การรับชม ‘วิดีโอ’ ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมออนไลน์ยอดนิยมของผู้คนทั่วโลก จากรายงาน Digital 2023 Deep-Dive: Trends in Online Video Preferences โดย DataReportal พบว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตวัยทำงานที่ดูวิดีโอออนไลน์ในแต่ละสัปดาห์ เพิ่มขึ้นจาก 91.9% ในรายงานปีที่แล้ว เป็น 92.8% ในปัจจุบัน
จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของทั่วโลกโดย We Are Social ที่เปิดเผยล่าสุดในเดือนมกราคม 2566 พบว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไป ใช้เวลามากกว่า 1 ชั่วโมงครึ่งต่อวันไปกับการดู ‘บริการสตรีมมิง’
‘WeTV’ Top 3 แพลตฟอร์มสตรีมมิงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แน่นอนหากหันกลับมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อถามว่าใครคือหนึ่งในแพลตฟอร์มยอดนิยมในวันนี้ คำตอบในใจใครหลายคนย่อมหนีไม่พ้น ‘WeTV’ อย่างแน่นอน
เรื่องนี้สะท้อนได้จากการที่ WeTV ได้ขึ้นแท่น ‘Top 3’ ของแพลตฟอร์มผู้ให้บริการสตรีมมิงชั้นนำในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในไทยและอินโดนีเซีย โดยมีฐานผู้ใช้งานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่น่าสนใจคือ WeTV มีรายได้จากการให้บริการสมาชิกแบบ Subscription เติบโตถึงกว่า 40% ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนผู้ใช้งาน MAU (Monthly Active User) ที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 20% ในส่วนของระยะเวลาในการรับชมคอนเทนต์ซีรีส์จีนก็เพิ่มขึ้นถึง 15% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2564
ส่งผลให้ระยะเวลาออกอากาศ (Aired-Duration) มินิซีรีส์จีนจาก WeTV เติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 420% สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการและความนิยมคอนเทนต์ประเภทวิดีโอสั้น (Short Video) ที่เพิ่มสูงขึ้น
“ตอนนี้ WeTV ได้มาถึงหมุดหมายที่ตั้งใจไว้แล้ว คือการเป็น Top 3 แพลตฟอร์มสตรีมมิงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปัจจุบันในภาพรวมผู้ชมใช้เวลากับ WeTV ประมาณ 120 นาทีต่อวัน” กนกพร ปรัชญาเศรษฐ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและการขาย และผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
ก้าวต่อไปในระดับภูมิภาค
การเติบโตอย่างน่าประทับใจทำให้ WeTV เดินหน้าแผนธุรกิจรุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2566 ผนึกกำลังกับพันธมิตรในหลากหลายธุรกิจ มุ่งเสิร์ฟคอนเทนต์คุณภาพ โดยเฉพาะคอนเทนต์จีนที่ถือเป็นจุดแข็งของ WeTV เพื่อรักษาและขยายฐานคอมมิวนิตีคนรักคอนเทนต์เอเชียให้เติบโต โดยทิศทางกลยุทธ์นั้นจะเกิดขึ้นใน 2 เรื่องหลัก คือ
1. เตรียมจับมือพันธมิตรทั่วภูมิภาค WeTV เตรียมจัดกิจกรรมโรดโชว์รายไตรมาสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสานต่อความร่วมมือกับแบรนด์และเอเจนซีโฆษณาชั้นนำระดับโลก รวมถึงเพิ่มโอกาสด้านพันธมิตรใหม่ๆ ทั้งกลุ่มเอเจนซีโฆษณา เช่น GroupM, Omnicom Media Group (OMG) และ Dentsu
รวมถึงกลุ่มนักโฆษณาและการตลาดในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มองเห็นศักยภาพจากการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายผ่าน WeTV นอกจากนี้ภายใต้การขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงบนโทรศัพท์มือถือ WeTV ยังเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งกับผู้ให้บริการการสื่อสารและโทรคมนาคมชั้นนำในแต่ละประเทศ เช่น Telkomsel และ IndiHome ในประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้ง AIS, True และ Dtac ในประเทศไทย
2. ผลิตคอนเทนต์คุณภาพ WeTV เตรียมผลิต WeTV ORIGINAL ของแต่ละประเทศ อีกทั้งนำเสนอคอนเทนต์ความบันเทิงอื่นๆ ที่มีคุณภาพสู่ผู้ชมทั่วภูมิภาค เพื่อตอบรับกับการขยายตัวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเนื่องมาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต ความต้องการคอนเทนต์คุณภาพที่เพิ่มขึ้น และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลที่รวดเร็วของคอนเทนต์ในตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์
นอกจากนี้ WeTV ยังมุ่งมั่นขยายฐานผู้ชมในระดับภูมิภาคให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น อย่างเช่นเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Tencent Video ได้จับมือกับแพลตฟอร์มสตรีมมิงอย่าง Rakuten Viki เพื่อนำเสนอซีรีส์จีนให้กับผู้ชมในระดับภูมิภาคได้ชมกันอย่างจุใจ
ผู้นำในตลาดคอนเทนต์จากเอเชีย
สำหรับในประเทศไทย ข้อมูลจากผลการศึกษา The Future of TV 2022 ฉบับล่าสุดโดย The Trade Desk และ KANTAR ชี้ให้เห็นว่าคนไทยจำนวนราว 26 ล้านคน ใช้เวลาไปกับแพลตฟอร์ม OTT มากถึง 1.4 พันล้านชั่วโมงต่อเดือน อีกทั้งยังมีคนไทยถึง 20% ที่ใช้เวลาไปกับ OTT ประมาณ 4 ชั่วโมงต่อวัน หรือมากกว่านั้น
ในส่วนของ WeTV ในไทยนั้น กนกพรได้เผยว่า WeTV ถือเป็นผู้นำในตลาดคอนเทนต์จากเอเชีย ด้วยคลังคอนเทนต์คุณภาพแบบถูกลิขสิทธิ์ที่คัดสรรมาแล้ว ทั้งซีรีส์ อนิเมะ รายการวาไรตี้ จากจีน ไทย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น รวมกว่า 1,200 คอนเทนต์ โดยเฉพาะกลุ่มคอนเทนต์จีนที่มีอยู่บนแพลตฟอร์มถึง 50% และได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานมากที่สุด รองลงมาคือคอนเทนต์ไทยและอนิเมะ
นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมา WeTV ยังได้เพิ่มคอนเทนต์ประเภทมินิซีรีส์จีนมากกว่า 90 เรื่อง เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานที่มีเวลาจำกัด เพราะเป็นซีรีส์ขนาดสั้นที่สนุก ย่อยง่าย ใช้เวลาไม่มาก เหมาะแก่การพักผ่อน
“เราพบว่ามินิซีรีส์จีนได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี ซึ่งมาจากพฤติกรรมการรับชมที่แตกต่างกัน อย่างมินิซีรีส์จะมีระยะเวลาต่อตอน 5-10 นาที ถึงจำนวนตอนจะดูเยอะ แต่จริงๆ ใช้เวลาต่อเรื่องเหมือนดูภาพยนตร์ 1 เรื่อง ซึ่งเหมาะกับคนที่อยากดูซีรีส์ที่ย่อยง่าย ไม่ใช้เวลามาก แต่หากอยากดูคอนเทนต์ฟอร์มยักษ์ก็จะไปดูซีรีส์ปกติแทน”
สำหรับ WeTV สิ่งที่กลายเป็นภาพจำสำหรับผู้ชมในประเทศไทยคือการเป็น ‘เจ้าแห่งคอนเทนต์จีน’ ซึ่งเป็นผู้ปลุกกระแสซีรีส์จีนในไทยให้กลับมามีสีสัน และยังคงครองเจ้ายุทธจักรนี้มาได้อย่างต่อเนื่อง
