×

กัณวีร์ตั้งคำถามนายกฯ ไทยไม่แสดงบทบาทนำในการสร้างสันติภาพ หลังเข้าพบ มิน อ่อง หล่าย ส่วนตัว

โดย THE STANDARD TEAM
08.11.2024
  • LOADING...
กัณวีร์ สืบแสง

วันนี้ (8 พฤศจิกายน) กัณวีร์ สืบแสง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวถึงกรณีที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือเป็นการส่วนตัวกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ในระหว่างการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 10 หรือ ACMECS Summit ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน 

 

กัณวีร์กล่าวว่า ทุกครั้งที่ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศหลังจากที่ตัวเองนำการรัฐประหารยึดอำนาจจากประชาชนเมื่อปี 2021 นั้นมีนัยที่สำคัญทั้งสิ้น และการไปร่วมการประชุม ACMECS Summit ถือเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างที่ต้องวิเคราะห์กันให้ครอบคลุม 

 

“พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย พยายามปฏิเสธการออกนอกประเทศมาโดยตลอดหลังยึดอำนาจ เพราะต้องเป็นตัวหลักปราบปรามกองกำลังกลุ่มต่อต้านทั่วประเทศ และกลัวเพลี่ยงพล้ำทางการทหาร การใช้กำลังอย่างเด็ดขาดในการเข้าโจมตีทั้งทางบกและทางอากาศ การปราบปรามอย่างรุนแรงต่อพลเรือนผู้ต่อต้านและผู้บริสุทธิ์ การต้องคงกำลังตรึงพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญทางทหารจากการรุกคืบของกลุ่มต่อต้านทั้งหลาย ทำให้ที่ผ่านมา พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ต้องหมกมุ่นกับกิจการภายในประเทศเป็นเวลามากกว่า 3 ปี”

 

กัณวีร์ระบุว่า การเดินทางไปร่วมประชุมที่จีนของผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา จึงต้องวิเคราะห์ให้ดี เพราะอิทธิพลจีนนั้นมากมายเพียงใด ผู้ที่ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้าพบด้วยต้องวางจุดยืนอย่างไร มีนัยอะไรกับการเดินทางของนายพลที่ยึดอำนาจมาคนนี้ รวมถึงการปฏิเสธเข้าร่วมอย่างเป็นทางการของรัฐบาลทหารเมียนมาจากการประชุมสุดยอดต่างๆ สะท้อนให้เห็นอย่างไร กับการที่ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เดินทางไปด้วยตนเอง

 

“ต้องวิเคราะห์ให้ออกว่าไทยเราควรแสดงบทบาทอย่างไรต่อกรอบความร่วมมือทั้งแบบทวิภาคีกับเมียนมา พหุภาคีแบบอนุภูมิภาคและภูมิภาค รวมถึงระดับใหญ่ในเวทีระหว่างประเทศ”

 

สำหรับกรณีที่นายกรัฐมนตรีของไทยไปพบปะกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เป็นการส่วนตัว แล้วออกมาพูดกับสื่อว่าจะสนับสนุนสันติภาพและสนับสนุนกำหนดการเลือกตั้งในเมียนมาตามที่ทหารเมียนมากำหนดนั้น กัณวีร์มองว่า ฝ่ายที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีที่ให้นายกรัฐมนตรีออกมาพูดอย่างนี้ อ่อนมากเรื่องความเข้าใจกับสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อนในเมียนมา ที่ทั้งกระทบกับไทยและหลากหลายประเทศในภูมิภาคโดยตรง

 

กัณวีร์ตั้งคำถามว่า ทำไมนายกรัฐมนตรีไม่พูดว่า จริงๆ แล้วไม่ต้องการเข้าพบเป็นการส่วนตัว แต่เพราะสถานการณ์ในประเทศเมียนมานั้นกระทบต่อไทยและประเด็นในเวทีระหว่างประเทศ ดังนั้นจำเป็นต้องหาเวลาเพื่อเข้าไปพูดคุยกับผู้นำทหารของเมียนมาเรื่องสันติภาพ และไทยต้องขอแสดงบทบาทนำในเรื่องนี้

 

“ผมช่วยได้แค่เบื้องต้น เพราะเป็นสิ่งที่รับไม่ได้จริงๆ นายกรัฐมนตรีไทยไปพบกับผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเป็นการส่วนตัวแบบไม่มีนัยได้อย่างไร ทั้งที่เรดาร์เวทีโลกจับจ้องกับทหารเมียนมาที่เข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ในประเทศตนเอง ทำให้คนเกือบ 16 ล้านคนได้รับผลกระทบ 3 ล้านกว่าคนต้องพลัดถิ่นภายในประเทศ และมากกว่า 3 แสนคนต้องลี้ภัยไปยังประเทศต่างๆ” กัณวีร์กล่าว

 

กัณวีร์ยังตั้งคำถามว่า คณะทำงานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีไทยคิดไม่ออกหรือคิดไม่ได้ กับท่าทีของผู้นำไทยที่ควรมีต่อผู้นำเมียนมา ส่วนเรื่องสนับสนุนกำหนดการเลือกตั้งที่วางโดยทหารเมียนมานั้น ฟังแล้วอยากล้มกระดานงานการต่างประเทศของไทยที่อ่อนข้อ ทำให้ไทยถูกจับจ้องและถูกมองว่าเข้าร่วมสถาปนาพวกเผด็จการทหารที่เข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์

 

กัณวีร์เรียกร้องให้ทีมงานทั้งหมดของนายกรัฐมนตรีไทยวิเคราะห์ให้ดี ขออย่าทำอย่างนี้อีก เพราะอับอายขายหน้าคนทั้งโลก การที่ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เลือกพบใคร จะเป็น ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย เป็นการทูตที่มีนัยให้ถูกตีความว่า ไม่เป็นไปตามหลักการเสรีนิยมที่ไทยชอบแสดงและพูดว่าเราเป็น แต่กลับกระทำขัดกันเอง

 

“ไม่รู้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะเอาอะไรอีก คราวที่แล้วก็การทูตแบ่งปันผลประโยชน์ทางทะเลเพื่อแก้ไขข้อพิพาทกับกัมพูชา คราวนี้การทูตเพื่อลดทอนหลักการเสรีนิยม เข้าพูดคุยกับผู้นำเผด็จการที่เข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ แถมมีติดปลายนวมโดยการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมผ่านองค์กรทหารเมียนมาอย่างกาชาดเมียนมา ตอบคำถามให้ได้นะครับ ทั้งนายกรัฐมนตรีและทีมงานนายกรัฐมนตรีไทย” กัณวีร์กล่าว

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X