×

ทำไมหนุ่มสาวชาวอเมริกัน Gen Z และนักธุรกิจชั้นนำ เทใจให้ คามาลา แฮร์ริส ในศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

10.09.2024
  • LOADING...

คามาลา แฮร์ริส หญิงวัย 59 ปี เป็นลูกสาวของนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายจาเมกา และนักชีวการแพทย์อเมริกันเชื้อสายอินเดีย สำเร็จการศึกษาด้านศิลปศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ผู้พลิกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกาด้วยการเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2021 วันนี้เธอก้าวขึ้นมาเป็นตัวเต็งชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

ก่อนจะไปถึงวันเลือกตั้งต้นเดือนพฤศจิกายนในอีกไม่กี่วัน มีรายงานโพลสำรวจที่น่าสนใจว่า หนุ่มสาวชาวอเมริกัน Gen Z ยุคใหม่มากกว่าครึ่ง จะสนับสนุน คามาลา แฮร์ริส ที่เหลือ 1 ใน 3 จะโหวตให้ โดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงอดีตซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงในภาคธุรกิจชื่อดังก็ลงชื่อสนับสนุนเธอด้วย

 

แม้ โดนัลด์ ทรัมป์ จะเผยกับ CNN ว่า “แฮร์ริสเอาชนะง่ายกว่าไบเดน” แต่ล่าสุดสำนักข่าว NBC News กลับเปิดเผยรายงานที่สวนทางกับความเชื่อของทรัมป์ โดยรายงานนี้ระบุว่า ผลสำรวจผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ลงทะเบียนแล้วและมีอายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งจัดทำโดย SurveyMonkey พบว่า หนุ่มสาวกลุ่ม Gen Z จำนวน 50% ระบุว่า จะลงคะแนนเสียงให้กับ คามาลา แฮร์ริส ในขณะที่ 1 ใน 3 หรือราว 36% ระบุว่า จะลงคะแนนเสียงให้ โดนัลด์ ทรัมป์ และอีก 10% ไม่ขอลงคะแนน

 

ซึ่งตัวเลขจากผลสำรวจนี้ ถือเป็นช่องว่างที่ค่อนข้างห่างเมื่อเทียบกับผลสำรวจอื่นๆ ในปีนี้ แต่ยังไม่เท่าปี 2020 

 

ผลสำรวจเผยแพร่ออกมาในช่วงที่หนุ่มสาวชาวอเมริกันผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเผชิญกับความท้าทาย ทั้งปัญหาเศรษฐกิจและความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมอเมริกัน รวมถึงต้นทุนค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นและความกังวลเกี่ยวกับหนี้สิน โดย 7 ใน 10 พร้อมจะเลือกผู้นำหญิง และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เลือกตามบุคคลดังหรือศิลปินที่ชื่นชอบ 

 

ขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่าหลายๆ แคมเปญแฮร์ริสมุ่งไปที่การส่งเสริมและสนับสนุนแนวคิดกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะสังเกตได้จากการใช้โซเชียลมีเดียอย่าง TikTok ที่เธอเริ่มมีผู้ติดตามมากขึ้นเรื่อยๆ

 

การสำรวจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง Gen Z กว่า 60% มั่นใจเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกประธานาธิบดี โดยตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับผลการสำรวจผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นคนรุ่นใหม่กว่า 60% ที่ โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 

 

 

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ​ ที่มีอายุระหว่าง 18-29 ปี

 

นอกจากนี้ผลสำรวจผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นคนหนุ่มสาวคาดว่าจะแข็งแกร่งที่สุดในรัฐมิชิแกน, เพนซิลเวเนีย, เนวาดา, จอร์เจีย, โอไฮโอ, วิสคอนซิน และแอริโซนา

 

อีกทั้ง คามาลา แฮร์ริส ยังเป็นผู้นำในกลุ่มวัยรุ่นหญิง 70% และคาดว่าเธอจะได้รับการสนับสนุนจากหนุ่มสาวเดโมแครต 94% ในขณะที่ทรัมป์ได้รับการสนับสนุนจากหนุ่มสาวรีพับลิกัน 86%

 

VOA ระบุว่า ชาวอเมริกันกว่า 40 ล้านคนอยู่ในกลุ่ม Gen Z เป็นผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งได้ในศึกเลือกตั้งปี 2024 ถือเป็นกลุ่มประชากรที่มีอิทธิพลในการกำหนดชะตาของผู้ที่จะก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งในทำเนียบขาว

 

อดีตซีอีโอชื่อดังจากบริษัทมหาชนพร้อมโหวตแฮร์ริส

 

อีกฟากฝั่งกลุ่มผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐอเมริกาทั้งในอดีตและปัจจุบันราว 88 คน ลงชื่อสนับสนุนรองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ในจดหมายฉบับใหม่ที่เผยแพร่เฉพาะกับ CNBC โดยระบุว่า ‘เธอเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าสำหรับเศรษฐกิจอเมริกันและอนาคตของประชาธิปไตย’