โดยในปีที่ผ่านมา ซีรีส์จีนยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จาก ดาราจักรรักลำนำใจ ซีรีส์แนวย้อนยุคที่ขึ้นแท่นเป็นซีรีส์จีนอันดับ 1 แห่งปี 2565 และยังกลายเป็นซีรีส์ที่ทุบสถิติยอดวิวสูงสุดใน WeTV ตลอดกาล
ทางด้านซีรีส์ WeTV ORIGINAL ไทยที่ WeTV ได้ร่วมมือกับพันธมิตรผู้ผลิตชั้นนำของไทยมากมาย เช่น CHANGE2561, กันตนา, ทีวี ธันเดอร์ และกองทัพ โปรดักชั่น ก็ยังได้รับความนิยมจากผู้ชมต่อเนื่อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลรักรุ่นพี่ ซีรีส์วายยอดนิยมที่ดังไกลไปทั่วเอเชีย และได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากแฟนๆ ผ่านการจัดกิจกรรมทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงล่าสุดกับซีรีส์ เมียหลวง ที่สร้างกระแสไปทั่วโลกโซเชียล และได้รับความนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศด้วยการครองอันดับ 1 ในหลายพื้นที่ให้บริการ ทั้งไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา
“หนึ่งในความตั้งใจของ WeTV ประเทศไทย คือการทำให้คอนเทนต์ไทยไปสู่สายตาของชาวโลก ซึ่งประสบความสำเร็จแล้วกับ กลรักรุ่นพี่ และ เมียหลวง ซึ่งในปีนี้เราจะเดินหน้าผลักดันอีก 2 เรื่อง โดยเราจะทำงานกับบริษัทแม่ที่จีนเพื่อค้นหาคอนเทนต์ยอดนิยนที่จะเหมาะสำหรับขยายออกนอกประเทศไทย”
เสริมความแกร่งด้วยกลยุทธ์จับมือพันธมิตร ไม้เด็ดสร้างการเติบโตทุกมิติ
สำหรับในปี 2566 กนกพร เผยว่า WeTV ประเทศไทยจะเดินหน้าตามแผนธุรกิจที่ประกาศไว้ ทั้งการสานต่อความร่วมมือกับพันธมิตร โดยในปีที่ผ่านมาเราประสบความสำเร็จในด้านการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อรองรับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งานที่หลากหลาย รวมถึงพันธมิตรด้านสื่อและกลุ่มสถานีโทรทัศน์ในการขยายการเข้าถึงคอนเทนต์ของผู้ชมในทุกรูปแบบ
ที่ผ่านมาในส่วนของพันธมิตรในกลุ่ม Telco ได้มีการจับมือในการขยายแพ็กเกจ Subscription ไปสู่กลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบ้านด้วย เนื่องจากพบว่ามีโอกาสจากเทรนด์การรับชมคอนเทนต์ผ่านจอทีวี ซึ่งปีนี้ก็จะมีการขยายความร่วมมือต่อไป
ในด้านกลุ่มสถานีโทรทัศน์ กนกพรยกตัวอย่างช่อง 8 ที่ได้นำซีรีส์จีน ข้านี่เเหละองค์หญิงสาม ไปออกอากาศ สิ่งที่สะท้อนกลับมาอย่างชัดเจนคือ ทั้งที่ซีรีส์จบไปแล้วกว่า 1 ปี แต่การมาฉายบนทีวีอีกครั้งทำให้ผู้ชมกลับมาดูใน WeTV ด้วย
“การจับมือกับกลุ่มสถานีโทรทัศน์ถือเป็นการเสริมซึ่งกันและกัน พาร์ตเนอร์ก็จะได้รับจุดเด่นในการสร้างตารางเวลาที่ชัดเจนด้วย ที่สำคัญเอาพากย์ไทยไปใช้ก็ลดต้นทุนด้วย ขณะที่ WeTV ก็ได้ขยายฐานผู้ชมและรีมายด์แบรนด์ เรียกว่า Win-Win ทั้ง 2 ฝ่าย”
ในส่วนของเอเจนซีโฆษณา ปีที่ผ่านมาได้มีการทำ Branded Channel เพื่อตอบโจทย์การเปิดตัวสินค้าใหม่ ซึ่งพบว่าแบรนด์อื่นๆ ก็ให้ความสนใจเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการทำ Digital Tie-in สำหรับลูกค้าที่อยากนำสินค้าเข้าไปโปรโมตหลังจากจบช่วงถ่ายทำของซีรีส์ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้คนไทยจะยังชื่นชอบคอนเทนต์ฟรี แต่นี่ก็ถือเป็นโอกาสของ WeTV รวมไปถึงแบรนด์ต่างๆ ด้วย เพราะ “WeTV มีอัตราการดูโฆษณาจนจบมากกว่า 95% ในขณะที่กลุ่มผู้ชมนั้นกว่า 75% อยู่ในช่วงอายุ 18-45 ปี ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ”
ตอกย้ำการเป็น ‘เจ้าแห่งคอนเทนต์จีน’
ในส่วนของคอนเทนต์ WeTV จะเดินหน้าตอกย้ำการเป็น ‘เจ้าแห่งคอนเทนต์จีน’ ได้เตรียมทัพคอนเทนต์ที่ผู้ชมรอคอยไว้อย่างจุใจ คับคั่งไปด้วยนักแสดงระดับแนวหน้า หลากหลายแนว ตั้งแต่โรแมนซ์ แฟนตาซี หรือแม้แต่ซีรีส์กำลังภายใน
โดยมีซีรีส์ที่เตรียมนำลงแพลตฟอร์ม เช่น Wonderland of Love, Snow Eagle Lord และ Sword and Fairy ซึ่งเป็นซีรีส์แฟนตาซีที่ดัดแปลงมาจากเกม RPG นำแสดงโดย สวีข่าย
ส่วน WeTV ORIGINAL ไทยที่จับมือกับพันธมิตรผู้ผลิตชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์รักโรแมนติก เด็กฝึกหน้าใส เติมหัวใจนายหญิง ผลิตโดย จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์ อินเตอร์เนชั่นแนล และซีรีส์ตลกผสมแอ็กชัน แก๊งข้าใครอย่าเตะ!! ผลิตโดย ภาพดีทวีสุข ควบคู่ไปกับการเติมซีรีส์ไทยคุณภาพลงแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง
โดยล่าสุดได้นำซีรีส์วายไทย ค่อยๆ รัก Step By Step ซึ่งเป็นผลงานการผลิตของ Dee Hup House ผู้สร้างผลงานคุณภาพ นับสิบจะจูบ Lovely Writer ที่ออกอากาศทาง WeTV และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปี 2564 ร่วมกับ JustUp โดยจะเริ่มออกอากาศเวอร์ชัน Uncut ผ่านทาง WeTV ในเดือนเมษายนนี้
ซึ่งการผลักดันของ WeTV ก็ถือเป็นการส่งเสริมซีรีส์วายในฐานะ Soft Power ของไทยในอุตสาหกรรมบันเทิงด้วย โดยปีที่ผ่านมา WeTV ได้จับมือกับพาร์ตเนอร์ในการทำ ‘Content Licensing’ นำซีรีส์วายไทยไปสู่ตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และในปีนี้ก็จะเดินทางต่อไป
‘คอมมิวนิตี’ อีกหนึ่งลายเซ็นความสำเร็จของ WeTV
สำหรับ WeTV อีกหนึ่งความสำเร็จที่สร้างความแข็งแรงให้กับ WeTV คือ ‘คอมมิวนิตี’ ที่แข็งแรงเป็นอย่างมาก ซึ่ง WeTV จะเดินหน้าสร้างให้เหนียวแน่นมากขึ้นทั้งในแอปและนอกแอป
อย่างในแอปเองก็เดินหน้าเพิ่มฟีเจอร์ที่กระตุ้นการสร้าง Engagement ร่วมกัน ส่วนนอกแอปก็จะมีการจัดกิจกรรมในทุกๆ เดือน รวมไปถึงการทำ WeTV AWARDS ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 แล้ว
“WeTV AWARDS มีคนที่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นทุกปี ซึ่งครั้งล่าสุดเราได้ใช้วิธีรวมคะแนนจากหลากหลายภาคส่วน เพื่อสะท้อนถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริงๆ”
จะเห็นได้ว่าจากทิศทางการดำเนินงานในปี 2566 กลยุทธ์ Partnership ถือเป็นแกนกลยุทธ์หลักในการสร้างการเติบโตให้กับ WeTV เพราะจะเป็นช่องทางในการสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ได้ในหลากหลายรูปแบบ
ด้วยส่วนผสมของความเข้าใจตลาด ความแข็งแกร่ง คอมมิวนิตี ความพร้อมของ In App Feature และ Creativity ต่อยอดให้เกิดโมเดลทางธุรกิจ หรือความร่วมมือรูปแบบใหม่ๆ ที่แตกต่างกับที่อื่น ส่งให้ WeTV เป็นแพลตฟอร์มที่จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับลูกค้า นักการตลาด และเอเจนซีชั้นนำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับผู้ชมสามารถติดตามชมผลงานคอนเทนต์คุณภาพจากทั่วทั้งเอเชียได้ที่แอปพลิเคชัน WeTV และ www.WeTV.vip พร้อมติดตามข่าวสารและกิจกรรมผ่านทางโซเชียลมีเดีย WeTV Thailand ได้ทุกช่องทาง
อ้างอิง: