×

“ไหนบอกไม่กู้เงินดิจิทัลวอลเล็ต” จุรินทร์ชี้ สุดท้ายรัฐบาลก็กลืนน้ำลายตัวเอง ด้านหมอวรงค์เผย หากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตล่ม ใครต้องรับผิดชอบ

โดย THE STANDARD TEAM
12.11.2023
  • LOADING...
พูดถึง ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

หลังการแถลงความชัดเจนนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาลโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในช่วงบ่ายของวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา 

 

ล่าสุด จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และรักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปแจกตามโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า นอกจากจะแจกไม่ตรงปกแล้ว ที่นายกรัฐมนตรียืนยันแข็งขันมาตลอดว่าจะไม่กู้ สุดท้ายก็กลับลำมากู้ ถึงขั้นเตรียมออก พ.ร.บ.เงินกู้ กลายเป็นกลืนน้ำลายตัวเอง 

 

สุดท้ายรัฐบาลก็กลืนน้ำลายตัวเอง

 

และยังจะเป็นภาระหนี้ให้กับประเทศและประชาชนต่อไปในอนาคตอีก 5 แสนล้านบาท เพียงเพื่อสนองนโยบายหาเสียง ซึ่งก็เหมือนกันกับเรื่องที่ออกมาตอกย้ำหลายรอบว่าจะฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง ถ้าไม่กลืนน้ำลายตัวเองก็คงไม่เกิดนักโทษสองมาตรฐาน 

 

“ผมขอเตือนให้ระวัง เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของการเดินไปสู่การล้มละลายทางความน่าเชื่อถือของรัฐบาล พูดอะไรออกไปต่อไปก็จะไม่มีใครเชื่อ” จุรินทร์กล่าว 

 

สำหรับเรื่อง พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท จะผิดกฎหมายหรือไม่นั้น ถ้าเกิดผิดกฎหมายขึ้นมาก็จะมาอ้างเป็นเหตุโทษคนอื่นไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่รัฐบาลที่จะต้องหาช่องทางอื่นที่ถูกต้องและถูกกฎหมาย มาถึงวันนี้ดิจิทัลวอลเล็ตจึงกำลังกลายเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับพรรคการเมืองที่มุ่งแต่จะหาเสียงแบบประชานิยม ซึ่งหาก พ.ร.บ.เงินกู้ เข้าสภาได้ ตนก็จะให้ความเห็นต่อไป

 

กู้เงินมาแจกเป็นความเสี่ยง คนไทยต้องใช้หนี้มหาศาล

 

ขณะที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย โพสต์ข้อความผ่าน X (Twitter) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่า “ดิฉันเห็นด้วยกับการช่วยเหลือประชาชนและการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การกู้มาแจกทั้งที่นายกฯ ยืนยันมาตลอดว่าไม่กู้ จะเป็นความเสี่ยงและเป็นภาระที่คนไทยต้องใช้หนี้มหาศาล กู้มาแจกใครก็ทำได้ ไม่ต้องใช้ฝีมือในการบริหาร เหมือนลดค่าไฟ ค่ารถไฟฟ้า ที่ไม่ได้ปรับโครงสร้างที่แท้จริง” 

 

หมอวรงค์ซัดรัฐบาล 5 ข้อ โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 

 

เช่นเดียวกับ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่าน Facebook ว่า แจกเงินบาททิพย์ 10,000 บาท หลังจากนายกฯ เศรษฐา แถลง โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท 50 ล้านคน วงเงิน 5 แสนล้านบาท ทุกอย่างก็เป็นไปตามคาด คือ 

 

  1. เคยบอกว่าไม่ต้องกู้เงิน จะใช้วิธีเกลี่ยงบประมาณ แต่สุดท้ายก็ต้องกู้ แบบนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะว่าอย่างไร เพราะเขาโกหกทั้ง กกต. และโกหกประชาชน
  2. การกู้ครั้งนี้ใช้วิธีออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เขาไม่เร่งกู้ เนื่องจากไม่ได้แจกเงินสด แต่แจกเป็นเงินดิจิทัล กว่าจะเอาเงินดิจิทัลมาขึ้นเป็นเงินบาทต้องรออย่างน้อย 6 เดือน เขาจึงกู้ด้วย พ.ร.บ. ได้
  3. ในระหว่างการใช้เงินดิจิทัลนี้ แม้จะกำหนดค่าเงิน 1 บาทดิจิทัล มีมูลค่า 1 บาทจริง แต่ไม่มีเงินบาทจริงรองรับ ในช่วง 6 เดือนที่ใช้ เงินดิจิทัลจึงกลายเป็นเงินบาททิพย์หรือเงินกงเต๊ก
  4. ต้องตอกย้ำว่า แม้จะกำหนดให้ทุกร้านค้าสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมได้ แต่ร้านค้าชาวบ้าน ตลาดนัด หรือแผงลอย เขาต้องมีเงินบาทจริงใช้ด้วย ไม่สามารถรอ 6 เดือนไปขึ้นเงินได้ เพราะเขาสายป่านสั้น ผลประโยชน์ก็จะตกกับร้านนายทุนใหญ่ (ที่สำคัญคือร้านย่อยไม่อยู่ในระบบภาษี แสดงว่าเข้าร่วมได้ แต่ขึ้นเงินไม่ได้)
  5. ยิ่งมากำหนดว่าใช้ซื้ออาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้น ห้ามนำไปใช้จ่ายค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่าโทรศัพท์, ค่าเรียน, ค่าเทอม, ค่าแก๊ส, ค่าเชื้อเพลิง, สินค้าออนไลน์ และแอลกอฮอล์ ห้ามนำไปใช้หนี้หรือขึ้นเงินสด สุดท้ายจะเกิดขบวนการรับแลกเงินสดโดยใช้เงินทั้งสีขาวและสีเทา

 

ไหนๆ ก็กู้เงินแล้ว ทำไมไม่แจกเป็นเงินสด 

 

บทสรุปของโครงการนี้คือ คนรวยที่เป็นเจ้าของกิจการอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภค ได้ประโยชน์สูงสุด รองลงมาเครือข่ายและคนที่ใกล้ชิดกับนักการเมืองที่จะรับแลกเงินจากชาวบ้าน ส่วนประชาชนได้บ้าง ร้านค้ารายย่อยได้น้อยมาก แต่ประเทศบอบช้ำ สุดท้ายลูกหลานต้องมาใช้หนี้

 

ไหนๆ จะกู้แล้ว ทำไมไม่รอให้ได้เงินมาแล้วแจกเป็นเงินสดไปเลย มีอะไรแอบแฝงเรื่องเงินดิจิทัล (โทเคน) หรือไม่ หรือในแสนล้านบาทที่แยกต่างหากมีค่าทำซูเปอร์แอปแอบแฝงในนี้ด้วย แต่ไม่บอกประชาชน

 

โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตล่ม ใครรับผิดชอบ 

 

และล่าสุดวันนี้ (12 พฤศจิกายน) นพ.วรงค์ ได้โพสต์ Facebook ส่วนตัวอีกครั้งว่า “ถ้าโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทล่ม ใครต้องรับผิดชอบ คือ

 

  1. เศรษฐา 
  2. พรรคเพื่อไทย 
  3. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นพ.วรงค์ ได้ไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาขอให้ส่งศาลปกครอง เพื่อระงับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล เป็นการป้องกันความเสียหายของระบบการเงินการคลังของประเทศในอนาคต 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X