‘EU’ ลั่นพร้อมรับมือรัสเซียโต้กลับการคว่ำบาตรด้วยการระงับการส่งออกพลังงานไปยุโรป เร่งมองหาซัพพลายเออร์ด้านก๊าซธรรมชาติจากประเทศอื่นๆ
สถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานความเห็นของ แคดรี ซิมสัน (Kadri Simson) หัวหน้าคณะกรรมาธิการด้านการพลังงานแห่งสหภาพยุโรป (EU) ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า กลุ่มสหภาพยุโรปมีความพร้อมที่จะรับมือกับการโต้ตอบมาตรการคว่ำบาตรจากรัสเซีย โดยรวมถึงกรณีที่รัฐบาลรัสเซียตัดสินใจสั่งระงับไม่จัดส่งก๊าซให้กับทางประเทศต่างๆ ใน EU
ทั้งนี้รัสเซียถือเป็นประเทศผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของ EU โดยจากข้อมูลในปี 2020 พบว่า ก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 43.4 เปอร์เซ็นต์ของก๊าซธรรมชาติในคลังของ EU ทั้งหมด ตามมาด้วยนอร์เวย์ที่ 20 เปอร์เซ็นต์
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่หลายฝ่ายจะแสดงความกังวลว่ารัสเซียอาจใช้มาตรการโต้ตอบ ด้วยการสั่งระงับซัพพลายก๊าซธรรมชาติของประเทศที่จัดส่งมาให้กับทางสหภาพยุโรป
งานนี้ซิมสันกล่าวว่า เพราะบทเรียนกรณีรัสเซียยึดไครเมียครั้งก่อน ทำให้ EU ตระหนักว่ามีความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะสรรหามาตรการมาตอบโต้กับการคว่ำบาตร ส่งผลให้ EU เตรียมแผนสำรองล่วงหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงแผนการรับมือกรณีที่ซัพพลายพลังงานถูกระงับบางส่วนหรือถูกระงับทั้งหมดจากทางการรัสเซีย
ขณะเดียวกันรายงานระบุว่า ทางการ EU ยังใช้โอกาสในครั้งนี้พิจารณามองหาซัพพลายเออร์ด้านก๊าซธรรมชาติจากประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากรัสเซีย โดยก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ ทาง เออร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน กล่าวว่า ยุโรปไม่อาจพึ่งพาซัพพลายเออร์พลังงานเพียงแห่งเดียวได้ เนื่องจากเสี่ยงเกินไป และถือเป็นโอกาสอันดีที่ยุโรปจะได้เริ่มลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียอีกทางหนึ่งด้วย
ในส่วนของความคืบหน้าล่าสุดของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ตัวแทนของสองประเทศคือรัสเซียและยูเครนได้บรรลุข้อตกลงเพิ่มเติมหลังร่วมเจรจารอบใหม่ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (3 มีนาคม) โดยต่างฝ่ายต่างเห็นชอบตกลงว่าจะต้องเปิดเส้นทางขนส่งด้านมนุษยธรรม และหยุดยิงเพื่อเปิดทางที่รัสเซียบุกยูเครน
อย่างไรก็ตาม แม้วลาดิเมียร์ เมดินสกี หัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาของรัสเซีย จะระบุว่า การเจรจามี ‘ความคืบหน้าสำคัญ’ แต่กองกำลังรัสเซียก็ยังคงเดินหน้าปิดล้อมและโจมตีเมืองต่างๆ ในยูเครนเป็นสัปดาห์ที่ 2
นอกจากนี้ทางด้านสมาชิกคณะผู้แทนเจรจารายหนึ่งของยูเครนระบุว่า การเจรจายังไม่บรรลุผลตามที่ยูเครนต้องการ เช่น การหยุดยิงโดยทันทีและการพักรบ แต่ทั้งสองฝั่งรับทราบตรงกันถึงความสำคัญของการอพยพประชาชน
ทั้งนี้ มิคาอิโล โปโดลยัค ที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเครน กล่าวในฐานะตัวแทนเจรจาของยูเครนในครั้งนี้ว่า ทั้งรัสเซียกับยูเครนต่างเห็นสมควรให้มีการหยุดยิงชั่วคราวเพื่อเปิดทางให้ประชาชนอพยพได้ รวมถึงเพื่อเปิดเส้นทางขนส่งเพื่อมนุษยธรรมด้วย
อย่างไรก็ตาม โปโดลยัคย้ำว่า การหยุดยิงชั่วคราวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทุกที่ และอาจเกิดขึ้นเพียงในพื้นที่ที่จะเปิดเส้นทางดังกล่าวเท่านั้น และจะหยุดยิงแค่ช่วงเวลาที่เปิดให้มีการอพยพประชาชน
ด้านสำนักข่าว BelTA ของทางการเบลารุส ยังรายงานอ้างอิงคำกล่าวของโปโดลยัคที่ระบุว่า ทั้งสองฝ่ายรับทราบตรงกันถึงการจัดส่งยาและอาหารไปยังบริเวณที่มีการสู้รบรุนแรง และรัสเซียกับยูเครนจะเจรจาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า
ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียระบุว่า รัสเซียยังคงเน้นย้ำในจุดยืนที่ว่า ข้อตกลงสันติภาพกับยูเครนใดๆ ก็ตาม จะต้องกำหนดให้ยูเครน ‘ปลอดทหาร’ โดยรัสเซียยังส่งสัญญาณว่าต้องการให้ยูเครนรับ ‘สถานะเป็นกลาง’ และตกลงที่จะยุติความพยายามเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO
การบรรลุข้อตกลงครั้งนี้มีขึ้นในระหว่างการเจรจาสันติภาพรอบสองของทั้งสองฝ่าย หลังจากกองทัพรัสเซียสามารถบุกยึดเมืองเคอร์ซอน ทางตอนใต้ของยูเครน โดย เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวระหว่างการสรุปข่าวทางโทรทัศน์ต่อผู้สื่อข่าวต่างชาติเมื่อวันพฤหัสบดีว่า รัสเซียพร้อมเจรจา แต่จะยังเดินหน้าปฏิบัติการทางทหารต่อไป โดยให้เหตุผลว่า รัสเซียไม่สามารถปล่อยให้ยูเครนมี ‘โครงสร้างพื้นฐานทางกองทัพ’ ได้ เพราะเป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย
ทางด้านประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน ยืนยันเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ยูเครนจะไม่ปลดกองทัพ และตนเองพร้อมพบปะหารือกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินโดยตรง รวมถึงเรียกร้องให้น่านฟ้ายูเครนเป็นเขตห้ามบินโดยทันที และยืนยันจุดยืนที่รัสเซียจะต้องถอนทหารออกจากยูเครนในทันที
ทั้งนี้นับตั้งแต่ที่รัสเซียเปิดฉากโจมตีบุกรุกยูเครน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR พบว่า มีจำนวนผู้อพยพหลั่งไหลเข้ามาในยุโรปฝั่งตะวันตกมากกว่า 1 ล้านคนแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
ยิ่งไปกว่านั้น ในวันเดียวกันทางสถานีโทรทัศน์ CNBC ได้รายงานการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจรัสเซียของทาง J.P. Morgan ที่ออกมาระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่มีต่อรัสเซียกรณีบุกโจมตียูเครน จะส่งผลให้เศรษฐกิจของรัสเซียปีนี้มีโอกาสหดตัวหนักถึง 35 เปอร์เซ็นต์
อ้างอิง: