×

ทำไม จัสติน ทรูโด ต้องลาออก? ปิดฉาก 9 ปี นายกฯ แคนาดา

07.01.2025
  • LOADING...
จัสติน ทรูโด

การประกาศลาออกของ จัสติน ทรูโด จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแคนาดาที่ครองมานานถึง 9 ปี ก่อให้เกิดคำถามจากหลายฝ่ายว่า ทำไมเขาถึงตัดสินใจวางมือจากอำนาจบริหารประเทศ และปิดฉากบทบาทผู้นำในวัย 53 ปี ซึ่งถือว่ายังไม่มากนักเมื่อเทียบกับผู้นำอีกหลายประเทศ

 

ทรูโดระบุเหตุผลของการประกาศลาออก เนื่องจากการต่อสู้ที่เกิดขึ้นภายในพรรค Liberal ทำให้เขาไม่ใช่ ‘ตัวเลือกที่ดีที่สุด’ ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในเดือนตุลาคมของปีนี้ 

 

“ประเทศนี้สมควรได้รับตัวเลือกที่แท้จริงในการเลือกตั้งครั้งหน้า และมันชัดเจนสำหรับผมแล้วว่า หากผมต้องต่อสู้กับการต่อสู้ภายใน ผมก็ไม่สามารถเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการเลือกตั้งนั้นได้”

 

โดยทรูโดจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกหัวหน้าพรรค Liberal คนใหม่ ขณะที่เขาขอให้รัฐสภาปิดหรือระงับการประชุมไปจนถึงวันที่ 24 มีนาคม เพื่อให้พรรคมีเวลาค้นหาผู้นำใหม่

 

ทั้งนี้ การลาออกของทรูโดมีขึ้นในช่วงเวลาที่ความนิยมของเขาและพรรค Liberal ลดต่ำลง ในขณะที่ตัวเขาเองก็เผชิญกับข้อครหาอื้อฉาว ทั้งเรื่องจริยธรรมและละเมิดกฎหมายผลประโยชน์ทับซ้อน (Federal Conflict of Interest Act)

 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ความไม่มั่นคงทางการเมืองของทรูโดเกิดขึ้น รวมถึงคำขู่ขึ้นภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ

 

โดยปัญหาและความท้าทายต่างๆ เหล่านี้ นำมาซึ่งการสิ้นสุดยุคสมัยของทรูโดในฐานะผู้นำแคนาดา

 

9 ปี แห่งเส้นทางอำนาจ

 

ด้วยเสน่ห์ของความเป็นผู้นำหนุ่ม และข้อความทางการเมืองที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง ทำให้ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2015 ชาวแคนาดาตัดสินใจเทคะแนนเลือกพรรค Liberal ของทรูโด ส่งผลให้พรรคที่เคยเป็นอันดับ 3 ทางการเมือง สามารถเอาชนะการเลือกตั้งและครองที่นั่งส่วนใหญ่ในสภา ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองของแคนาดา

 

เส้นทางการเมืองของทรูโดตลอด 9 ปีที่ผ่านมา เผชิญอุปสรรคและความท้าทายมากมาย โดยในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2019 พรรคของเขาทำผลงานได้ย่ำแย่และกลายมาเป็นพรรคเสียงข้างน้อย ที่ต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากพรรคอื่นเพื่อรักษาอำนาจไว้

 

ปัจจุบันทรูโดเป็นผู้นำในกลุ่ม G7 ที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุด และเป็นผู้นำเพียงคนเดียวที่ยังคงเหลืออยู่ ในขณะที่ผู้นำประเทศอื่นๆ ที่เริ่มต้นดำรงตำแหน่งในช่วงเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น บารัก โอบามา, อังเกลา แมร์เคิล, ชินโซ อาเบะ และ เดวิด คาเมรอน ต่างวางมือไปหมดแล้ว

 

เผชิญเรื่องอื้อฉาว ความนิยมตกต่ำ

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทรูโดถูกมองว่ากลายเป็นตัวถ่วงโชคชะตาของพรรค และทำให้ความนิยมของพรรคหดหาย โดยตลอดหลายเดือนมานี้ เขาถูกถามซ้ำแล้วซ้ำอีกจากผู้สื่อข่าวว่า “จะลาออกจากตำแหน่งหรือไม่”

 

โดยก่อนหน้านี้ทรูโดออกมากล่าวถึงความสำเร็จที่เขาภาคภูมิใจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแคนาดา ซึ่งรวมถึงการฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับรัฐบาลทรัมป์สมัยแรก และการนำสวัสดิการสำหรับเด็กมาใช้ ซึ่งถูกมองว่ามีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาความยากจนด้วย

 

แต่ความน่าเชื่อถือในรัฐบาลของทรูโดถูกตั้งคำถาม หลังจากที่เขาเผชิญข้อครหาด้านจริยธรรม และละเมิดกฎหมายผลประโยชน์ทับซ้อนในช่วงหลายปีของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

 

กรณีหนึ่งคือการที่ทรูโดรับของขวัญและทริปท่องเที่ยวเกาะส่วนตัวสุดหรูในบาฮามาสฟรีจาก อากา ข่าน (Aga Khan) มหาเศรษฐีผู้ใจบุญและผู้นำทางจิตวิญญาณที่สนิทสนมกับครอบครัวทรูโด 

 

โดยข่านเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิอากาข่าน (Aga Khan Foundation) หน่วยงานด้านการพัฒนาและแก้ปัญหาความยากจนระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลแคนาดารวมหลายร้อยล้านดอลลาร์ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการแทรกแซงระบบยุติธรรม โดยในปี 2019 กรรมาธิการจริยธรรมของรัฐสภาแคนาดาพบว่า ทรูโดใช้อิทธิพลอย่างไม่เหมาะสมต่อ โจดี้ วิลสัน-เรย์โบลด์ (Jody Wilson-Raybould) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและอัยการสูงสุดในขณะนั้น เพื่อแทรกแซงคดีทุจริตของบริษัทก่อสร้าง SNC-Lavalin

 

ขณะที่ในปี 2020 ทรูโดยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการเลือกองค์กรการกุศลที่มีความเกี่ยวข้องกับครอบครัวของเขาเพื่อดำเนินการโครงการสำคัญของรัฐบาล

 

นอกจากกรณีอื้อฉาวดังกล่าว รัฐบาลทรูโดยังเผชิญอุปสรรคจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นและภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ซึ่งส่งผลต่อการเมืองและการเลือกตั้งทั่วโลก ขณะที่ทรูโดต้องลดเป้าหมายการรับผู้อพยพลงอย่างมาก เนื่องจากบริการสาธารณะภายในประเทศเริ่มแสดงให้เห็นถึงความตึงเครียด

 

โดยนักวิเคราะห์มองว่าประชาชนแคนาดาไม่น้อยผิดหวังที่รัฐบาลไม่สามารถตอบสนองนโยบายตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ได้ 

 

สัญญาณความปั่นป่วนและการแบ่งแยกภายในพรรค Liberal ปรากฏขึ้นในช่วงการเลือกตั้งท้องถิ่นของแคนาดาที่ผ่านมา ซึ่งพรรคสูญเสียที่นั่งในหลายพื้นที่ที่เคยถูกมองว่าเป็นฐานเสียงของพรรค

 

ผลสำรวจโดยสถาบัน Angus Reid ที่จัดทำขึ้นในช่วงวันหยุดปีใหม่ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าคะแนนการสนับสนุนพรรค Liberal อยู่ในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2014

 

ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่าคู่แข่งอย่างพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งนำโดย ปิแอร์ ปัวลิเยฟ (Pierre Poilievre) วัย 45 ปี จะชนะการเลือกตั้งอย่างง่ายดายหากการเลือกตั้งจัดขึ้นในวันนี้

 

ผลกระทบจากคำขู่ทรัมป์

 

ท่าทีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ขู่จะจัดเก็บภาษีสินค้าของแคนาดา 25% กลายเป็นความท้าทายที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทรูโดและพรรค Liberal

 

โดยการลาออกอย่างกะทันหันของ คริสเทีย ฟรีแลนด์ รองนายกรัฐมนตรีคนสำคัญของทรูโด เมื่อกลางเดือนธันวาคม กลายเป็นประเด็นร้อนต่อทรูโด เนื่องจากฟรีแลนด์อ้างว่าความล้มเหลวของทรูโดที่ไม่มองว่าคำขู่ของทรัมป์เป็นปัญหาที่จริงจังและร้ายแรง กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เธอตัดสินใจออกจากรัฐบาลของเขา 

 

สิ่งที่ตามมาคือสมาชิกพรรคคนอื่นๆ ก็เริ่มแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนต่อสาธารณะว่าพวกเขาไม่สนับสนุนการเป็นผู้นำของทรูโดอีกต่อไป

 

ทางด้านทรัมป์โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดียอ้างว่า แรงกดดันเรื่องคำขู่ขึ้นภาษีทำให้ทรูโดต้องลาออก และย้ำจุดยืนเดิมของเขาว่า แคนาดาควรเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ

 

“หากแคนาดารวมเข้ากับสหรัฐอเมริกาก็จะไม่มีภาษีศุลกากร ภาษีจะลดลงอย่างมาก และพวกเขาจะปลอดภัยจากภัยคุกคามของเรือรัสเซียและจีนที่คอยล้อมรอบพวกเขาอยู่ตลอดเวลา”

 

ใครจะเป็นผู้นำคนใหม่?

 

มีแนวโน้มว่าพรรค Liberal จะพยายามหาผู้นำคนใหม่มาแทนที่ทรูโด ก่อนจะสิ้นสุดระยะเวลาระงับการประชุมสภา แม้ว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าผู้นำคนใหม่นั้นจะถูกเลือกมาอย่างไร

 

โดยปกติผู้นำของพรรคการเมืองหลักของแคนาดาจะได้รับเลือกภายในระยะเวลา 4-5 เดือน ซึ่งกระบวนการในการเลือกรวมถึงการประชุมผู้นำอย่างเป็นทางการด้วย

 

ขณะที่ทรูโดกล่าวว่าผู้นำคนใหม่จะได้รับเลือกผ่าน “กระบวนการที่มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นทั่วประเทศ”

 

ด้าน ซาชิต เมห์รา (Sachit Mehra) ประธานพรรค Liberal กล่าวว่า ทางพรรคจะจัดประชุมคณะกรรมการระดับชาติในสัปดาห์นี้เพื่อเลือกผู้นำคนใหม่

 

สำหรับตัวเต็งที่จะได้รับเลือกให้สืบทอดตำแหน่งต่อจากทรูโดนั้นยังไม่มีความชัดเจน แต่เป็นไปได้ว่าอาจมีการเสนอชื่อสมาชิกพรรคหลายคนที่มีบทบาทโดดเด่น เช่น คริสเทีย ฟรีแลนด์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีคลัง, อนิตา อานันด์ (Anita Anand) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือ มาร์ก คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดา

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X