วันนี้ (26 กรกฎาคม) วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า หลายปีที่ประเทศไทยมุ่งมั่นผลักดันพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานและเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก โดยมีการนำเสนอมาแล้วถึง 3 ครั้ง ใน พ.ศ. 2558, 2559 และ 2562 จนเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 44 ใน พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นการจัดประชุมผ่านระบบทางไกลระหว่างวันที่ 16 -31 กรกฎาคม 2564 โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพ และในปีนี้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้เกณฑ์ข้อที่ 10 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
วราวุธกล่าวต่อว่า พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานนั้นเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 6 ของประเทศไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของไทย นับตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งใน พ.ศ. 2534 และกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ใน พ.ศ. 2548 ซึ่งพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เนื่องจากเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ และมีคุณค่าโดดเด่นระดับโลก รวมไปถึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ (4,089 ตารางกิโลเมตร) มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่มากกว่า 200 กิโลเมตร ประเทศไทยในฐานะเจ้าของแหล่ง จะต้องปกป้องรักษาแหล่งที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกให้คงคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลไว้ให้ลูกหลานต่อไป ซึ่งการที่พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนี้
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เผยแพร่เอกสารข่าวซึ่งระบุว่า กสม. ขอให้รัฐบาลชะลอการเสนอขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก เนื่องจากห่วงปัญหาสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งนี้ ตามที่รัฐบาลจะนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเพื่อรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ระหว่างวันที่ 16-31 กรกฎาคม 2564 นั้น กสม. โดย พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เสนอให้รัฐบาลชะลอการเสนอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติออกไปก่อน จนกว่าปัญหาสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยจะคลี่คลาย
ขณะที่เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเผยแพร่คำเตือนจากคณะผู้เชี่ยวชาญของ UN ที่ส่งถึงคณะกรรมการมรดกโลกให้มีมติยกเลิกการขอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เหตุมีชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงถูกละเมิดสิทธิในเขตอุทยานดังกล่าว
ผู้เชี่ยวชาญยังเห็นว่าที่ผ่านมา (รัฐ) ยังไม่มีความจริงใจที่จะเปิดพื้นที่ให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก หากคณะกรรมการมีมติรับรอง อาจส่งผลให้เกิดการปฏิเสธสิทธิของชาวกะเหรี่ยงที่จะดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิม โดยเฉพาะการทำไร่หมุนเวียน และอาจละเลยบทบาทของชุมชนในการปกป้องคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพในป่าด้วย รวมทั้งแสดงความกังวลถึงนโยบายด้านสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองของ UNESCO ถูกรับรองแค่ถ้อยคำไว้บนกระดาษ แต่ไม่นำมาปฏิบัติจริง
ขณะที่เช้าวันนี้กลุ่มภาคีเครือข่าย SAVE บางกลอย จัดกิจกรรม ‘มรดกโลก มรดกเลือด’ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ คัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน
เนื่องจากวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญโลก ครั้งที่ 44 ที่ประเทศจีน จะมีการพิจารณาวาระกลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก หลังจากเลื่อนการพิจารณามาแล้ว 2 ปี
โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้มีการขว้างถุงสีแดงใส่ป้ายหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่า มรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจานคือ ‘มรดกเลือด’ เพราะมีอย่างน้อย 3 ชีวิตที่ต้องสูญเสียจากการต่อสู้เพื่อสิทธิและศักดิ์ศรีของกลุ่มชาติพันธุ์บนผืนป่าแก่งกระจาน