วันนี้ (6 กรกฎาคม) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์มะพร้าวและผลิตภัณฑ์ส่งออกมะพร้าวซึ่งถูกกล่าวหาจาก PETA ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อพิทักษ์สิทธิ์ของสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เกี่ยวกับการใช้แรงงานลิงว่า สำหรับผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากประเทศไทยผลผลิตในปี 2562 หรือปีที่แล้ว ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 788,000 ตัน และมีโรงงานแปรรูปผลผลิตจากมะพร้าว 15 โรงงาน ซึ่งทั้งหมดเป็นกะทิ 113,000 ตัน โดย 70% เป็นการบริโภคภายในประเทศ ที่เหลือก็ส่งออก และไทยมีความจำเป็นต้องนำเข้ามะพร้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเพิ่มเติมด้วย เพราะว่าไม่เช่นนั้นก็จะไม่พอการส่งออก เช่น นำเข้าจากอินโดนีเซีย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญมี 2 ชนิด 1. กะทิ 2. มะพร้าวอ่อน แต่ประเด็นปัญหาที่มีอยู่ในขณะนี้คือเรื่องของกะทิ ซึ่งกะทินั้นยอดการส่งออกเมื่อปีที่แล้วมีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 12,300 ล้านบาท โดยส่งออกไปยังสหภาพยุโรป 18% มูลค่า 2,250 ล้านบาท และในสหภาพยุโรปเป็นประเทศอังกฤษหรือสหราชอาณาจักร 8% มูลค่า 1,000 ล้านบาท
จุรินทร์กล่าวว่า ประเด็นปัญหาที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้ก็คือมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกิดขึ้นว่า ประเทศไทยมีการใช้แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าว เรื่องนี้ได้เคยปรากฏเป็นประเด็นขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ สุดท้ายก็ชี้แจงทำความเข้าใจ และช่วงนี้ก็เกิดประเด็นนี้ขึ้นมาอีก ก็ได้เคยหารือกับผู้ประกอบการแปรรูปกะทิและอาหารสำเร็จรูปจากมะพร้าวมาก่อนหน้านี้แล้ว
โดยได้รับการชี้แจงในประเด็นนี้มาแล้วครั้งหนึ่งว่า ในเรื่องของการใช้ลิงเก็บมะพร้าวนั้น ส่วนใหญ่เป็นประเด็นในเรื่องทางวัฒนธรรมวิถีชีวิตและการท่องเที่ยวมากกว่า แต่สำหรับในเรื่องของการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเพื่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมเกือบจะเรียกได้ว่าไม่มีปรากฏแล้ว
“แต่ภาพของการใช้ลิงเก็บมะพร้าวที่ใช้ทางการท่องเที่ยว วิถีชีวิตอาจจะยังปรากฏในคลิปอยู่ และทำให้เกิดความเข้าใจผิดและความเข้าใจคลาดเคลื่อน อย่างไรก็ตาม วันพุธที่ 8 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ผมได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เชิญผู้ผลิตกะทิและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวมาหารือกัน ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อจะได้หาแนวทางร่วมกันในการที่จะชี้แจงทำความเข้าใจกับประเทศผู้นำเข้าที่ยังสงสัยอยู่ รวมทั้งในส่วนองค์กรพิทักษ์สัตว์ ที่ต้องการข้อมูล และขณะเดียวกันก็มีแผนที่จะเชิญทูตที่ประจำอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะประเทศที่ยังมีข้อสงสัยไปดู”
จุรินทร์กล่าวต่อว่า การเชิญทูตไปดูการผลิตและการเก็บมะพร้าวของจริง จะได้เห็นภาพว่าเป็นอย่างไร จะได้ไม่เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อไป เพื่อต้องการที่จะคงตัวเลขการส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทยในตลาดต่างๆ ในโลกไว้ ซึ่งถ้าเพิ่มได้ก็จะเป็นเรื่องดี
“ตนเคยเยี่ยมซูเปอร์มาร์เก็ตในแถบยุโรปบางประเทศ พบว่าสินค้ากะทิจากประเทศไทย รวมทั้งผลิตภัณฑ์มะพร้าวก็เป็นที่นิยม แบรนด์จากต่างประเทศบางแบรนด์ก็ใช้เป็นมะพร้าวที่ผลิตในประเทศไทย ก็จะนำรายได้เข้าประเทศ”
จุรินทร์กล่าวว่า ในบรรดาตลาดนำเข้า 100% นั้น เป็นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และโรงแรมของชาวเอเชียประมาณ 70% ซึ่งยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะในโซนเอเชียอาจจะมีความเข้าใจว่าเป็นอย่างไร แต่ที่มีผลกระทบคือ 30% ซึ่งมีเจ้าของเป็น EU หรือสหภาพยุโรป ยังต้องทำความเข้าใจต่อไป โดยการพูดคุยในวันที่ 8 กรกฎาคม คาดว่าจะได้ข้อสรุปร่วมกัน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า