×

จุรินทร์ แจงพืชผลเกษตรราคาดีขึ้น แม้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เผยราคาข้าวไทยสูงสุดในรอบ 10 ปี ผลไม้เฉลี่ยสูงขึ้นทุกตัว

โดย THE STANDARD TEAM
03.07.2020
  • LOADING...

วันนี้ (3 กรกฎาคม) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงในการประชุมสภาฯ ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ถึงกรณีราคาพืชผลการเกษตรว่า จากการที่มี ส.ส. อภิปรายว่าพืชเกษตรราคาตกทุกตัว ตนขอชี้แจงว่า อาจจะถูกบางส่วน แต่ไม่ได้ถูกทั้งหมด ที่เป็นเช่นนั้นเพราะมีพืชผลการเกษตรหลายตัวที่ราคาดี ยกตัวอย่างเช่น ราคาข้าวเปลือกเจ้าในช่วงเดือนเมษายนปีนี้ ราคาทางการของข้าวเปลือกเจ้าสูงถึงตันละ 10,900 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ข้าวเปลือกเหนียวในช่วงเดือนกันยายน 2562 ราคาสูงถึง 17,586 บาทต่อตัน ในเดือนกรกฎาคมนี้ราคาอยู่ที่ 16,560 บาทต่อตัน ข้าวหอมมะลิ เดือนกันยายน 2562 ราคาตันละ 16,401 บาท สำหรับราคาเฉลี่ยในเดือน กรกฎาคม 2563 อยู่ที่เกวียนละ 15,108 บาท 

 

ส่วนราคาผลไม้ ทุเรียนหมอนทอง ราคาทางการเฉลี่ย ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2563 กิโลกรัมละ 105 บาท ขณะที่หลายปีที่ผ่านมากิโลกรัมละ 32 บาท ต่างกันสามเท่า ลองกอง เบอร์ 1 ปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน ราคาเฉลี่ย กิโลกรัมละ 38.21 บาท หลายปีก่อนกิโลกรัมละ 30 บาท สะท้อนให้เห็นว่าราคาดีตามสมควร และดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับอดีตหลายปีที่ผ่านมา มังคุดเดือนกรกฎาคม 2563 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 37.62 บาท ขณะที่หลายปีก่อนกิโลกรัมละ 17.04 บาท  

 

จุรินทร์กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่ามีพืชผลการเกษตรหลายตัวที่ราคาดีขึ้น และยังคงดีต่อไปในระยะถัดจากนี้ อย่างไรก็ตาม ถ้าพืชผลเกษตรตัวไหนราคาตก อย่างน้อยรัฐบาลนี้ก็มีนโยบาย ‘ประกันรายได้เกษตรกร’ ในพืชเกษตร 5 ตัว  

 

  1. ประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุม ข้าวหอมนอกพื้นที่ ข้าวเหนียว และข้าวเปลือกเจ้า  

 

  1. ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง อย่างน้อยต้องมีรายได้กิโลกรัมละ 2.50 บาท

 

  1. ยางพารา มีประกันรายได้สำหรับยางแผ่นดิบชั้น 3 กิโลกรัมละ 60 บาท น้ำยางข้น กิโลกรัมละ 57 บาท ยางก้อนถ้วย กิโลกรัมละ 23 บาท   

 

  1. ปาล์มน้ำมัน ประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 4 บาท 

 

  1. ข้าวโพด ประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 8.50 บาท และล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีมติช่วยประกันรายได้ให้กับผู้ปลูกข้าวโพดย้อนหลัง สำหรับผู้ที่ปลูกในเดือนมิถุนายน 2562 ให้มีสิทธิ์ได้รับเงินส่วนต่างจากนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดด้วย

 

สำหรับข้าว นโยบายประกันรายได้ฤดูกาลผลิตที่กำลังจะมาถึงนี้ ได้มีมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.) เสร็จเรียบร้อยแล้วว่าจะมีการดำเนินนโยบายประกันรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวต่อไป รวมทั้งมีมาตรการเสริมที่สำคัญคือ ก่อนหน้านี้จะมีเงินช่วยพิเศษสำหรับผู้ปลูกข้าว เป็นค่าต้นทุน 500 บาทต่อตัน ค่าเก็บเกี่ยว 500 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ตัน หรือ 20 ไร่ แต่ถัดจากนี้ได้มีมติใหม่ตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์แล้วว่า จะไม่แยกเป็น 500+500 เพราะ 500 หลังที่เป็นค่าเก็บเกี่ยวเป็นปัญหากับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมาก เนื่องจากหากเกิดภัยแล้ง นำข้าวไปแสดงไม่ได้ เพราะเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ หากน้ำท่วมต้นข้าวหายไปกับน้ำ สุดท้ายทำให้ไม่ได้เงิน 500 บาทหลัง ต่อไปนี้ใช้วิธีจ่ายขาดรวดเดียว 1,000 บาท เป็นค่าบริหารและถือว่าปรับปรุงคุณภาพข้าวไปในคราวเดียว สิ่งนี้เป็นมติใหม่ของ นบข. ตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นมติ และกำลังนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม ครม. ต่อไป 

 

สำหรับเรื่องยางพารา ฤดูกาลผลิตถัดจากนี้ไป มีมติของคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติแล้ว โดยมีนายกฯ เป็นประธาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม และตนก็นั่งในที่ประชุมด้วย โดยมีมติว่าจะประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางต่อไป ขณะเดียวกันก็มีมาตรการเพิ่มเติมในการช่วยผู้ประกอบการธุรกิจไม้ยาง ให้สามารถที่จะมีวงเงินกู้พิเศษ 20,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 นอกจากนั้นสำหรับผลิตภัณฑ์ยางแห้ง ก็มีวงเงินกู้ให้ 20,000 ล้านบาทเช่นเดียวกัน และช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 เช่นเดียวกัน และมอบหมายให้ไปศึกษาเพิ่มเติมสำหรับธุรกิจน้ำยางข้น ที่จะนำไปสู่การผลิตถุงมือยางที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกในขณะนี้ จะสามารถที่จะช่วยวงเงินกู้เพื่อจะได้ผลิตเพิ่มได้มากน้อยแค่ไหน อาจจะเป็นวงเงิน 20,000 ล้านบาท และช่วยชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 เช่นเดียวกัน ซึ่งจะได้มีการนำเสนอถัดจากนี้ต่อไป 

 

สำหรับเรื่องผลไม้ กระทรวงพาณิชย์ได้เข้าไปมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ คู่กับกระทรวงเกษตรฯ โดยมีนโยบายที่จะระบายสินค้าทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศออนไลน์ โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่มากสำหรับผลไม้ไทย และเป็นที่นิยม เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ตนมีโอกาสไลฟ์สดด้วยตนเอง เพื่อโปรโมตและขายผลไม้ไทยออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม Tmall ของอาลีบาบา คนจีนให้ความสนใจมาก เพียง 15-20 นาทีที่ไลฟ์สดเพื่อขายผลไม้ 9 ชนิด ทั้งทุเรียน มังคุด ลองกอง ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ มะม่วง และอื่นๆ มีคนจีนเข้ามาชมถึง 16 ล้านวิว และปรากฏว่าเดือนมิถุนายน เดือนเดียว มียอดขายผ่านแพลตฟอร์มนี้ 400 ล้านบาท สำหรับผลไม้ไทย 

 

ส่วนตลาดออฟไลน์นั้น ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับห้างโมเดิร์นเทรด ซึ่งได้กรุณาอุทิศพื้นที่ให้เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ รวมทั้งพืชเกษตรตัวอื่นได้ไปขายในห้าง เช่น ห้างเซ็นทรัล เตรียมพื้นที่ไว้ 100,000 ตารางเมตรสำหรับให้เกษตรกรและชาวสวนผลไม้ไปขายฟรีโดยไม่คิดค่าพื้นที่ และจะเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม นอกจากนั้น มาบุญครองก็ให้พื้นที่ 3,000 ตารางเมตร รวมไปถึงสยามพิวรรธน์ แม็คโคร รวมทั้งโมเดิร์นเทรดอื่นๆ สิ่งนี้เป็นช่องทางที่ได้พยายามช่วยให้ราคาผลไม้ดีขึ้น 

 

“พืชผลทางการเกษตรก็ไม่ได้ราคาตกทุกตัว แม้จะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หรืออยู่ในช่วงสงครามการค้าที่ยังไม่ยุติ และแม้จะต้องมาเผชิญภัยโควิด-19 ซ้ำเข้ามาอีกก็ตาม” จุรินทร์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising