วันนี้ (4 กรกฎาคม) ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส. กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กรณีการเสียชีวิตของ เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ ‘บุ้ง’ ระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ
ศศินันท์ชี้ว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่คลุมเครือและไม่ชัดเจนถึงกระบวนการรักษาชีวิตระหว่างที่ถูกฝากขังภายใต้การดูแลของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม พร้อมไล่ลำดับไทม์ไลน์และสถานการณ์ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 เนติพรได้ถูกถอนประกันตัวในคดีอาญา มาตรา 112 และถูกตัดสินให้จำคุกในคดีละเมิดอำนาจศาล 1 เดือน
ศศินันท์กล่าวว่า เนติพรถูกศาลตัดสินจำคุก 1 เดือนในข้อหาละเมิดอำนาจศาล ซึ่งคดีดังกล่าวจะพ้นโทษในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ แต่เพราะในวันเดียวกันเอง ซึ่งก็คือวันที่ 26 มกราคม ศาลสั่งถอนประกันคดีมาตรา 112 หมายความว่าระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ บุ้ง เนติพร อยู่ในเรือนจำ ในฐานะถูกฝากขังระหว่างการพิจารณาคดี และเมื่อคดียังไม่สิ้นสุด ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ต่อมาวันที่ 27 มกราคม หลังจากถูกตัดสินจำคุก บุ้งได้ประกาศเรื่องอดอาหารจนอาการทรุดลงเรื่อยๆ และวันที่ 14 พฤษภาคม บุ้งเสียชีวิตระหว่างที่ถูกควบคุมตัว
หลังการเสียชีวิตของบุ้ง เนติพร กรมราชทัณฑ์ได้ออกมาชี้แจงโดยระบุกับผู้สื่อข่าวว่า ทางกระทรวงยุติธรรมจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และจะให้ความร่วมมือกับญาติในการตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงต้องการสอบถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่าสิ่งที่กรมราชทัณฑ์ได้แถลงมานั้นเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ สืบเนื่องจากข้อมูลที่ได้จากคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน มีการเรียกหน่วยงานเข้ามาชี้แจง มีข้อมูล 2 ชุด ข้อมูลชุดแรกเป็นข้อมูลไทม์ไลน์การเสียชีวิตของคุณบุ้งที่กรมราชทัณฑ์ชี้แจงในคณะกรรมาธิการฯ ข้อมูลชุดที่สอง คือไทม์ไลน์การเสียชีวิตที่ได้มาจากกล้องวงจรปิด
ข้อเท็จจริงประการแรก คือการแถลงของกรมราชทัณฑ์ไม่ตรงกับข้อมูลที่ได้ชี้แจงในห้องกรรมาธิการฯ ซึ่งจากข้อมูลต่างๆ ที่ไล่ลำดับมา สามารถเป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดว่ามาตรฐานการดูแลผู้ป่วยของกรมราชทัณฑ์มีปัญหาแน่นอน และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอยืนยันว่าการประกันตัวกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของระบบยุติธรรมของไทยนั้นมีปัญหา จึงอยากได้ยินคำตอบจากรัฐมนตรีในคำถามแรก ว่าสาเหตุที่แท้จริงของการเสียชีวิตของบุ้ง เนติพร คืออะไร เพราะเหตุใดกระบวนการการกู้ชีพที่เกิดขึ้นถึงไม่มีการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator: AED) รวมถึงเวลาเสียชีวิตที่แท้จริงคือเวลาไหน และกรมราชทัณฑ์จะรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตครั้งนี้อย่างไร
ศศินันท์ยังได้ย้ำไปยัง รมว.ยุติธรรม ด้วยว่า ขณะนี้ทางกระทรวงเองก็ยังไม่มีกำหนดที่ชัดเจนว่าจะมีแถลงการณ์เรื่องการปฏิรูปเรือนจำเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างไร การคุมขังไม่ได้ต้องการแค่จะลงโทษเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเตรียมความพร้อมให้ผู้ถูกคุมขังกลับมาสู่สังคมด้วยในอนาคตด้วย นี่คือการเปลี่ยนตั้งแต่วิธีคิด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ
“ยินดีที่เห็นท่านรัฐมนตรีมีความตั้งใจจะปฏิรูปเรือนจำ ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรกับนักโทษในคดีการเมือง ซึ่งตอนนี้มีหลายคนมาก และกำลังจะเข้าไปอีกหลายคน อยู่ในระหว่างการควบคุมดูแลของกรมราชทัณฑ์ ดิฉันไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่ต้องสูญเสียใครอีก เรื่องนี้ไม่ได้สำคัญว่าจะเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองคนใด จะเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาทำหรือไม่ แต่สำคัญที่ว่ากระบวนการของกรมราชทัณฑ์ในการดูแลผู้ต้องหาในเรือนจำกำลังมองผู้ต้องหาเป็นมนุษย์คนหนึ่งอยู่หรือไม่” ศศินันท์ตั้งคำถาม
ให้ความสำคัญ เรือนจำเป็นที่ฟื้นฟู
ด้าน พ.ต.อ. ทวี ชี้แจงว่า การเสียชีวิตของบุ้ง เนติพร เป็นการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ต้องมีการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ โดยให้อัยการเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน มีแพทย์ซึ่งไม่ใช่แพทย์ของราชทัณฑ์ และต้องเปิดโอกาสให้ญาติพี่น้องหรือทนายความเข้าร่วมตลอดกระบวนการ
ส่วนสาเหตุการเสียชีวิต นิติเวช โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ระบุว่า การเสียชีวิตเกิดจากการเสียสมดุลเกลือแร่ในเลือดร่วมกับโรคหัวใจโต และมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทั้งหมด 8 คน ประกอบไปด้วยแพทย์ แพทย์นิติเวช แพทย์จากสถาบันโรคทรวงอก ผู้อำนวยการการแพทย์จากหน่วยงานอื่นๆ ส่วนผลทางกฎหมายศาลจะเป็นผู้ชี้
ในส่วนของกระทรวงยุติธรรมต้องการให้มีความเชื่อมั่นว่าคณะกรรมการได้ขยายเวลา 30 วัน โดยได้ทำความเห็นในเบื้องต้นว่าเป็นการเสียชีวิตตามธรรมชาติ ไม่ใช่ผิดธรรมชาติ ไม่ปรากฏร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด อ้างอิงใบมรณบัตรและการตรวจพิสูจน์ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ยืนยันว่าการดำเนินการของกรมราชทัณฑ์เป็นไปตามวิชาชีพตามมาตรฐานสากลและหลักการแพทย์
“ผู้เสียชีวิตได้นอนหลับพักผ่อนปกติ ฝ่ายปกครองของผู้ต้องขังหญิง และในวันเกิดเหตุในเวลา 06.12 น. ได้ลุกขึ้นนั่งเตียง ผู้ป่วยเริ่มคว่ำหน้าลงและมีการชักกระตุก ผู้คุมราชทัณฑ์ที่ผ่านการอบรมได้กดกริ่งแจ้งให้ผู้ควบคุมเข้าติดตาม และสรุปว่าเห็นควรส่งให้แพทย์” พ.ต.อ. ทวี กล่าว
พ.ต.อ. ทวี ย้ำว่า เรือนจำหรือราชทัณฑ์มีไว้เพื่อออก และก่อนออกจะต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย มีผู้ต้องขังเรื่องยาเสพติดประมาณ 200,000 กว่าคน ที่ผ่านมา นักโทษคดียาเสพติดพอปล่อยออกไป 100 คน 61 คนกลับเข้าสู่ราชทัณฑ์ วันนี้จะท้าทายว่าทำอย่างไรให้ราชทัณฑ์เป็นสถานที่ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ต้องนำงบ สปสช. มาช่วย และขอให้ราชทัณฑ์เป็นสถานฟื้นฟูสภาพสังคม มีที่อยู่ มีการศึกษา มีอาชีพ และกระทรวงยุติธรรมให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง
ส่วนความหมายของคดีการเมือง มีความหมายที่กว้าง แต่ในราชทัณฑ์ขณะนี้คดีที่มีการเรียกร้องชุมนุมรวมถึงคดี ม.112 อยู่จำนวน 25 คน และช่วงหลังศาลให้ประกันตัว ส่วนราชทัณฑ์เป็นปลายเหตุ ซึ่งตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสินจะถือว่าผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ หากศาลเห็นด้วย อาจจะไม่ต้องเข้ามาอยู่ในราชทัณฑ์ แต่ให้อยู่ที่บ้านโดยติดกำไล EM