×

เปิดชีวิต คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กับเป้าหมายให้เด็กไทยได้เรียนภาษาโค้ดดิ้ง

26.07.2019
  • LOADING...
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ชีวิตของ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ไม่ได้ร่ำรวยในตระกูลใหญ่มาตั้งแต่เริ่ม เธอถีบชีวิตจากการศึกษา และจะว่าไปการศึกษาก็พาเธอมาพบรัก
  • คุณหญิงกัลยาคือหนึ่งในคนที่มีบทบาทสำคัญในการทำสารานุกรมไทย โครงการพระราชประสงค์โดยตรงของรัชกาลที่ 9 
  • ภาษาโค้ดดิ้ง คือเป้าหมายระยะสั้นให้เด็กไทยได้ศึกษา สู่เป้าหมายระยะยาวให้คนไทยเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีไม่ใช่แค่เป็นเพียงผู้ใช้เหมือนปัจจุบัน

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลประยุทธ์ 2 รัฐมนตรีเจ้าของสถิติอายุมากที่สุดในรัฐบาลด้วยวัย 79 ปี

 

เริ่มก้าวเท้าเข้าสู่การเมืองเต็มตัวด้วยการลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามผู้สมัครอิสระเมื่อปี พ.ศ. 2543 

 

การเลือกตั้งครั้งนั้นทำให้พรรคการเมืองหลายพรรคจับจ้องไปที่ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ผู้สมัครอิสระที่ได้ไป 132,608 คะแนนจากการลงเลือกตั้งครั้งแรก

 

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช

 

คุณหญิงกัลยาเปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า หลังลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พรรคต่างๆ ก็สนใจติดต่อเข้ามาเพื่อให้ลงเล่นการเมือง โดยที่ให้กำกับดูแลเรื่องการศึกษา

 

กลับมาช่วงหลังลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็มีหลายพรรคมาชวน โดยหนึ่งในนั้นคือ พรรคประชาธิปัตย์ 

 

“คุณชวน หลีกภัย ให้คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมาเชิญหลายครั้ง เราก็เลยบอกว่าขอพบท่านชวนก่อนที่จะตัดสินใจ” 

 

เมื่อได้พบกัน คุณหญิงกัลยาถามว่า “ทำไมประชาธิปัตย์อุ้มคนรวยไม่ช่วยคนจน” เพราะถ้าทำอย่างนี้ก็ไม่เข้าร่วมด้วย 

 

ชวนก็หันไปบอกให้อภิสิทธิ์อธิบายว่า เราทำอะไรให้คนจนบ้างในช่วงผลกระทบจากวิกฤตต้มยำกุ้ง

 

คุณหญิงกัลยาเล่าว่า ตอนนั้นแม้ประชาธิปัตย์จะหล่นจากรัฐบาลมาเป็นฝ่ายค้านแล้วแต่พื้นฐานของพรรคดี ซึ่งน่าจะร่วมสร้างอะไรดีๆ ขึ้นมาด้วยกันได้

 

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ถูกโฟกัสไปที่นามสกุลมากกว่าตัวตนและผลงานของเธอ

 

แต่อันที่จริงชีวิตเธอไม่ได้เกิดมาในตระกูลนายธนาคารใหญ่ มีภูมิลำเนาในอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เกิดในครอบครัวพ่อค้าตระกูล ‘พงศ์พูนสุขศรี’ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2483 โดยมีพี่น้องทั้งหมด 8 คน

 

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช

 

คุณหญิงกัลยาเล่าว่า เธอเป็นลูกคนที่ 2 เรียนโรงเรียนวัด สมัยนั้นไม่มีอนุบาล เริ่มเรียนครั้งแรกก็เข้า ป.1 และเรียนในวัดจริงๆ โดยนั่งเรียนที่ศาลาวัด ไม่มีห้องเรียน ส่วนห้องน้ำก็คือป่าข้างศาลา

 

แม้เกิดในตระกูลคนจีน ซึ่งในสมัยนั้นไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษา แต่คุณแม่ของคุณหญิงให้ความสำคัญกับการศึกษามาก จึงส่งเสียลูกทั้ง 8 คนให้ได้เรียนหนังสือครบทั้งหมด

 

ด้วยความที่หัวดี เรียนหนังสือเก่ง โดยเฉพาะวิชาสายวิทยาศาสตร์ จึงสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้ จากเด็กบ้านนอกสอบได้อยู่ห้องควีน

 

เรียนไปได้ 6 เดือน ก็มาถึงครั้งแรกของการสอบกลางภาค คะแนนสอบของนางสาวกัลยาคือ 83% เธอร้องไห้ด้วยความเสียใจ เพราะคะแนนสูงสุดคือ 89% ส่วนที่ 2 และรองลงมาคะแนนเบียดกันที่หลักจุดทศนิยม

 

ชีวิตนักเรียนบ้านนอกไม่เคยสอบได้ต่ำกว่าอันดับ 3 แต่คะแนน 83% ของเธออยู่ไกลจากอันดับที่ 1 ลิบลิ่ว และนั่นคือวันแรกที่เธอได้รู้ถึงความแตกต่างระหว่างเด็กในเมืองกับเด็กชนบท

 

ในวัยเด็ก คุณหญิงกัลยาฝันอยากเป็นครู อยากกลับไปสอนหนังสือและพัฒนาบ้านเกิดอำเภอสีคิ้ว แต่พอเริ่มโตขึ้นมาหน่อยก็อยากเป็นหมอ ซึ่งไม่ใช่เพราะว่าเรียนเก่ง แต่เพราะอยากช่วยคน สุดท้ายมาจบด้วยการเลือกเรียนวิทยาศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะว่าทำคะแนนได้ดีในวิชานี้

 

ในชีวิตการเรียนของเธอ ถ้าวิทยาศาสตร์คือเพื่อนรัก ภาษาอังกฤษก็คือศัตรู ด้วยความเป็นเด็กต่างจังหวัด วิชาภาษาอังกฤษจึงอ่อนมาก 

 

แต่ด้วยความอยากรู้อยากลองของชีวิต เมื่ออาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถามว่าใครสนใจเรียนต่อต่างประเทศบ้าง 

 

คุณหญิงกัลยายกมือคนแรก และเป็นคนเดียวที่ยกมือ ในตอนนั้นเธอยังไม่ทราบว่า การยกมือวันนั้นได้เปลี่ยนชีวิตเธออย่างสิ้นเชิง

 

ภายใต้ความช่วยเหลือของอาจารย์ ประกอบกับการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ในที่สุดก็ได้ไปเรียนที่ Imperial College London ประเทศอังกฤษ

 

“ตอนไปเรียนยังไม่รู้เลยว่ามหาวิทยาลัยที่ถูกส่งไปเป็น 1 ใน 5 ของโลกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กว่าจะฝ่าฟันจบมาได้ร้องไห้แทบทุกวัน ฝนก็ตก หนาวก็หนาว ที่สำคัญช่วงแรกฟังไม่รู้เรื่อง อาหารการกินก็ลำบาก ต้องทำเอง ต้องดูแลตัวเอง”

 

หลายคนทราบว่าคุณหญิงกัลยาพบรักกับ โชติ โสภณพนิช ที่อังกฤษ แต่น้อยคนจะทราบถึงรายละเอียด

 

คุณหญิงกัลยาเล่าว่า “เรากับเขาอยู่คนละโลกกัน คุณโชติเป็นนายธนาคารระดับประเทศ ส่วนตัวเราเองแม้แต่สมุดบัญชีเงินฝากก็ยังไม่มี”

 

หลังเรียนที่อังกฤษไปได้ 2-3 ปี จอมพล ประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น และยังเป็นประธานธนาคารกรุงเทพ ก็พานักเรียนไทยมาแข่งฟุตบอลที่อังกฤษ 

 

สถานทูตก็จัดเลี้ยงต้อนรับและเชิญนักเรียนไทยในลอนดอนมาร่วมต้อนรับด้วย 

 

“คุณโชติ โสภณพนิช ตอนนั้นทำงานเป็นผู้จัดการสาขาลอนดอน ก็ไปต้อนรับนายของเขา

 

“พอถึงช่วงงานเลี้ยงบุฟเฟต์ เราก็นั่งอยู่กับเพื่อนอีก 2-3 คน คุณโชติก็มาขอนั่งด้วยพร้อมกับแนะนำตัว แต่เราฟังแล้วก็เฉยๆ มาก เพราะเราไม่รู้จักธนาคารเลย รวมถึงนามสกุล ‘โสภณพนิช’ 

 

“มาทราบภายหลังว่าสิ่งที่คุณโชติทำมีนัยทั้งหมด ตั้งแต่มาขอนั่งด้วยก็เพราะว่าสนใจเรามาก่อนหน้าแล้ว เขาเจอเราครั้งหนึ่งในงานเมื่อครั้งสำนักงาน ก.พ. เชิญผู้ใหญ่จากเมืองไทยมาบรรยายสถานการณ์บ้านเมืองให้นักเรียนไทยในลอนดอนฟัง เพราะตอนนั้นมันห่างไกลข้อมูลและเดินทางกลับประเทศแต่ละครั้งลำบาก นางสาวกัลยาเป็นเพียงคนเดียวที่สนใจและยกมือถาม คุณโชติก็สนใจเราตั้งแต่ตอนนั้น

 

“ในโต๊ะอาหารงานเลี้ยงบุฟเฟต์ต้อนรับ จอมพล ประภาส นางสาวกัลยากับเพื่อนๆ คุยกันว่าจะจัดงานเลี้ยงต้อนรับนักเรียนไทยมาที่ Imperial College ที่ไหนดี

 

“คุณโชติ ซึ่งนั่งร่วมโต๊ะอยู่ด้วยก็เสนอบ้านของเขา ซึ่งธนาคารเช่าให้ผู้จัดการสาขาอยู่ แต่เราบอกเขาว่าต้องไปสำรวจสถานที่ว่ากว้างใหญ่แค่ไหน มีอะไรขาดเหลือหรือไม่ 

 

“คุณโชติก็หยิบกุญแจบ้านให้ และบอกว่าช่วงที่เขาไปทำงานให้เราเข้าไปสำรวจดูได้ จริงๆ ก็มารู้ตอนหลังว่าเขาให้กุญแจไว้เพื่อให้ไปดูบ้านว่าเขาโสดไง คุณโชติยังคุยมาจนถึงทุกวันนี้ว่าเจอกันครั้งแรกเขาก็ให้กุญแจบ้านเลย”

 

หลังเรียนจบ คุณหญิงกัลยากลับมาสอนหนังสือที่ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2513 เพื่อใช้ทุน ก่อนแต่งงานและย้ายไปใช้ชีวิตในต่างประเทศเป็นเวลาเกือบ 10 ปี และกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองไทย

 

งานแรกหลังกลับมาอยู่เมืองไทยของคุณหญิงกัลยา และกลายเป็นงานประจำอยู่มากกว่า 40 ปี คือผู้จัดการสำนักงานสารานุกรมไทย โดยพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 9 

 

คุณหญิงกัลยาเล่าให้ฟังถึงที่มาของสารานุกรมไทยว่า พระองค์เคยรับสั่งว่า สมเด็จย่าหาหนังสือ Book of Knowledge ให้พระองค์ตอนที่ยังทรงพระเยาว์อยู่ต่างประเทศ 

 

“พระองค์ได้ศึกษาเรียนรู้จากการอ่าน Book of Knowledge แล้วก็เป็นเหตุที่ทำให้พระองค์สามารถทำโครงการ 4,000 กว่าโครงการในพระราชดำริ  

 

“พระองค์จึงมีพระราชปณิธานอยากให้พสกนิกรคนไทยมีโอกาสเฉกเช่นพระองค์ ก็เลยตั้งโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ขึ้น 

 

“ถ้าสังเกตดูแล้วจะไม่มีโครงการไหนในประเทศไทยที่เป็นโครงการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีแต่โดยพระราชดำริ ฯลฯ นี่คือโครงการของพระองค์โดยตรง เพราะพระองค์อยากให้เด็กไทยมีโอกาสเหมือนพระองค์ 

 

“อีกทั้งพระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ตอนแรกว่าหนังสือชุดนี้จะให้ลูกๆ ใช้ ซึ่งก็คือพระโอรส พระธิดา ซึ่งมีหลายระดับอายุ 

 

“พระองค์คิดของพระองค์เองว่า หนังสือชุดนี้จะต้องใช้ได้ทุกเพศ ทุกวัย จึงทำหนังสือสารานุกรมไทยที่มีเอกลักษณ์พิเศษไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนในโลก 

 

“โดยเลือกมาเป็นหัวข้อเรื่อง ไม่ได้เรียงตามตัวอักษร เมื่อเลือกมาหนึ่งหัวข้อแล้ว ก็ทำหัวข้อให้เป็น 3 ระดับความรู้ เด็กเล็ก เด็กกลาง เด็กโต เรียนรู้เรื่องเดียวกัน ด้วยเนื้อหา ภาษาที่ใช้แตกต่างกัน

 

“กลายเป็นว่า 1 เล่มเท่ากับ 3 เล่มในเล่มเดียวกัน แล้วพระองค์มีพระราชประสงค์ให้พี่สอนน้อง พ่อแม่สอนลูกได้ โดย 3 ระดับนี้สามารถที่จะพูดเรื่องเดียวกันได้ สอนลูกได้ 

 

“ไม่เพียงเท่านี้ พระองค์คิดมากกว่านั้น โดยแต่ละช่วงวัยต้องพิมพ์ตัวอักษรต่างกัน เด็กเล็กก็ตัวโต เด็กกลางก็เล็กลงมาหน่อย เด็กโตก็ตัวเล็กลงไป แล้วเด็กเล็กนี่ตามจิตวิทยาแล้วยังอ่านหนังสือสองคอลัมน์ไม่เป็น เด็กเล็กเลยเป็นคอลัมน์เดียว 

 

“เด็กเล็ก เด็กกลางไม่มีภาษาอังกฤษ เด็กโตมีภาษาอังกฤษ แล้วทุกๆ เรื่องที่เริ่มต้น ต้องมีภาพนำเรื่อง พระองค์ทรงกำหนดไว้หมดเลย เปิดมาหน้าซ้ายมือเรื่องนี้ก็จะมีภาพนำเรื่อง ภาพนำเรื่องภาพนี้ไม่มีคำอธิบาย ภาพนี้จะต้องสื่อความหมายของเรื่องที่กำลังจะอ่านต่อไป 

 

“ในตอนต้นหนังสือชุดนี้ตั้งใจจะให้พระโอรสและพระธิดาใช้ แต่ว่าเมื่อทำเสร็จจริงๆ ทุกพระองค์เจริญพระชนมพรรษาแล้ว เพราะว่ามันทำยากมากๆ แต่ละเล่มใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3-5 ปี บางเล่มใช้เวลา 10 ปี”

 

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช

 

เรียกได้ว่าชีวิตของคุณหญิงกัลยาเกี่ยวข้องกับงานด้านการศึกษาตลอดตั้งแต่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย กระทั่งเป็นผู้จัดการสารานุกรมไทย นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการก่อตั้งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)

 

ปัจจุบัน คุณหญิงกัลยาวนกลับมาเกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรงในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป้าหมายที่ตั้งใจจะผลักดันให้สำเร็จคือ การเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เพื่อมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างทักษะการใช้ชีวิตให้เป็นระบบ มีเหตุ มีผลตามหลักการของ Logical Thinking และมุ่งหวังให้เยาวชนไทยใช้ชีวิตก้าวทันโลกในศตวรรษที่ 21

 

“ขณะนี้คนไทยมีแต่ใช้เทคโนโลยีเป็น คือเป็นแค่ User แต่เราจะต้องเป็นคน Creator ซึ่งถ้าจะทำได้ เราต้องรู้ภาษาที่จะคุยกับเขา เรียกว่าภาษาคอมพิวเตอร์ ภาษาสำคัญของโลกอนาคต 

 

“มีคนว่าทำไมย้อนแย้งกับที่ให้ท่องอาขยาน มันต้องไปด้วยกัน คุณไปกับเทคโนโลยีแต่คุณลืมทุกอย่างได้อย่างไร หน้าที่พลเมือง ศีลธรรม ประวัติศาสตร์ มันต้องอย่าให้หายไป เราต้องเตรียมคน เพราะว่าโลกมันผันผวนตลอดเวลา แล้วเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น”

 

จากนี้เราคงต้องจับตาดูว่า ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการซึ่งมากประสบการณ์และมีพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ดี จะวางนโยบายและนำวงการการศึกษาของเมืองไทยไปในทิศทางใด

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X