×

ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่หายไป หลังกรณีอดีต ผกก.โจ้

10.09.2021
  • LOADING...
ผกก.โจ้

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดทำผลสำรวจทางออนไลน์ต่อกรณีการใช้อำนาจของตำรวจเพื่อค้นหาความจริงคดี ‘อดีต ผกก.โจ้’ หลังจาก พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ หรือ ผกก.โจ้ และลูกน้องรวม 7 คน ใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนเสียชีวิตเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จากผลสำรวจมีข้อมูลที่น่าสนใจในหลากหลายประเด็น

 

  • TIJ เริ่มการสำรวจตั้งแต่วันที่ 2-5 กันยายน 2564 และมีประชาชนร่วมตอบแบบสำรวจ 5,291 คน เป็นเพศชายร้อยละ 47.29 เพศหญิงร้อยละ 49.44 ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป ในจำนวนนี้มีร้อยละ 36.65 (1,939 คน) เคยเรียนหรือทำงาน หรือกำลังเรียนหรือทำงานในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม

 

  • โดยผลทำรวจของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยชี้ว่า ประชาชนมองการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ได้ข้อมูลมาจากผู้ต้องหาคดีร้ายแรง ร้อยละ 73.54 (หรือคิดเป็นจำนวน 3,891 คน) ‘รับไม่ได้’, ร้อยละ 13.23 (700 คน) ตอบว่า ‘ยอมรับได้’ และอีกร้อยละ 13.23 (700 คน) ตอบว่า ‘ไม่แน่ใจ’ และหากเป็นการใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้ข้อมูลมาในคดีไม่ร้ายแรงนั้น ประชาชนร้อยละ 93.03 (4922 คน) ตอบว่า ‘ยอมรับไม่ได้’, ร้อยละ 2.66 (141 คน) บอกว่า ‘ยอมรับได้’ และมีร้อยละ 4.31 (228 คน) ตอบว่า ‘ไม่แน่ใจ’

 

  • นอกจากนี้ยังมีการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยก่อนที่จะทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ ผกก.โจ้ ที่ใช้ความรุนแรงสอบสวนผู้ต้องหาจนเสียชีวิต ประชาชนมีค่าเฉลี่ยความเชื่อมั่นอยู่ที่ 2.01 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน แต่หลังจากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับอดีต ผกก.โจ้แล้ว ประชาชนมีความเชื่อมั่นลดลงเหลือเฉลี่ย 1.29 คะแนนจาก 5 คะแนน โดยภายหลังจากที่อดีต ผกก.โจ้ เข้ามอบตัวและแถลงรายละเอียดคดี ประชาชนกลับมีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาลดลงไปจากเดิมอีก คือเหลือเฉลี่ย 1.20 คะแนน จาก 5 คะแนน

 

  • ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ผู้ตอบแบบสำรวจที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ให้คะแนนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญา น้อยกว่ากลุ่มที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป โดยในกลุ่มผู้ทำแบบสำรวจที่มีอายุน้อยเหล่านี้ ก่อนหน้าทราบเรื่องอดีต ผกก.โจ้นั้นก็มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ค่าเฉลี่ย 1.67 คะแนน และเมื่อทราบเรื่องแล้วก็ลดลงไปเหลือ 0.91 คะแนน และลดลงไปอีกเมื่อ ผกก.โจ้ เข้ามอบตัวพร้อมมีงานแถลง คือมีคะแนนเฉลี่ยเพียง 0.84 คะแนน

 

  • ผลสำรวจประชาชนต่อความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในกระบวนการสืบสวนสอบสวนนั้น ผู้ตอบแบบสำรวจกว่าร้อยละ 86 ตอบว่า ‘ไม่เห็นด้วย’ (50.20% หรือคิดเป็นจำนวน 2,656 คน) และ ‘ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง’ (36.06% – 1,908 คน) ว่าการใช้ความรุนแรงเพื่อเค้นหาข้อมูลมีความจำเป็นในทางปฏิบัติ หรือเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในกระบวนการค้นหาความจริง และอีกกว่าร้อยละ 94 ตอบว่า ‘ไม่เห็นด้วย’ (47.46% – 2,511 คน) และ ‘ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง’ (41.33% – 2,187 คน) ว่าการใช้ความรุนแรงในการควบคุมผู้ต้องหาและซักถามหาพยานหลักฐาน สามารถทำให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากกว่าวิธีอื่น

 

  • และเมื่อถามว่า การปล่อยให้มีการใช้ความรุนแรงในการสืบสวนสอบสวน จะทำให้เกิดแนวโน้มที่ตำรวจพึ่งพาวิธีนอกกฎหมายไปแสวงหาข้อเท็จจริงจากผู้ต้องหา ผู้ตอบแบบสำรวจกว่าร้อยละ 80 ตอบว่า ‘เห็นด้วยอย่างยิ่ง’ (51.48% – 2,724 คน) และตอบว่า ‘เห็นด้วย’ (29.05% – 1,537 คน) และต่อคำถามว่า การปล่อยให้มีการใช้ความรุนแรงในการสืบสวนสอบสวน จะทำให้ตำรวจสามารถใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อข่มขู่หรือเรียกผลประโยชน์ได้นั้น ผู้ตอบแบบสำรวจกว่าร้อยละ 87 ยังตอบว่า ‘เห็นด้วยอย่างยิ่ง’ (69.38% – 3,671 คน) และ ‘เห็นด้วย’ (18.01% – 953 คน)

 

  • เมื่อถามว่า การปล่อยให้มีการใช้ความรุนแรงในการสืบสวนสอบสวน จะส่งผลให้ผู้บริสุทธิ์ถูกจับกุม ถูกฟ้องดำเนินคดี และถูกตัดสินลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม ผู้ตอบแบบสำรวจกว่าร้อยละ 88 ตอบว่า ‘เห็นด้วยอย่างยิ่ง’ (62.12% – 3,287 คน) และ ‘เห็นด้วย’ (26.54% – 1,404 คน) และต่อคำถามว่า การปล่อยให้มีการใช้ความรุนแรงในการสืบสวนสอบสวน จะบั่นทอนความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบร้อยละ 92 ตอบว่า ‘เห็นด้วยอย่างยิ่ง’ (66.79% – 3,534 คน) และ ‘เห็นด้วย’ (25.16% – 1,331 คน) และผู้ตอบแบบสำรวจกว่าร้อยละ 94 ยังเห็นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในการสืบสวนสอบสวนในฐานะเป็นปัญหาสำคัญลำดับแรก โดยมีผู้ตอบว่า ‘เห็นด้วยอย่างยิ่ง’ ถึงร้อยละ 67.06 (3,548 คน) และตอบว่า ‘เห็นด้วย’ ร้อยละ 27.10 (1,434 คน)

 

  • นอกจากนี้ แบบสำรวจยังสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งภาพรวมแล้วผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่า ควรมีหน่วยงานอื่นเข้าไปมีบทบาทร่วมในกระบวนการทำงานของตำรวจ ทั้งการรวบรวมพยานหลักฐาน สอบสวน และทำสำนวนคดี ควรมีช่องทางให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องหามากขึ้น รวมทั้งควรมีช่องทางให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบได้มากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 40.26 (2,130 คน) ตอบว่า ‘ไม่เหมาะสม/ไม่เห็นด้วย กับกระบวนการสืบสวนสอบสวนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน’ และอีกร้อยละ 78.36 (4,146 คน) ตอบว่า ‘เหมาะสม/เห็นด้วย’ ต่อคำถามที่ว่า ควรเปิดช่องให้ ‘อัยการ’ มีบทบาทมากขึ้นในการรวบรวมพยานหลักฐาน การสอบสวน และการทำสำนวนคดี และตอบว่า ‘เหมาะสม/เห็นด้วย’ ที่ควรมีระบบที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มี ‘ทนาย’ เข้าไปช่วยเหลือผู้ต้องหาและจำเลยตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายอีกร้อยละ 89.30 (4,725 คน) และตอบว่า ‘เหมาะสม/เห็นด้วย’ ควรปรับปรุงกลไกกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อให้ ‘ศาล’ มีบทบาทมากขึ้นในการแสวงหาข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาคดีอีกร้อยละ 87.30 (4,619 คน)

 

  • โดยข้อที่ผู้ตอบแบบสำรวจมีความเห็นไปในทางเดียวกันมากที่สุด คือ พนักงานสอบสวนจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะการค้นหาความจริงโดยไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล มีผู้ตอบว่า ‘เหมาะสม/เห็นด้วย’ ถึงร้อยละ 97.39 (5,153 คน), ร้อยละ 82.10 (4,344 คน) ตอบว่า ‘เหมาะสม/เห็นด้วย’ ว่าในการค้นหาความจริงและพิจารณาคดี หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ควรมีน้ำหนักมากกว่าพยานบุคคลหรือคำรับสารภาพในชั้นสอบสวน, ร้อยละ 94.90 (5,021 คน) ตอบว่า ‘เหมาะสม/เห็นด้วย’ ว่าควรทำให้งานนิติวิทยาศาสตร์เป็นอิสระจากการควบคุมของพนักงานสอบสวนในคดี แต่ควรกำกับด้วยกลไกในทางวิชาชีพ, ร้อยละ 86.73 (4,589 คน) ตอบว่า ‘เหมาะสม/เห็นด้วย’ ว่าควรมีช่องทางให้ประชาชนติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา แม้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีโดยตรง

 

  • ต่อประเด็น ‘อำนาจของตำรวจในชั้นสืบสวนสอบสวน ทำสำนวนคดี’ ผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 91.10 (4,820 คน) ตอบว่า ‘เหมาะสม/เห็นด้วย’ ว่าควรมีองค์กรอื่นเข้ามาตรวจสอบหรือถ่วงดุลอำนาจของตำรวจในการค้นหาความจริงในคดี เพื่อความโปร่งใสในการทำงาน และลดความเสี่ยงในการใช้อำนาจโดยมิชอบ

 

  • ทั้งนี้ ผลสำรวจของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยยังชี้ว่า ประชาชน 5,291 คนที่ร่วมตอบแบบสำรวจ คิดว่าประเด็นในการปฏิรูปตำรวจที่สำคัญที่สุดคือ ควรปรับปรุงกลไกการตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจในการค้นหาความจริงในชั้นสอบสวน ให้มีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือ และไม่ละเมิดสิทธิของประชาชน (ร้อยละ 22.94), ควรส่งเสริมให้บทบาทพนักงานสอบสวนมีความเป็นวิชาชีพเฉพาะ ทำงานแบบมืออาชีพ และเป็นอิสระจากสายบังคับบัญชาปกติของหน่วยงาน (ร้อยละ 17.76), ควรสร้างกระบวนการที่เปิดให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลงานตำรวจ (ร้อยละ 14.14) และควรกำหนดบทบาทหน้าที่ของตำรวจให้มุ่งเน้นงานของตำรวจโดยเฉพาะ โดยถ่ายโอนภารกิจอื่นที่ไม่ใช่งานตำรวจออกไปให้องค์กรอื่น (ร้อยละ 13.82)
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising