วันนี้ (6 ธันวาคม) ที่กระทรวงยุติธรรม สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ ประกอบด้วย พ.ต.ท. เชน กาญจนาปัจจ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และโฆษกกรมราชทัณฑ์, กนกวรรณ จิ๋วเชื้อพันธุ์ ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนนทบุรี และรองโฆษกกรมราชทัณฑ์, นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์, สมบูรณ์ ศิลา ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรม และ พรประศม แก้วเสถียร ผู้อำนวยการกลุ่มงานพักการลงโทษ กองทัณฑปฏิบัติ กรมราชทัณฑ์ ร่วมกันแถลงชี้แจงเกี่ยวกับการปล่อยตัวพักการลงโทษของกลุ่มผู้ต้องขังในคดีร่วมกันทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เมื่อปี 2558 ที่ศาลฎีกาพิพากษาให้ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รับโทษจำคุกตั้งแต่ 36-48 ปี, เสี่ยเปี๋ยง-อภิชาติ จันทร์สกุลพร นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่ และ ภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจร่วมกันอย่างถูกต้อง
รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวว่า หนึ่งในหลักการบริหารโทษตามคำพิพากษาของศาลคือการพักการลงโทษ ซึ่งมี 2 กรณี ประกอบด้วย
- การพักการลงโทษกรณีปกติ: จะต้องรับโทษจำคุกมาแล้ว 2 ใน 3 และต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลางหรือเด็ดขาดชั้นเยี่ยม เช่นกรณีของ นาที รัชกิจประการ ที่มีโทษจำคุก 9 เดือน และรับโทษจำคุกมาแล้ว 6 เดือน และ ภูมิ สาระผล ที่มีโทษจำคุก 8 ปี และรับโทษจำคุกมาแล้ว 6 ปี 12 เดือนเศษ ถือว่ารับโทษจำคุกมาแล้ว 2 ใน 3 และเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม เจ้าตัวได้รับการพักการลงโทษไปเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา
- การพักการลงโทษกรณีพิเศษ: รับโทษจำคุกมาแล้ว 1 ใน 3 และมีอาการเจ็บป่วยตามที่กฎหมายกำหนดไว้คือใกล้เสียชีวิตหรืออาการหนัก จะได้รับการเสนอมาจากคณะกรรมการระดับเรือนจำที่มี 8 คน ไปสู่ชั้นอนุกรรมการของกรมราชทัณฑ์ 19 คน โดยมีทั้งอัยการ, ศาล, ตำรวจ, แพทย์, กรมคุมประพฤติ ฯลฯ และปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ดังนั้นจึงมีการกลั่นกรองมาแล้วหลายชั้น
ทั้งนี้ ปี 2567 มีสถิติผู้ต้องขังที่ได้รับการพักการลงโทษกรณีปกติ จำนวน 6,792 คน และการพักการลงโทษกรณีพิเศษ จำนวน 1,320 คน รวมทั้งหมด 8,112 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มกราคม 2567)
พักโทษไม่เท่ากับการพ้นโทษ
ด้านที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า การพักโทษไม่ใช่การพ้นโทษ แต่ยังคงอยู่ระหว่างต้องโทษ ซึ่งกฎหมายต้องการให้คนที่ถูกคุมขังอยู่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตเพื่อปรับตัวกลับสู่สังคม โดยมีการกำหนดเงื่อนไข เช่น จะต้องรายงานตัวตามวันและเวลา และประพฤติตนอยู่ในสถานที่มีขอบเขต หากปฏิบัติผิดเงื่อนไขจะถูกนำกลับมาคุมขังที่เรือนจำดังเดิมจนกว่าจะครบโทษ ซึ่งทุกปีมีการเสนอให้ยกเลิกการพักโทษเฉลี่ยปีละ 4.4% และที่ไม่มีการแถลงข่าวว่าใครพักโทษเพราะว่าเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวอีกว่า “การป่วยไม่ใช่หลักเกณฑ์ของการได้รับพระราชทานอภัยโทษ ส่วนนั้นเป็นขั้นตอนอีกลักษณะหนึ่งที่ไปแทรกแซงไม่ได้ แต่การเจ็บป่วยจะได้รับการพิจารณาเพื่อเข้าสู่โครงการพักการลงโทษให้ได้รับการรักษาและกลับไปอยู่กับครอบครัว ทั้งนี้ หากมีผู้ต้องขังเสียชีวิตภายในเรือนจำ ถือเป็นเรื่องยากลำบากในความรับผิดชอบของผู้บัญชาการเรือนจำที่จะต้องรายงานถึงสาเหตุการเสียชีวิต นอกจากนี้ ไม่ว่าผู้ต้องขังรายนั้นจะเป็นผู้ต้องขังในคดีใด แต่การพระราชทานอภัยโทษถือเป็นพระราชอำนาจที่มิอาจก้าวล่วงได้ เป็นเรื่องนอกเหนือจากอำนาจของกระทรวงยุติธรรมไปแล้ว”
ยืนยัน ผู้ต้องขังคดีจำนำข้าวเข้าเงื่อนไขพักโทษตามเกณฑ์
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวด้วยว่า บุญทรงถูกตัดสินจำคุก 48 ปี ได้รับพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป 4 ครั้ง จนครั้งสุดท้ายเหลือโทษจำคุกเพียง 10 ปี 8 เดือน และเจ้าตัวจำคุกมาแล้ว 7 ปี 3 เดือน 10 วัน จึงครบกำหนด 2 ใน 3 ได้รับการพักการลงโทษกรณีปกติตามเงื่อนไข ซึ่งการพักการลงโทษของผู้ต้องขังในคดีจำนำข้าวไม่ใช่ว่ามาเกิดขึ้นในช่วงนี้พอดี แต่เป็นเพราะพวกเขารับโทษจำคุกมาครบตามกำหนดแล้ว และตรงกับเงื่อนไขในช่วงนี้พอดี
ส่วนกรณีของเสี่ยเปี๋ยง ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรมระบุว่า เสี่ยเปี๋ยงได้รับการพักการลงโทษกรณีพิเศษ เนื่องด้วยเป็นผู้ป่วยกลุ่ม 608 ประกอบด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย, ความดันโลหิตสูง, หยุดหายใจขณะนอนหลับชนิดรุนแรง, ต่อมลูกหมากโต, กระดูกสันหลังทับเส้นประสาท, ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ, เบาหวาน และหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้และเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เสี่ยงเสียชีวิตหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม
กรมราชทัณฑ์มีหลักปฏิบัติให้ผู้ต้องขังสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างรวดเร็วเหมือนคนทั่วไปภายนอก อีกทั้งโรคที่เสี่ยเปี๋ยงเป็นคือโรคไต มีการล้างไตทางหน้าท้อง และที่ทำให้เสี่ยเปี๋ยงเข้าหลักเกณฑ์คือรับโทษจำคุกมาแล้ว 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป และเจ็บป่วยร้ายแรงมีโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
ทั้งนี้ เสี่ยเปี๋ยงยังไม่มีโทษกักขังหรือโทษอื่นใดในคดีอื่น และมีผู้อุปการะเป็นหลักแหล่ง รวมถึงได้รับการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป 5 ครั้ง จากคดีทั้งหมด 4 คดี และได้รับโทษจำคุกครบกำหนดหมดแล้ว เหลือเพียง 1 คดีคือคดีเกี่ยวกับบ้านเอื้ออาทร
ผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองเปรมระบุว่าระบุว่า ส่วนผู้ต้องขังในคดีจำนำข้าวอีก 2 คนที่เหลือยังคงถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม แต่เนื่องด้วยยังมีโทษสูงและไม่ได้เจ็บป่วย จึงยังไม่เข้าหลักเกณฑ์การพักการลงโทษ
ขณะที่ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เปิดเผยว่า ตอนที่เสี่ยเปี๋ยงอยู่ในเรือนจำกลางคลองเปรมก็ได้รับการดูแลจากแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และในปี 2565 ภายหลังการตรวจเลือดและตรวจร่างกายพบว่าการทำงานของไตผิดปกติและไม่ดีขึ้น แพทย์จึงพิจารณาส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่าเป็นผู้ป่วยไตเสื่อมระยะสุดท้าย จึงต้องเข้าฟอกไตทางหน้าท้องและผ่าตัดต่างๆ พอส่งกลับพื้นที่ก็ยังติดเชื้อเป็นระยะๆ จนช่วงปลายปี 2566 ได้รับการปลูกถ่ายไตและจำเป็นต้องปรับยาต่อเนื่อง
ออกระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ไม่ได้รอ ‘ยิ่งลักษณ์’ กลับไทย
ส่วนความคืบหน้าในการจัดทำระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 หรือระเบียบคุมขังนอกเรือนจำนั้น ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า เรายืนยันว่าการจัดทำระเบียบคุมขังนอกเรือนจำไม่ได้รอให้ใครกลับมาจึงค่อยบังคับใช้ แต่รอเวลาที่ครบถ้วนของกฎระเบียบ ซึ่งเราไม่ได้มีงบประมาณเพียงพอในการขยายเรือนจำ
ขณะเดียวกันมีข่าวออกมาจำนวนมากว่าทำไมจึงเอาผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีไปอยู่รวมกับผู้ต้องขังเด็ดขาด ทำไมจึงมีความแออัด นี่คือข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ วันนี้จึงเป็นช่วงเวลาจำเป็นที่ต้องมีสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ ยืนยันไม่ใช่หลักเกณฑ์เพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ส่วนกรณียิ่งลักษณ์จะเข้าเกณฑ์คุมขังนอกเรือนจำหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ เพราะหลักเกณฑ์ดังกล่าวยังไม่เสร็จ แต่คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 ส่วนจะทันช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2568 ตามที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ายิ่งลักษณ์จะกลับมาไทยหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับขั้นตอน
โทษเกิน 4 ปี ต้องรับโทษจำคุกก่อน
ขณะที่รองโฆษกกรมราชทัณฑ์กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ประกาศใช้ระเบียบดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2566 ซึ่งในปี 2567 คณะกรรมการจะต้องดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์ประกอบ และปัจจุบันนี้อยู่ในช่วงของการประกาศรับฟังความคิดเห็นในระบบกลางทางกฎหมาย หรือ www.law.go.th ซึ่งเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 2-17 ธันวาคม 2567
เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นแล้วนั้น กรมราชทัณฑ์จึงจะได้นำความคิดเห็นทั้งหมดมาปรับปรุงแก้ไข ก่อนส่งให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ลงนามในประกาศดังกล่าวเพื่อให้มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ บุคคลที่จะออกไปคุมขังที่อื่นจะต้องผ่านการอบรมและประเมินความเสี่ยงด้วย อย่างไรก็ตาม การคุมขังนอกเรือนจำไม่ใช่สิทธิประโยชน์ของผู้ต้องขัง แต่เป็นการบริหารพื้นที่ในเรือนจำ ซึ่งปัจจุบันกรมราชทัณฑ์มีผู้ต้องขังที่อยู่ในความดูแลทั่วประเทศกว่า 300,000 คน จึงต้องลดความแออัดในเรือนจำ
รองโฆษกกรมราชทัณฑ์ย้ำด้วยว่า ระเบียบดังกล่าวมีการเสนอไว้ที่คำพิพากษาศาลครั้งล่าสุดไม่เกิน 4 ปี ดังนั้นถ้ากรณีของอดีตนายกฯ มีโทษจำคุกมากกว่า ก็จะต้องมารับโทษจำคุกภายในเรือนจำในระยะเวลาหนึ่งก่อน แต่อย่างไรต้องรอรับฟังความคิดเห็นของระเบียบดังกล่าวก่อนว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขใดๆ หรือไม่ ตอนนี้จึงเป็นการตอบเพียงเบื้องต้นเท่านั้น
เมื่อถามว่า ยิ่งลักษณ์จะเป็นอีกหนึ่งคนที่ไม่ต้องติดคุกแม้แต่วันเดียวเหมือนกับทักษิณหรือไม่ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมยืนยันว่า ทักษิณติดคุก เพราะไปอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจก็ถือว่าเป็นคุกแห่งหนึ่งตามกฎหมาย ยอมรับว่ากังวลต่อข้อสงสัยของพี่น้องประชาชน แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ไปแล้วต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ทำ ดังนั้นในเรื่องชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังดำเนินการอยู่ ขอให้รอการวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นผู้ตัดสิน