×

จุรินทร์รับมือดูแลสินค้าอุปโภคบริโภค ถกผู้ประกอบการทั้งระบบ ช่วยประชาชนสู้โควิด-19

โดย THE STANDARD TEAM
15.03.2020
  • LOADING...

มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์เฟซบุ๊กแจ้งว่า สำหรับสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภคนั้น เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2563 จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อทำงานเชิงรุกและรับมือในสถานการณ์โควิด-19 โดยใช้เวลาประชุมตั้งแต่เวลา 14.00-17.00 น.

 

ผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 43 ราย ประกอบด้วย สมาคม จำนวน 9 สมาคม (สมาคมผู้ค้าปลีกไทย, สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย, สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป, สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุง, สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่, สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย, สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ, สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน และสมาคมผู้วิจัยและผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์) ผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภค จำนวน 22 ราย (หมวดของใช้ประจำวัน 5 ราย หมวดอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์นม 14 ราย ยาและเวชภัณฑ์เจลล้างมือ 9 ราย) ห้างสรรพสินค้าจำนวน 6 ราย 

 

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สรุปงานให้กระทรวงพาณิชย์ติดตามสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภคในสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญกับปัญหาโควิด-19 ในขณะนี้ เพื่อเตรียมการพร้อมรับมาตรการอื่นๆ นับตั้งแต่วันประชุม

 

โดยเฉพาะข้าวถุง เจลล้างมือ อาหารสำเร็จรูป และสินค้าอื่นๆ เช่น สบู่เหลว กระดาษทิชชู่ เป็นต้น ขณะที่ผู้ผลิตแต่ละกลุ่มสินค้ารายงานสถานการณ์ ทำให้ได้เห็นภาพรวมว่า สำหรับอาหารสำเร็จรูปนั้นมีแนวโน้มยอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้น และได้รับแจ้งว่ากำลังการผลิต ณ ปัจจุบันนี้ยังอยู่ประมาณร้อยละ 70 ซึ่งยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกร้อยละ 30 โดยประมาณ

 

ขณะที่ ดร.ระพีพัชญ์ ธนถาวรกิตติ์ นายกผู้ประกอบการข้าวถุงไทย รายงานว่า ขอยืนยันว่า ในภาวะโควิด-19 ที่เข้ามาในบ้านเรา เราสามารถผลิตสินค้าป้อนให้กับตลาดได้ ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจได้ว่าข้าวสารจะไม่ขาด

 

ด้าน ณัฏฐินี เนตรอำไพ ผู้จัดการอาวุโสส่วนองค์กรและสื่อมวลชนสัมพันธ์ บริษัท ยูนิลีเวอร์ รายงานว่า อยากให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่ายูนิลีเวอร์อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน ฝ่าฟันวิกฤตมาร่วมกัน และกำลังจะร่วมฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 ร่วมกับประเทศไทย ในส่วนอาหารสำเร็จรูป รวมทั้งสบู่ น้ำยาซักผ้า หรือสินค้าที่จำเป็นสำหรับการฆ่าเชื้อ ทางยูนิลีเวอร์ได้เตรียมพร้อมในการขยายการผลิตเพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชนเรียบร้อยแล้ว

 

ด้าน พิชชาภรณ์ อาชชวงศ์ทิพย์ สมาคมผู้ประกอบการอาหารสำเร็จรูปแจ้งว่า ปัจจุบันยังมีกำลังการผลิตที่เพิ่มได้อีกร้อยละ 30 ประชาชนจึงไม่ต้องเป็นห่วงถึงปัญหาการขาดแคลนอาหาร

 

ด้าน ดร.สัมฤทธิ์ ยิบยินธรรม บริษัท ริเวอร์โปร์ พัลพ์ แอนด์ เพเพอร์ ผู้ผลิตกระดาษทิชชู่ รายงานว่า ปริมาณความสามารถในการผลิตกระดาษทิชชู่ของประเทศไทยยังมีเพียงพอ ดังนั้นการขาดแคลนจึงยังไม่น่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่เราอาจจะยังเห็นว่าสินค้ามีการพร่องไปจากชั้นวางของ เนื่องจากสินค้าทิชชู่ใช้เนื้อที่ในการวางเยอะ หากทางห้างเติมสินค้าไม่ทันอาจจะดูเหมือนของขาด แต่ในความเป็นจริงยังมีปริมาณเหลือเฟือ

 

ทั้งนี้ผู้แทนจากยูนิลีเวอร์ยืนยันว่า พร้อมในการออกผลิตภัณฑ์เจลล้างมือขนาดเล็กเพื่อประชาชนสามารถพกพานำไปใช้ได้ และพร้อมในการหาบรรจุภัณฑ์และวัตถุดิบมาผลิตเพิ่มเติม จึงขอให้ประชาชนมั่นใจ ในส่วนของสบู่เหลว ยูนิลีเวอร์ได้ขยายกำลังการผลิตเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีอยู่หลายแบรนด์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีสารต่อต้านแบคทีเรีย โดยมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นถึงหนึ่งเท่าตัว

 

ขณะที่ ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ที่ปรึกษาสมาคมค้าปลีกไทย รายงานว่า ร้านค้าปลีกไทยยืนยันว่า สินค้ายังไม่ขาดตอน และยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก ทำให้การขาดแคลนที่เหมือนกับการขาดแคลนตอนน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ยังไม่น่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากเราไม่ได้ประสบปัญหาการขนส่ง จึงเชื่อว่าสินค้าสามารถถูกขนส่งมายังมือพี่น้องประชาชนได้อย่างไม่มีปัญหา ซึ่งขณะนี้สินค้าก็ยังมีพร้อม โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคตามบ้าน ขอให้ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง

 

ด้าน สมชาย พรรัตนเจริญ ผู้แทนจากสมาคมค้าส่งค้าปลีกไทย ยืนยันว่า สินค้าไม่ขาดแคลน และมีสินค้าเต็มอยู่ทุกที่

 

จากนั้นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า สำหรับในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ จะติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิด และจะประสานงานกับผู้ผลิต ผู้ค้า สมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดเวลา โดยกรมการค้าภายในจะเป็นหน่วยงานหลักในการคลี่คลายสถานการณ์และประสานงาน ซึ่งเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคนั้น กระทรวงพาณิชย์ทำงานเชิงรุกมากว่าหนึ่งสัปดาห์แล้ว 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X