 

ในบรรดาผู้ลงนามนั้น มีซีอีโอระดับสูงของบริษัทมหาชนหลายแห่ง เช่น แอรอน เลวี แห่ง Box, เจเรมี สต็อปเพลเมน แห่ง Yelp และ ไมเคิล ลินตัน ประธานของ Snap รวมถึง เจมส์ เมอร์ดอช อดีตซีอีโอของ 21st Century Fox และ คริส เลาร์เซน ผู้บริหารด้านคริปโตและผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มบล็อกเชน Ripple

 

รายงานข่าวระบุว่า ผู้บริหารหลายคนได้ลงนามให้การรับรองแฮร์ริสต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เธอได้รับการเสนอชื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีโดยพฤตินัยจากพรรคเดโมแครตในเดือนกรกฎาคม 

 

นอกจากนี้มีผู้ที่ลงนาม 88 คนที่สนับสนุนแฮร์ริส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตซีอีโอของบริษัทมหาชนขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นซีอีโอของ PepsiCo, Paramount, Fox Inc., GoDaddy, Ford, อดีตซีอีโอของ Starbucks และอดีตซีอีโอของ PayPal รวมถึงผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำที่สนับสนุนแฮร์ริส ได้แก่ มาร์ค คิวบาน นักธุรกิจที่มีชื่อเสียง และ รีด ฮอฟฟ์แมน อดีตซีอีโอของ LinkedIn

 

ขณะที่ผู้ลงนามที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ ได้แก่ ลินน์ ฟอร์สเตอร์ เดอ โรธส์ชิลด์ และมหาเศรษฐีจากบริษัทเอกชน โจเซ อี. เฟลิเซียโน, ผู้ลงนามที่มีชื่อเสียงที่มาจาก Wall Street เช่น โทนี เจมส์ อดีตประธานและซีโอโอของ Blackstone และ บรูซ เฮย์แมน อดีตกรรมการผู้จัดการด้านความมั่งคั่งส่วนบุคคลของ Goldman Sachs

 

เทียบนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจและภาษี

 

ผู้บริหารเหล่านี้เชื่อว่า หากแฮร์ริสเป็นประธานาธิบดี เธอจะเดินหน้านโยบายที่ยุติธรรมและคาดเดาได้ ซึ่งสนับสนุนหลักนิติธรรม ความมั่นคง และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดี จุดประสงค์ของจดหมายนี้ไม่ได้มีขึ้นเพื่อโน้มน้าวประชาชนทั่วไปให้ลงคะแนนให้แฮร์ริส แต่เพื่อแสดงพลังทางการเมืองในเวลาที่เหมาะสมสำหรับแฮร์ริส ซึ่งกำลังอยู่ในการแข่งขันที่สูสีมาก

 

โดยจะมีการอภิปรายประธานาธิบดีครั้งแรกในอีก 3 วันข้างหน้า ทั้งแฮร์ริสและทรัมป์ใช้เวลาตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมาในการนำเสนอวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจที่ขัดแย้งกัน ก่อนการอภิปรายในวันที่ 10 กันยายน ซึ่งจัดโดย ABC ทางแฮร์ริสสรุปข้อเสนอเพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก โดยเสนอให้เพิ่มการหักลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายเริ่มต้นธุรกิจเป็น 10 เท่า สูงสุด 50,000 ดอลลาร์

 

เธอยังเสนอให้ปรับขึ้นอัตราภาษีกำไรจากการขายทรัพย์สินเป็น 28% สำหรับผู้ที่มีรายได้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพิ่มขึ้นจากอัตราปัจจุบันที่ 20% แต่ต่ำกว่าระดับ 39.6% ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เสนอไว้มาก แฮร์ริสกล่าวว่า เธอปรับลดอัตราภาษีสูงสุดของไบเดนลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนมากขึ้น

 

โดนัลด์ ทรัมป์ เสนอแผนงานด้านเศรษฐกิจที่นิวยอร์ก โดยเรียกร้องให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการของรัฐบาลที่ออกแบบมาเพื่อขจัดการทุจริต และยังให้คำมั่นว่าจะลดอัตราภาษีนิติบุคคลจาก 21% เหลือ 15% สำหรับบริษัทที่ผลิตสินค้าในสหรัฐฯ

 

ทางฝ่ายทรัมป์เองก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงจาก Wall Street และภาคเอกชนจำนวนหนึ่งเช่นกัน ซึ่งรวมถึง โฮวาร์ด ลุตนิก ซีอีโอของ Cantor Fitzgerald และ อีลอน มัสก์ ซีอีโอของ Tesla และ​ SpaceX

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X