×

อบรมครูนำร่องสอนภาษาโค้ดดิ้ง 200 กว่าโรงเรียน คุณหญิงกัลยาตั้งเป้าขยายให้ครบทุกแห่งภายในปีหน้า

20.09.2019
  • LOADING...
กัลยา โสภณพนิช

เมื่อ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผลักดัน ‘ภาษาโค้ดดิ้ง’ (Coding) ให้บรรจุอยู่ในนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา เพื่อสอดแทรกในหลักสูตรการเรียนของเด็กไทย

 

ภาษาโค้ดดิ้งหมายถึงการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่การเรียนการสอนวิชาโค้ดดิ้งนั้นมีลำดับขั้นตอนเพื่อจุดมุ่งหมายคือฝึกให้เด็กมีกระบวนการคิด คิดอย่างมีตรรกะ เป็นเหตุและผล และเป็นขั้นเป็นตอน    

 

คุณหญิงกัลยาให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า รัฐบาลมาในปีแรกจะผลักดันการสอนโค้ดดิ้งให้กับเด็กชั้นประถมศึกษา โดยใช้วิธีการ Unplugged Coding คือยังไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใดๆ ยกตัวอย่างเช่น เลโก้ การที่เด็กจะเล่นเลโก้ได้เด็กต้องวางแผน ซึ่งเป็นทักษะเริ่มต้น 

 

“รู้จักวางแผนอย่างเป็นระบบ รู้จักคิดเป็นตรรกะ และรู้ลำดับการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน คือทักษะที่เด็กจะได้จากการเรียนด้วยการเล่นโค้ดดิ้ง” คุณหญิงกัลยากล่าว

 

กัลยา โสภณพนิช

 

หลายคนสงสัยว่าโค้ดดิ้งคือภาษาคอมพิวเตอร์ แต่เรียนโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ได้ด้วยหรือ

คุณหญิงกัลยากล่าวว่า Unplugged Coding คือการเตรียมตัวเด็กตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เพื่อให้ก้าวสู่โลกดิจิทัลในโอกาสต่อไปที่จะมีความสลับซับซ้อน มีความยาก มีการแปลจากความคิดไปเป็นภาษา ซึ่ง Unplugged Coding นี้จะสอนเด็กคิดเป็นระบบเพื่ออนาคต ที่เขาจะไปใช้เครื่อง จะไปใช้หุ่นยนต์ให้ทำสิ่งต่างๆ ต่อไป ก่อนจะใช้เครื่องต้องมีพื้นฐานตรงนี้ก่อน

 

แล้วเมื่อไรเด็กจะได้เรียนแบบเสียบปลั๊ก เราถามต่อ

คุณหญิงกัลยาตอบว่า ชั้นประถมศึกษา 1-3 ยังเรียน Unplugged Coding อยู่ ระดับต่อไปประถมศึกษา 4-6 ก็เริ่มจะให้เขียน Flowchart แปลงความคิดของเราที่เตรียมตัวไว้ แต่ส่วนนี้ยังไม่ใช้คอมพิวเตอร์

 

Flowchart ก็จะเขียนว่าเราเริ่มต้นจากจุดนี้ เราจะไปที่จุดนี้ เราจะไปทางไหน แล้วถ้าไปเจออุปสรรคเราจะแก้ไขอย่างไร อันนี้ก็เตรียมเพื่อที่จะแปลง Flowchart ไปเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ จะเป็นภาษาซี หรืออะไรก็ได้

 

ทุกๆ ขั้นตอนจาก Unplugged มาเป็น Flowchart ก็เพื่อที่จะฝึกให้เราออกคำสั่งให้เป็นระบบทุกๆ ขั้นตอน เพราะว่าเครื่องจะคิดไม่เป็น เขาจะต้องทำตามเราสั่ง ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติว่าเรามีหุ่นยนต์ เราจะให้หุ่นยนต์ตัวนี้ตีลังกา เราคงไม่สามารถบอกหุ่นยนต์ว่าให้ตีลังกาได้ เราจะต้องบอกว่าคุณยกขาขวาขึ้น แล้วเอามือลงไป เราจะต้องบอกเขาทุกขั้นตอน Flowchart จะต้องบอกเลยว่ายกขาขึ้นนะ ตัวก็ต้องเอียงมาทางนี้ เพื่อที่เราจะได้ตีลังกาได้

 

ทุกขั้นตอนของการทำงานของเครื่องเราจะต้องเป็นคนบอก และต้องบอกละเอียด Unplugged ก็จะมาเป็น Flowchart ทุกประโยคที่เราจะสั่งคอมพิวเตอร์นี้อยู่ในแพลนที่เราวางไว้อย่างมีเหตุผลและตรรกะ เจอปัญหาเราต้องแก้ เราจะแก้อย่างไร เราก็ต้องบอกเครื่อง 

 

“อันนี้เป็นครั้งแรกในไทยที่จะสอนเด็กเล็กระดับประถมศึกษา และเป็นการปฏิรูปการศึกษาครั้งแรกในประเทศไทยที่ไปถึงตัวเด็ก ถ้าจะพูดให้ชัดเจนก็คือปฏิรูปการศึกษามาหลายครั้งตั้งแต่ปี 2542 แต่นั่นคือโครงสร้าง การบริหาร การจัดการไม่เกี่ยวกับเด็กเลย เกี่ยวกับองค์กรที่ภาคภูมิใจก็คือตรงนี้ด้วยที่เราเป็นคนแรก” คุณหญิงกัลยากล่าว

 

ในแง่ของการทำงาน ความคืบหน้าของนโยบายอยู่ในขั้นตอนไหน

คุณหญิงกัลยากล่าวว่า ต้องบอกว่าโชคดีที่เราไม่ได้ละเลยความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงมีองค์กรในกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ มีหน่วยงานที่สร้างตำรา สสวท. (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสร้างตำรามา 45 ปี แล้วคุรุสภาก็เอาตำรานี้ไปพิมพ์ขาย คนก็จะรู้จักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาแล้วเป็นแสนคน เรามีครูพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั่วประเทศเป็นแสน แต่การที่จะสอน Unplugged Coding ยังไม่แพร่หลาย 

 

สิ่งหนึ่งที่เราทำสำเร็จก็คือเรารวมคนกลุ่มนี้มาบูรณาการได้สำเร็จ โดยที่เราจะใช้หลักสูตรเดียวกันสอน Unplugged Coding ในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจะเริ่มอบรมผู้ที่สนใจ 1,000 คน ที่เราจะอบรมในวันที่ 19-21 กันยายน ขณะนี้สมัครมาเกินแล้ว แต่ว่ามีหลายระดับที่สมัครมา ก็ไม่สามารถที่จะปฏิเสธเขาได้ ขณะนี้บางโรงเรียนก็สมัครมา 2 บ้าง 3 บ้าง โรงเรียนหนึ่งอาจจะ 4 คน ตอนนี้ก็มีพันเศษๆ แล้วตอนนี้ที่จะมาอบรม

 

นี่เป็นโครงการนำร่อง ขอให้สมัครใจ เพราะเราอยากเห็นผลสัมฤทธิ์ ทั้งผู้อำนวยการและครูต้องสมัครใจมา แล้วครูมาอบรม 3 วัน ผู้อำนวยการ 1 วัน เดือนพฤศจิกายนเราก็จะเริ่มสอนในโรงเรียนที่มาอบรมนี้ จะเริ่มสอนเด็ก ป.1 ถึง ป.3 สัปดาห์ละครั้ง เป็นวิชาบังคับตั้งแต่ ป.1 ถึงมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเรียนวิทยาศาสตร์หรือไม่ ทุกคนจะต้องเรียน Coding 

 

กัลยา โสภณพนิช

 

ครูไทยในปัจจุบันพร้อมที่จะอบรมและไปสอนเด็กมากน้อยแค่ไหน

คุณหญิงกัลยากล่าวว่า เรามีครูที่มีพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่แล้ว เพียงแต่มาสอนแบบที่ไม่ต้องใช้เครื่อง

 

ถ้าพูดเป็นภาษาวิชาการก็คือเขามี Logic And Algorithm อยู่แล้ว ได้รับการแนะนำให้สอนตรรกะโดยไม่ได้ใช้เครื่อง เขาก็ไม่ยาก แต่ครูทุกคนไม่ต้องกังวล แม้ไม่มีพื้นฐานวิทยาศาสตร์ก็ไม่เป็นไร ถ้าสนใจที่จะสอนก็มาอบรมได้ เพราะผู้หญิงหรือครูอักษรศาสตร์จะมีทักษะในการทำการฝีมือ แล้วการฝีมือคือ Coding เพราะต้องทำทีละเข็ม ทีละขั้นทีละตอน ทำผิดไม่ได้ ผู้หญิงก็สามารถเรียน Coding และทำ Flowchart เขียนภาษาคอมพิวเตอร์ได้ดี

 

โดยที่อเมริกาบอกมาว่า ครูที่ตั้งใจ สนใจ ไม่ว่าพื้นฐานวิชาไหนก็ตาม ก็สามารถที่จะสอนได้อย่างไม่ต้องกังวล ในฐานะครูมีความรู้ ความสามารถในการเป็นครูเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มาอบรม 3 วันก็สามารถที่จะไปสอนเด็กได้

 

“ไม่ว่าใครก็มีพื้นฐานวิชาโค้ดดิ้งอยู่แล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องห่วง ครูก็ไม่ต้องห่วง เพียงแต่เราจะถ่ายทอดให้เด็กเล็กอย่างไร” 

 

คุณหญิงกัลยากล่าวด้วยว่า ได้เห็นแม่พาลูกไปเล่นโค้ดดิ้งที่มหกรรมวิทยาศาสตร์ เป็นภาพที่ประทับใจมาก และอยากเห็นภาพนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ

 

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ถ้าสนใจก็มาอบรมได้ เพราะไม่ว่าใครก็มีพื้นฐานวิชาโค้ดดิ้งอยู่แล้ว

 

ยกตัวอย่างเช่น คุณแม่จะทำอาหารเลี้ยงแขก 6 คนที่บ้านเย็นนี้ แม่บ้านทุกคนจะต้องเตรียมอาหาร ซึ่งมันมีขั้นตอนและต้องวางแผนอย่างเป็นระบบ เช่น ต้องไปซื้อของอะไรบ้าง ปริมาณเท่าใดถึงจะพอเลี้ยงคนได้ทั้งหมด ควรจะทำอะไรไว้ก่อนหรือไม่จะได้รวดเร็ว พอแขกมาก็ออกมาเสิร์ฟได้เลย เพื่อให้งานเลี้ยงออกมาสำเร็จ ทุกคนแฮปปี้

 

นี่แหละคุณแม่มีพื้นฐานโค้ดดิ้งอยู่แล้ว แม่ไม่ต้องห่วง ครูก็ไม่ต้องห่วง เพียงแต่เราจะถ่ายทอดให้เด็กเล็กอย่างไรก็มาอบรมได้ เพื่อถ่ายทอดให้เด็กมีความพร้อมที่จะเข้าสู่โลกที่มันผันผวนและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ถึงแม้จะไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เป็นนักวิจัย แต่เราต้องเรียนและมีวิชาโค้ดดิ้งอยู่ในตัว

 

เตรียมตัวต่อยอดจากโครงการนำร่องไปสู่หลักสูตรบังคับมากน้อยแค่ไหน

คุณหญิงกัลยากล่าวว่า ปีหน้าเราจะมีการเรียนการสอนให้ครบทุกโรงเรียนชั้นประถมก่อน โดยเดือนพฤศจิกายนนี้นำร่องเฉพาะครู 1,000 คน 200 กว่าโรงเรียนครอบคลุมทุกเขตการศึกษาก่อน 

 

จากนั้นจะประเมินผล ประเมินอย่างไร อันแรกถ้าครูกับนักเรียนสนุกกับการเรียนการสอน ถือว่าสำเร็จเบื้องต้น เป็นโครงการนำร่อง แล้วปีหน้าจะขยายให้ครบทุกโรงเรียน เราจะอบรมเป็น 2-3 หมื่นคน 

 

มีคนตั้งคำถามว่า วิชาปกติยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่เลย วิชา Coding เป็นความรู้ใหม่ จะมีปัญหาตรงนี้ตามมาไหม

คุณหญิงกัลยากล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำคนพูดกันมาก ภาษาไทยยังพูดไม่ได้เลย ฯลฯ ก็มีนโยบายที่จะแก้ตรงนั้นอยู่แล้ว เอาเรื่อง Unplugged Coding ก่อน เนื่องจากว่าไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องซื้ออะไรเลย อยู่บนเขา อยู่ชายขอบก็เรียนได้ ขอให้มีคนสอนเท่านั้นเอง เด็กก็จะเริ่มคิด วางแผนเป็น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับเด็กที่มีความเหลื่อมล้ำ จะไม่ทิ้งเด็กคนไทยไว้ข้างหลังเลย แม้พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เรียนหรือเล่นอย่างสนุก นี่คือหัวใจ 

 

“วิชา Coding คุณจะอยู่ริมแม่น้ำ ชายแดน คุณก็เรียนได้ถ้ามีคนสอน ถ้าเราฝึกครูได้มากพอที่จะไปสอน เป็นการเตรียมเด็กให้พร้อมเพื่อก้าวสู่ศตวรรษนี้พร้อมๆ กันอย่างมีความมั่นใจ เพื่ออนาคตที่เขาจะได้มีงานทำ มีรายได้ดี มีความสุขอยู่ในสังคม” คุณหญิงกัลยากล่าวในที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X