วันนี้ (22 มิถุนายน) คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงการพิจารณาญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 13 ฉบับว่า ตนจำแนกได้ 9 ประเด็นในร่าง 13 ฉบับของ 2 กลุ่มการเมืองที่ยื่นเสนอต่อสภา ประกอบด้วย
1. เปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง ส.ส. เป็นระบบบัตร 2 ใบ
2. ตัดบทลงโทษรุนแรงต่อนักการเมืองที่ยุ่งเกี่ยวกับการใช้งบประมาณแผ่นดิน โดยแก้มาตรา 144 และ 185 ที่มีครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2560
3. ยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี
4. เปลี่ยนวิธีแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกเงื่อนไข ส.ว. ต้องเห็นชอบ 1 ใน 3 ในวาระที่ 1 และ 3
5. เปลี่ยนแปลงบทบัญญัติยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ
6. ยกระดับหมวดสิทธิเสรีภาพประชาชน
7. ปรับแก้กระบวนการกล่าวโทษ ป.ป.ช.
8. ยกระดับหมวดการปกครองท้องถิ่น
9. ป้องกันการรัฐประหาร ยกเลิกบทบัญญัตินิรโทษกรรม คสช.
ทั้งหมดสรุปภาพรวมได้ 3 ประเด็น คือ
1. เอื้อพรรคใหญ่
2. ถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง
3. ปิดสวิตช์ ส.ว.
คำนูณกล่าวว่า เชื่อว่าประเด็นที่หวังผลเต็มร้อยคือการเอื้อพรรคใหญ่และถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกงที่อยู่ในร่างพรรคพลังประชารัฐ มีโอกาสผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภามากที่สุด เนื่องจากมีอยู่ในร่างของทุกกลุ่ม ส่วนประเด็นถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง แม้เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น แต่เชื่อว่าทุกพรรคเห็นด้วย
ทั้งนี้ส่วนตัวยังเห็นด้วยกับการตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยแสดงเจตนารมณ์ลงมติเห็นด้วยไปแล้ว ณ วันนี้ยังเป็นเช่นเดิม ร่างใดเสนอตัดมาตรา 272 จะลงมติเห็นชอบแน่นอน แต่ไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 144 และ 185 ที่เปรียบกับการถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง แต่ไม่สามารถแยกลงมติเฉพาะประเด็นนี้ได้ เนื่องจากเป็นประเด็นถูกมัดรวมอยู่ในร่างพรรคพลังประชารัฐ
คำนูณกล่าวว่า ในส่วนเรื่องระบบเลือกตั้งนั้นไม่เห็นด้วยกับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีกฎเอื้อ 2 พรรคใหญ่ ก่อให้เกิดวิกฤตใหญ่มาแล้ว เป็นการผูกขาดการเมืองไว้กับพรรคใหญ่ กลุ่มทุน และนักการเมืองอาชีพ ตัดหนทางพรรคทางเลือก แต่การจะคงระบบบัตรใบเดียวตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็เป็นปัญหาเช่นกัน ทางที่ควรจะเป็นคือใช้บัตร 2 ใบในระบบสัดส่วนผสมตามที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ยกร่างไว้เมื่อปี 2558
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