แทน สุดท้ายต้องเข้ารับการรักษาอย่างจริงจังในหลายอาการ รวมถึงโรคไบโพลาร์ที่ทำให้เขาไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตัวเองได้
แต่ยอดขายของ Yeezy กลับทะยานขึ้นไปเรื่อยๆ จนทำให้ adidas ที่แม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมของคานเยในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมันหอมหวานเสียจนทำให้ผู้บริหารคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่
กระนั้นก็มีการตั้งกลุ่มแชตขึ้นมาที่ชื่อว่า ‘Yzy Hotline’
กลุ่มแชตนี้ไม่ได้มีขึ้นเพื่อแจ้งข่าวสารความเคลื่อนไหวของ Yeezy แต่มีขึ้นเพื่อรายงานเกี่ยวกับตัวของ Ye โดยเฉพาะพฤติกรรมที่เป็นปัญหาต่อเพื่อนร่วมงาน โดยที่ปัญหานั้นหนักข้อมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเขาประสบความสำเร็จ adidas เองไม่คิดที่จะขัด แถมยังให้ทุกอย่างตามที่ร้องขอ
Yzy Hotline ในด้านหนึ่งจึงเหมือนเพื่อนคู่คิดของคานเยที่จะมีผู้บริหารคอยช่วยเหลือหรือสั่งการจัดการในสิ่งต่างๆ ที่ถูกร้อง ซึ่งสำหรับศิลปินจอมห่ามเวลานั้น adidas เป็นเหมือนสมาชิกคนเดียวในครอบครัวที่เขาเชื่อใจ
อีกด้านคือการจัดการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่รู้เรื่องของ Kanye เช่น เรื่องของการจ่ายเงินเดือนในแผนก ไปจนถึงการบริหารจัดการเว็บไซต์ที่ผิดพลาด ซึ่งครั้งหนึ่งเคยต้องจ่ายเงินเกือบ 1 ล้านดอลลาร์ จากปัญหาการจัดส่งรองเท้าไปยังลูกค้าที่ล่าช้า
แต่นั่นทำให้ Kanye อาจรู้สึกลำพองจนเรียกร้องมากขึ้นเรื่อยๆ และหนักขึ้นทุกที
ในปี 2019 เขาเรียกร้องขอตั้งแต่การจ่ายเงินล่วงหน้า 1 พันล้านดอลลาร์ ไปจนถึงการย้ายสำนักงานของ Yeezy ไปอยู่ที่เมืองโคดี (Cody) โดยที่ไม่ได้ปรึกษาทีมงานที่ทำงานร่วมกัน ซึ่ง adidas ยังยอมถึงขั้นจะแนะนำให้รู้จักกับเจ้าของโรงงานที่ผลิตรองเท้า และการให้งบพิเศษอีก 100 ล้านดอลลาร์ที่คานเยจะเอาไปใช้อะไรก็ได้ตามใจ เพราะเชื่อว่าได้ผลดีมากกว่าในการตลาด
adidas ไม่กล้าทิ้งผมหรอก
ยอดขายที่สวยงามของ Yeezy ในระดับที่ไปถึง 1.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 ทำให้ผลงานของ Kanye ที่เรียกตัวเองใหม่ว่า Ye มีสถานะที่ไม่ต่างอะไรจากเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยง adidas
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานใหญ่ที่เยอรมนีกังวลเช่นกัน และพยายามที่จะหาทางผ่องถ่ายอำนาจและพึ่งพา Ye ให้น้อยลง ซึ่งรวมถึงการร่วมมือกับศิลปินคนอื่นในการสร้างคอลเล็คชันใหม่ เช่น Beyoncé แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จนัก
แต่จุดแตกหักระหว่างทั้งสองเริ่มขึ้นขึ้นจากการที่ Ye พบว่า adidas มีการออกแบบรองเท้าที่คล้ายคลึงกับ Yeezy Slide รองเท้าแตะที่กลายเป็นไอเท็มสุดฮิตของคนทั่วโลก นั่นทำให้เขาโกรธอย่างมาก ความเชื่อใจที่มีต่อผู้บริหารระดับสูงซึ่งรวมถึงเว็กซ์เลอร์ได้หมดลง
Ye เริ่มสงครามของเขาทันทีทั้งการโจมตีผู้บริหารไปจนถึงบอร์ดบริหาร ก่อนจะลุกลามบานปลายใหญ่โตไปเรื่อยๆ
ในงาน Yeezy Fashion Show ที่กรุงปารีส เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เขาใส่เสื้อที่มีข้อความว่า ‘White Lives Matter’ ที่กลายเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งครั้งใหญ่ทันที ก่อนที่เรื่องจะลุกลามบานปลายใหญ่โต ไม่เพียงแค่ adidas แต่แบรนด์อื่นๆ ที่ร่วมงานกับเขาต่างก็ทยอยบอยคอตเขา
แรงกดดันนั้นทำให้ adidas ต้องออกมาส่งสัญญาณเตือนว่า ‘จะทบทวนความร่วมมือระหว่างกัน’ ซึ่งนั่นทำให้ Ye ตบะแตก เขาอาละวาดบนโซเชียลมีเดียแบบไม่มีใครหยุดได้ ทั้งยังเหยียดชาวยิว และแสดงออกชัดเจนว่าเป็นผู้ฝักใฝ่ฝ่ายขวา
ฟางเส้นสุดท้ายอยู่ที่การออกมาให้สัมภาษณ์ในรายการพอดแคสต์ ‘Drink Champs’ ที่นอกจากจะเล่าเรื่องทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับการที่มีชาวยิวเป็นผู้กุมอำาจต่างๆ ไปจนถึงการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ฆ่า จอร์จ ฟลอยด์ ที่เป็นชนวนของกระแส ‘Black Lives Matter’
และคำพูดท้าทาย “ต่อให้ผมพูดเหยียดคนยิว adidas ก็ไม่กล้าทิ้งผมหรอก”
ตัดบัวอย่าเหลือใย ตัด Ye ไปใยค้างคา
ในวันที่ 25 ตุลาคมปีกลาย adidas ตัดสินใจยุติความร่วมมือกับ Ye
ไม่มี Ye และ Yeezy อีกต่อไป เพราะแม้ว่าจะเป็นรายได้หลักสำคัญของบริษัทชนิดที่แทบจะหล่อเลี้ยงบริษัทได้ แต่สิ่งที่แรปเปอร์ทำซึ่งนับวันก็ยิ่งเหมือนสติแตกขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้ยักษ์ใหญ่จากเยอรมนีไม่สามารถที่จะจับมือที่แปดเปื้อนของเขาได้อีก
จริงอยู่ที่เรื่องรายได้สำคัญ ไหนจะมีเรื่องสต๊อกสินค้า Yeezy ที่ผลิตมาแล้วรอวางจำหน่ายอีกเป็นล้านคู่ ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ไม่นับการที่มีการดำเนินคดีระหว่างทั้งสองฝ่ายอีก
แต่การไม่มี Ye อยู่หมายถึงข่าวดีสำหรับคนทำงานบางส่วนที่เจ็บปวดและทุกข์ทนกับศิลปินผู้นี้มาแสนนาน
สิ่งที่เจ็บยิ่งกว่าคือการที่พวกเขาเชื่อว่าผู้บริหารก็รับรู้ทุกอย่างแต่ไม่ทำอะไรเลย ซึ่งสุดท้ายก็มีการรวมตัวกันฟ้องร้องต่อผู้บริหารที่ละเลยการทำหน้าที่ในการพิทักษ์คุณธรรมในองค์กร ปล่อยให้คนทำงานถูกรังแกแต่ตัวเองเอาหูไปนาเอาตาไปไร่
อย่างไรก็ดีดูเหมือน adidas กับ Ye จะยังไม่สามารถตัดขาดกันได้ง่ายๆ โดยมีการตกลงกันในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาในการจัดการปล่อยสต๊อกสินค้าออกมาจำหน่ายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะการค้างคากันไปแบบนี้ไม่เป็นผลดีกับใครเลย
ปรากฏว่ารองเท้า Yeezy ที่ถูกปล่อยออกมาในช่วงเวลา 2 เดือนสามารถทำรายได้ถึง 437 ล้านดอลลาร์ ช่วยบรรเทาปัญหาของ adidas ที่เดิมคาดว่าจะขาดทุนถึง 700 ล้านดอลลาร์เหลือเพียงขาดทุนแค่ 100 ล้านดอลลาร์
ความสำเร็จดังกล่าวยังเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสำหรับคนที่รัก Yeezy แล้ว พวกเขาไม่สนใจหรอกว่า Ye จะไปทำอะไรเลวร้ายที่ไหน ขอแค่ได้ซื้อผลงานของเขามาใส่ก็พอ เหมือนเป็นการตอกย้ำว่าแบรนด์ Yeezy นั้นอยู่เหนือกฎเกณฑ์ใดๆ
การออกมาพูดของ บียอร์น กูลเดน ซีอีโอในรายการพอดแคสต์ในทำนองชื่นชมความคิดสร้างสรรค์และยกย่องว่าการร่วมมือกันกับ Ye ถือเป็นหนึ่งในการคอลแลบที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังพูดในทำนองว่า Ye ‘โชคร้ายมาก เพราะผมไม่คิดว่าเขาจะหมายความอย่างที่พูดจริงๆ’
ทำให้น่าคิดว่าอาจมีการ ‘รีเทิร์น’ กันอีกครั้งหรือไม่ในอนาคต? แม้ว่าจะมีการออกแถลงของ adidas ตามมาว่า ‘จุดยืนยังเหมือนเดิม’
แต่อย่าลืมว่า Impossible is Nothing นะ
อ้างอิง:
- https://www.nytimes.com/2023/10/27/business/kanye-west-adidas-yeezy.html
- https://hypebeast.com/2023/10/ye-kanye-west-adidas-yeezy-new-york-times-investigation-misconduct-antisemitism
- https://www.theguardian.com/music/2023/sep/20/adidas-chief-exec-kanye-west-didnt-mean-what-he-said-with-antisemitic-comments