วันนี้ (29 กุมภาพันธ์ 2563) ที่จังหวัดสุโขทัย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีหน้ากากอนามัยว่า คณะรัฐมนตรีได้หารือกัน กำหนดแผนในการรองรับแก้ไขปัญหา โดยดำเนินการ 2 ทาง คือ 1. การใช้หน้ากากอนามัยที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมมีอยู่ด้วยกัน 9 โรงงานทั่วประเทศ ซึ่งศักยภาพในด้านการผลิตต่อเดือน 30 ล้านชิ้น ซึ่ง 30 ล้านชิ้นนี้ ช่วงแรกพอไหว แต่เมื่อสถานการณ์ตึงเครียดขึ้น ซึ่งทุกประเทศในโลกก็มีปัญหาคล้ายกัน
เราก็เริ่มตึงในเรื่องของหน้ากากอนามัยว่าเริ่มขาดตลาด จึงต้องประกาศเป็นสินค้าควบคุม กำหนดว่าการส่งออกต้องขออนุญาตถ้าเกิน 500 ชิ้น แต่มีคนหิ้วออกไปนอกประเทศ จึงต้องออกประกาศมาใหม่เมื่อ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ชิ้นเดียวก็ต้องขออนุญาต คือต้องขออนุญาตทั้งหมด ซึ่งเป็นการสกัดการนำออก เพราะในประเทศเรายังไม่พอใช้ ต้องให้ในประเทศเราพอใช้ก่อน จึงจะอนุญาตส่งออกได้ หรือเป็นชนิดที่ประเทศไทยไม่ใช้ นโยบายคือไม่อนุญาต เพื่อให้หน้ากากอนามัยที่ผลิตในประเทศ 30 ล้านชิ้น และเพิ่มกำลังการผลิตแล้วเป็น 35 ล้านชิ้นต่อเดือนได้กระจายอยู่ในประเทศ ซึ่งกรมการค้าภายในต้องบริหารจัดการ โดยจัด 30% ให้กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแบ่งไปใช้ในโรงพยาบาลต่างๆ ให้เพียงพอสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลทั้งหมด ที่เหลือต้องจัดให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
จุรินทร์ กล่าวว่า ที่สำคัญคือต้องนำมากระจายให้ทั่วถึงในร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านธงฟ้าประชารัฐของกระทรวงพาณิชย์ และร้านค้าย่อยทั่วประเทศ ขณะนี้พาณิชย์จังหวัดรวบรวมตัวเลขสั่งเข้ามา ที่ท่านอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นผู้บริหารจัดการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้กระจายไปทั่วถึงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องกำลังการผลิตเดือนละแค่ 35 ล้านชิ้น และวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากประเทศจีน แต่ไม่กี่วันมานี้เราแก้ปัญหาโดยการหาแหล่งวัตถุดิบอื่นได้จากอินโดนีเซียส่วนหนึ่ง ที่จะเข้ามาทำหน้ากากอนามัย
ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายกำหนดให้มีการผลิตหน้ากากทางเลือก ซึ่งผลิตด้วยผ้าทั่วไปโดยให้กระทรวงมหาดไทยรับไปดำเนินการผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะกระทรวงสาธารณสุขรับรองแล้วว่าสามารถใช้ป้องกันโควิด-19 ได้ ซึ่งตั้งเป้าจะทำ 50 ล้านชิ้น โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์