×

กัณวีร์มองการตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษาประธานอาเซียน ยิ่งทำให้กลไกสร้างสันติภาพล่าช้าขึ้น

โดย THE STANDARD TEAM
17.12.2024
  • LOADING...
กัณวีร์

วันนี้ (17 ธันวาคม) กัณวีร์ สืบแสง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม แสดงความเห็นกรณี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ตั้ง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวประธานอาเซียน โดยระบุว่า มาเลเซียเจอโจทย์ไม่ง่ายกับการเป็นประธานอาเซียนในปี 2025 เพราะการขับเคลื่อนอาเซียนซึ่งเป็นความร่วมมือระดับภูมิภาคของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ กับการแก้ไขประเด็นร้อนๆ ในภูมิภาคอย่างสถานการณ์ในเมียนมา และการตกปากรับคำของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่จะใช้อาเซียนเป็นกรอบความร่วมมือในการผลักดันสันติภาพปาตานีหรือชายแดนใต้

 

กัณวีร์กล่าวว่า เรื่องสถานการณ์เมียนมา มีความพยายามของประธานอาเซียนที่ผ่านมา 2 ครั้งคืออินโดนีเซียและ สปป.ลาว ที่จะใช้อาเซียนผลักดันสันติภาพในเมียนมา สิ่งเดียวที่ทำได้และคนติดหูประจำคือฉันทมติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus: 5PC) แต่เหมือนว่าจะขยับช้า และถูกมองจากเวทีระหว่างประเทศถึงความพยายามที่ไร้ผลในทางปฏิบัติ

 

“วันนี้เราได้ยินสัญญาณทางอ้อมผ่านประธานอาเซียนคนถัดไปคือมาเลเซีย ในการที่จะสร้างสันติภาพผ่านกลไกอาเซียน เพราะพูดออกมาอย่างโจ่งแจ้งว่าจะมีการแต่งตั้งคุณทักษิณเป็นประธานอาเซียน เพื่อร่วมสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” กัณวีร์กล่าว

 

กัณวีร์กล่าวว่า ตนเองพยายามโยงเรื่องสันติภาพเมียนมาและสันติภาพชายแดนใต้กับการใช้อาเซียน ปัญหาหลักของอาเซียนคือหลักการสำคัญเรื่องหลักการไม่แทรกแซง (Non-interference) ซึ่งถูกวางไว้ในกฎบัตรอาเซียนตั้งแต่แรก ความกังวลของการที่จะไม่สามารถตั้งอาเซียนได้เพราะกลัวการแทรกแซงและการทำให้ประเทศสมาชิกระคายเคือง จึงถูกวางเป็นหลักการสำคัญและทำให้การจัดตั้งเมื่อปี 1967 เป็นที่สำเร็จ

 

กัณวีร์ย้ำว่า หากต้องการใช้อาเซียนแก้ไขปัญหา ต้องเปลี่ยนหลักการจากการไม่แทรกแซงเป็นการแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์ (Constructive Intervention) ให้ได้ แม้จะยากแต่ต้องทำ ต้องใช้ความกล้าหาญของผู้นำประเทศทั้ง 10 ประเทศ และอาจเป็น 11 ประเทศ เมื่อติมอร์-เลสเตจะเข้ามาร่วมเร็วๆ นี้ ในการปรับปรุงหลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของอาเซียนเสียก่อน

 

“กลับมาที่การประกาศแต่งตั้งคุณทักษิณเป็นที่ปรึกษาประธานอาเซียนอย่างมาเลเซียในปีหน้า เพื่อสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมจึงมึนหนักกับการเดินเกมด้านนี้ของทั้งสองประเทศจริงๆ ปัญหาอาเซียนข้างบนหนักแล้ว เอาคุณทักษิณมาเป็นสัญลักษณ์ในการสร้างสันติภาพในกรอบอาเซียนยิ่งทำให้งงใหญ่” กัณวีร์กล่าว

 

กัณวีร์ระบุว่า กลไกภายในประเทศไทยในการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ยังไม่ขับเคลื่อน การเจรจาหยุดชะงักตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เปลี่ยนเป็นรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ไม่เคลื่อนที่ไปไหน นิ่งสงบทั้งไทยทั้งมาเลเซีย ตอนนี้จะเอาอาเซียนเข้ามา ก็ต้องติดตามกัน

 

“คนเดิม รัฐบาลเดิม กลไกเดิม แถมเอากรอบภูมิภาคเข้ามาคลุมอีกครั้ง เพราะมาเลเซียเป็นประธาน แล้วจะทำให้กลไกช้ากันไปอีก เคยคิดบ้างหรือไม่ว่าเอาประชาชนในพื้นที่มาเกี่ยวข้อง ผมไม่เห็นนะว่าจะคิดอย่างนี้สักครั้ง” กัณวีร์กล่าว

 

กัณวีร์กล่าวด้วยว่า ปัญหาอาเซียนมีมากมายหลายหลากอยู่แล้ว อย่าทำให้มันเป็นแค่การจับมือถ่ายรูปกันอย่างเดียวเลย เปลี่ยนหลักการเสีย และต้องสร้างความต่อเนื่องของการทำงานแบบทรอยก้าให้ได้เสียก่อน ก่อนที่คิดจะหยิบกลไกนี้มาใช้อย่างสร้างสรรค์

 

“ผมว่าคงได้เห็นการนำอาเซียนมาแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (OCA) และการแต่งตั้งสมเด็จฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา บิดาของ ฮุน มาเนต นายกฯ กัมพูชา มาเป็นที่ปรึกษาประธานอาเซียนอีกคน” กัณวีร์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising