วันนี้ (3 สิงหาคม) กัณวีร์ สืบแสง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม เปิดเผยว่า วานนี้ (2 สิงหาคม) ตนเองได้ส่งจดหมายด่วนทางอีเมลไปยังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เวนิส (Venice Commission) หรือคณะกรรมาธิการแห่งสหภาพยุโรปเพื่อประชาธิปไตยโดยกฎหมาย ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของสภายุโรปในเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ กรณีที่ศาลรัฐธรรมของไทยจะมีการวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลในวันที่ 7 สิงหาคมนี้
กัณวีร์ระบุว่า ส่งจดหมายนี้ในฐานะสมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งของไทยที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ต้องการแสวงหาหลักการและมาตรการที่ตรงไปตรงมาในระบอบประชาธิปไตย จึงขอให้คณะกรรมาธิการเวนิสมีความเห็นทางกฎหมาย Amicus Brief ต่อการตัดสินยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งได้รับความสนใจจากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศที่เห็นคุณค่าทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญของไทยเป็นสมาชิกของสถาบันศาลรัฐธรรมนูญระดับโลก และไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมาคมศาลรัฐธรรมนูญแห่งเอเชียและสถาบันเทียบเท่า (AACC) ครั้งที่ 6 ในเดือนกันยายนนี้ จึงเห็นว่าคณะกรรมาธิการเวนิสควรจะได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงในคดียุบพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 และมีข้อสงสัยว่า การที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่จะมีการหารือถึงการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญภายใต้หลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน และสนับสนุนเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย แต่การดำเนินการเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองในประเทศนั้นกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม
“แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เป็นสมาชิกหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะกรรมาธิการเวนิส แต่เรายังคงยึดมั่นในค่านิยมทางการเมืองเดียวกันในระบอบประชาธิปไตย แนวปฏิบัติ 7 ประการเกี่ยวกับการห้ามและการยุบพรรคการเมืองที่ได้รับการรับรองในการประชุมเต็มคณะของคณะกรรมาธิการเวนิส ครั้งที่ 41 เมื่อเดือนธันวาคม 2542 ถือเป็นต้นแบบอันศักดิ์สิทธิ์ของการดำเนินการทั้งหมดสำหรับสถาบันศาลรัฐธรรมนูญระดับโลก การดำเนินการใดๆ ต่อการยุบพรรคการเมืองที่ขัดต่อหลักการ 7 ประการในเรื่องนี้จะต้องได้รับการตำหนิและห้ามอย่างเด็ดขาดหรือไม่”
กัณวีร์กล่าวย้ำว่า ตนเองไม่มีเจตนาที่จะละเมิดอำนาจศาล แต่หวังว่าการพิจารณายุบพรรคการเมืองจะยึดตามหลักการยุติธรรมและแนวปฏิบัติของคณะกรรมาธิการเวนิส ต้นแบบศักดิ์สิทธิ์ที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้
และหวังว่าการพิจารณาอันดีของคณะกรรมาธิการเวนิสในการออกคำแถลงการณ์ที่เป็นมิตรไมตรีต่อศาลรัฐธรรมนูญไทย เกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติ 7 ประการ เกี่ยวกับการห้ามและการยุบพรรคการเมือง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของสถาบันศาลรัฐธรรมนูญระดับโลก จะได้รับการชื่นชมอย่างยิ่ง
กัณวีร์เปิดเผยเพิ่มเติมว่า หลังจากส่งอีเมลไปเมื่อวานนี้ก็ได้รับการตอบรับทันที แม้ทางคณะกรรมาธิการเวนิสจะตอบกลับว่าจะสามารถรับข้อเสนอแนะอย่างเป็นทางการจากประธานรัฐสภาหรือสถาบันของรัฐได้เท่านั้น แต่ยินดีรับฟังความคิดเห็น
ตนเองจึงได้ส่งจดหมายตอบกลับยืนยันไปยังคณะกรรมาธิการเวนิสว่า เหตุผลที่ต้องการความเห็นต่อคดียุบพรรคก้าวไกล เพราะคำตัดสินที่จะเกิดขึ้นอาจกระทบต่อหลักการประชาธิปไตยของไทย หลังจากเคยมีการยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อปี 2563 การวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลครั้งนี้ยังเกี่ยวข้องกับการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติที่เสนอแก้ไขกฎหมายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในระดับนานาชาติ ว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือในการลงโทษประชาชนที่เห็นต่างและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จึงน่าเป็นห่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญไทย โดยเฉพาะภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานสมาคมศาลรัฐธรรมนูญแห่งเอเชียและสถาบันเทียบเท่า (AACC) ในปัจจุบันไม่ได้ขอคำชี้แจงจากคณะกรรมาธิการเวนิสเกี่ยวกับเรื่องสำคัญนี้ การไม่ดำเนินการดังกล่าว
ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของศาลในการรักษาความเป็นกลางและความโปร่งใสในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองด้วย เพราะการยุบพรรคการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนยังขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย ด้วยการขจัดผู้มีบทบาททางการเมืองที่สำคัญที่สนับสนุนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
กัณวีร์ระบุว่า เป็นที่เข้าใจกันว่าคณะกรรมาธิการเวนิสมักจะรับคำร้องขอคำชี้แจงจากศาลรัฐธรรมนูญ สถาบันของรัฐ หรือผู้นำรัฐสภา เท่านั้น น่าเสียดายที่ศาลรัฐธรรมนูญของไทยดูเหมือนจะไม่เต็มใจที่จะขอคำแนะนำดังกล่าว และหน่วยงานอื่นที่มีสิทธิ์ก็ไม่น่าจะดำเนินการ เพราะอาจเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ กับการยุบพรรค สถานการณ์นี้ทำให้เหลือทางเลือกจำกัด จึงจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องส่งจดหมายไปยังคณะกรรมาธิการเวนิส เพื่อให้รับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
“ผมทำในฐานะปุถุชนคนธรรมดาคนหนึ่งที่อยากเห็นการเมืองไทยตรงไปตรงมาและประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง การกระทำนี้ไม่ใช่ว่าผมต้องรักและเข้าข้างพรรคก้าวไกล แต่ผมรัก เคารพ และเข้าข้าง ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจเท่านั้นครับ” กัณวีร์กล่าวย้ำ