เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (19 ธันวาคม) ทีมช่างภาพข่าว THE STANDARD เดินทางไปยัง ‘ปางช้างภัทร’ ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามการดูแลรักษาลูกช้างป่า ‘ช้างกันยา’ ซึ่งเป็นลูกช้างที่พลัดหลงจากแม่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งได้รับการดูแลสุขภาพจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, สมาคมสหพันธ์ช้างไทย และปางช้างภัทร
สำหรับ ‘ช้างกันยา’ มีแม่ช้างวันดีเป็นแม่รับ โดยเลี้ยงคู่กับลูกช้างธาริน สำหรับช้างกันยาพบว่ามีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งเรื่องน้ำหนักตัว, การเรียนรู้สัญชาตญาณของสัตว์ มีความร่าเริงเหมือนเด็กเล็ก โดยจะหยอกล้อแกล้งกับช้างธารินตลอดทั้งวัน นอกจากกินนมของแม่วันดีแล้ว ช้างกันยายังกินนมที่ทางเจ้าหน้าที่ชงเสริมให้อีกวันละประมาณ 6 ลิตร โดยล่าสุดการชั่งน้ำหนักช้างกันยาในวันนี้มีน้ำหนักตัว 88.2 กิโลกรัม
ด้าน ธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย และเจ้าของปางช้างภัทรฟาร์ม กล่าวว่า ทางสมาคมสหพันธ์ช้างไทยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ดูแล ‘ช้างกันยา’ อย่างเต็มที่ ใช้ทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อให้ช้างกันยามีสุขภาพแข็งแรง เติบโต มีพัฒนาการที่ดีและยังเป็นการศึกษาเรียนรู้การเลี้ยงช้างพลัดหลงโขลงที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต
เนื่องจาก ‘ช้างกันยา’ เป็นช้างที่ถูกตั้งสมมติฐานว่าเป็นช้างที่คลอดก่อนกำหนด เพราะน้ำหนักตัวแรกเกิดอยู่ที่ประมาณ 60 กิโลกรัม อีกทั้งสภาพร่างกาย เช่น หูที่ไม่สมบูรณ์ ฝ่าเท้าไม่เต็ม ผิวหนังมีความบางเหมือนกระดาษแก้ว และขนขาวทุกเส้น ทุกฝ่ายจึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดอาการท้องเสีย
จนถึงขณะนี้ได้เลี้ยงดูช้างกันยามาเป็นเวลา 37 วัน น้ำหนักตัวเมื่อมาถึงอยู่ที่ 77 กิโลกรัม ตอนนี้น้ำหนักเพิ่มขึ้น11 กิโลกรัม พบว่าช้างกันยาดูดนมจำนวน 35-45 ครั้งต่อวัน มากกว่าช้างธารินที่เป็นลูกจริงๆ ของแม่วันดี ที่เกิดมามีความสมบูรณ์ มีพัฒนาการเร็ว จะดูนมแม่ประมาณ 25-30 ครั้งเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จากนี้จะเริ่มหัดให้กินผลไม้ กล้วย งาดำ ถั่วนึ่ง เพื่อให้มีสารอาหารครบถ้วน โดยตั้งเป้าให้มีน้ำหนัก 110 กิโลกรัม ซึ่งถือเป็นเกณฑ์ที่ทุกฝ่ายสบายใจ เนื่องจากเป็นเกณฑ์ที่ระบบต่างๆ ในร่างกายดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 40 วันจะมีน้ำหนักตัวตามเกณฑ์
ขณะนี้ปางช้างภัทรเปิดให้เข้าเยี่ยมสังเกตพัฒนาการของช้างกันยาและเพื่อนๆ ได้แก่ ช้างธาริน, ช้างเมฆา โดยไม่อนุญาตให้มีการสัมผัสตัวลูกช้างและไม่อนุญาตให้ไลฟ์ งดส่งเสียงดังที่จะรบกวนช้าง ในเวลา 11.00-12.00 น. ของทุกวัน