วันนี้ (23 มีนาคม) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ในฐานะที่เราเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็คงต้องหารือร่วมกัน แต่บังเอิญว่าเริ่มต้นที่ได้คุยกันก็ได้คุยกัน 3 พรรค ยังไม่ได้คุยกับพรรคพลังประชารัฐ แต่ถัดจากนี้เป็นหน้าที่ของวิป เพราะเรามีวิปของแต่ละพรรคร่วมรัฐบาลที่จะต้องไปหารือกันกับกฎหมายที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดในการที่จะเข้าสู่สภาก็ต้องไปหารือกัน เพียงแต่ว่าเริ่มต้นเจอกัน 3 พรรค ก็เลยได้คุยกันเบื้องต้นไปแล้ว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะต้องขอเปิดสมัยประชุมสมัยวิสามัญเพื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ จุรินทร์กล่าวว่า คิดว่าในสมัยประชุมหน้าก็สามารถเปิดได้ การเปิดประชุมสมัยวิสามัญก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลด้วย ส่วนจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างไรนั้น อย่างน้อยที่สุด ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็จะใช้ความพยายาม เพราะถือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะเป็นประโยชน์กับประเทศในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่มีความสำคัญไม่แพ้ปัญหาการเมืองต่อไป เพราะว่าถ้าการเมืองนิ่ง การเมืองสงบ ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ด้วยความเรียบร้อย การแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็จะบรรลุผลได้ราบรื่นขึ้น อันนี้คือหัวใจสำคัญ เพราะฉะนั้นถือว่าการแก้รัฐธรรมนูญก็เสริมการแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วย และเป็นทางออกให้กับประเทศในสถานการณ์ที่ได้เรียนมาโดยลำดับ รวมทั้งปัจจุบันด้วย จะได้ไม่เป็นเหยื่อในทางการเมืองโดยไม่จำเป็น เพราะว่าการที่จะพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น มันก็เป็นทิศทางที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคจะพยายามผลักดันให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญภายใน 2 ปีที่เหลือใช่หรือไม่ จุรินทร์กล่าวว่า อย่างน้อยที่สุดประชาธิปัตย์ก็จะพยายามผลักดัน เพราะอันนี้ก็ถือเป็นทิศทางที่ได้พูดไปตั้งแต่ต้น และที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์แล้วว่าได้ทำหน้าที่จนกระทั่งวาระสุดท้าย นั่นก็คือการลงคะแนนเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3
ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า การแก้เป็นรายมาตราจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดหรือไม่ จุรินทร์กล่าวว่า ณ สถานการณ์ขณะนี้ เพราะการแก้ทั้งฉบับมีเครื่องหมายคำถาม และดูเหมือนข้อถกเถียงยังไม่มีข้อยุติว่าสุดท้ายแล้วจะต้องไปทำประชามติก่อนวาระหนึ่ง หรือไปทำประชามติหลังผ่านวาระสาม ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็เป็นข้อถกเถียง “ผมก็ได้เสนอวันนั้นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกรอบ แต่ว่าบังเอิญข้อเสนอของผมยังไม่ทันได้พิจารณา ญัตตินั้นตกไปก่อน เพราะญัตติที่จะให้โหวตวาระที่ 3 ผ่านเสียก่อน” จุรินทร์กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามกรณีที่มีการไปยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้พิจารณาเอาผิดกับ ส.ส. และ ส.ว. ที่ลงมติในวาระที่ 3 จะส่งผลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปหรือไม่
จุรินทร์ตอบว่า ความจริงการลงมติให้ความเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 เป็นไปตามมติของรัฐสภาวันนั้น เพราะก่อนที่ทุกคน 208 ท่าน จะลงมติให้ความเห็นชอบ ก็เป็นมติของที่ประชุมรัฐสภาว่าให้รับเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 3 ได้ และตนถือว่าการลงมติให้ความเห็นชอบวาระที่ 3 วันนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยชอบทุกประการไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะว่าถ้ามีปัญหาก็จะมีปัญหาทุกคน เพราะคนที่ไปร้องนี้ก็มีข้อสังเกตเหมือนกันว่าทำไมเลือกร้องเฉพาะคนที่โหวตรับรัฐธรรมนูญ คนที่โหวตไม่รับทำไมถึงไม่ร้อง หรือว่าคนที่มีมติให้รัฐสภาลงมติวาระที่ 3 ได้ ทำไมถึงเว้นไว้ อันนี้ไม่ได้หมายความว่าให้ไปร้องให้ครบทุกคน แต่หมายความว่ามีข้อสังเกต เพราะฉะนั้นก็จะกลายเป็นว่าทำให้คนที่ลงมติรับรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 จะกลายเป็นเป้าหมายในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าในกรณีที่จะมีการแก้อำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งญัตตินี้เคยถูกตีตกไปแล้วครั้งหนึ่ง มั่นใจหรือไม่ว่าในการยื่นครั้งต่อไปจะได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว.
จุรินทร์ตอบว่า เราก็ต้องทำหน้าที่ของเรา ส่วนผลจะเป็นอย่างไรนั้นไม่ได้อยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์เพียงพรรคเดียวหรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมร่วมและขึ้นอยู่กับวุฒิสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และขึ้นอยู่กับฝ่ายค้านไม่น้อยกว่า 20% ด้วย ซึ่งเป็นเงื่อนไขบังคับที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขยาก แต่เราก็ต้องฝ่าด่านนี้ไป มิฉะนั้นการแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถทำได้เลย และอย่างที่ได้เรียนไว้ว่าเราคิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นทางออกของประเทศทางหนึ่ง และจะส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ประชาชนอยากเห็นอยู่ด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กัน “ทั้งเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและแก้ปัญหาการเมือง หรือการแก้ปัญหาปากท้อง เรื่องโควิด-19 กับการแก้ไขธรรมนูญ เป็นเรื่องที่เอื้อซึ่งกันและกัน ช่วยให้ประชาชนได้รับประโยชน์ในทางสุดท้ายหรือเป็นเป้าหมายสุดท้ายในที่สุด” จุรินทร์กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ 3 ฝ่ายจะจับมือกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จุรินทร์กล่าวว่า อยากให้เป็นเช่นนั้น อยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้น และตนก็เคยเรียนมาก่อนหน้านี้แล้วว่าอยากให้ 3 ฝ่ายได้คุยกันและหาทางออกร่วมกัน เพื่อนำมาสู่ข้อสรุปที่จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญราบรื่นโดยไม่ตัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล