วันนี้ (19 พฤษภาคม) ที่ห้อง World Ballroom ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย สินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เปิดการสัมมนาการขับเคลื่อนการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ในช่วงโควิดและอนาคต (Symposium on FTAAP in the post-COVID-19)
จุรินทร์กล่าวว่า หัวข้อการเสวนาวันนี้คือการขับเคลื่อนการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก เป็นเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) ของกลุ่มความร่วมมือกลุ่มเศรษฐกิจการค้า APEC เป้าหมายสำคัญเพื่อให้ทุกภาคส่วน ภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการหรือนักธุรกิจ ประชาชนทั่วไป เกิดความเข้าใจและรวมพลังขับเคลื่อนจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ FTAAP 21 เขตเศรษฐกิจ
ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2040 หากสำเร็จจะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีประชากรรวมกันถึง 2,900 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรโลก และจะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) คิดเป็นร้อยละ 62 ของ GDP โลก มีมูลค่าประมาณ 52 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,768 ล้านล้านบาท มูลค่าการค้าจาก 21 เขตเศรษฐกิจ มีมูลค่า 608 ล้านล้านบาท หรือ 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเขตเศรษฐกิจทั้ง 21 เขตนี้ จะได้รับประโยชน์โดยตรงอย่างน้อยภาษีจะเป็นศูนย์ระหว่างกัน
ทั้งนี้ เมื่อเป็น FTA กฎระเบียบการค้าจะเป็นกฎระเบียบเดียวกัน และจะมีการเปิดตลาดระหว่างกันทั้งในส่วนของสินค้าและบริการ รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน หากเป็น FTAAP ในปี 2040 จริง คาดการณ์ว่ามูลค่าการค้าในกลุ่ม 21 เขตเศรษฐกิจ จะเพิ่มขึ้นประมาณ 200-400% และสำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีมูลค่าการค้ากับ 21 เขตเศรษฐกิจ 12.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 385,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถ้าเป็น FTAAP ในปี 2040 จริง จะขยายตัว 200-400% เช่นเดียวกัน
จุรินทร์กล่าวต่อไปว่า แต่ต้องยอมรับความจริงว่า 20 ปีที่ผ่านมา FTAAP ยังขับเคลื่อนไปได้ไม่เร็วนัก ยังมีความล่าช้าอยู่ แม้ในปี 2020 ตอนที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพจะมีการบรรจุเป้าหมาย FTAAP ไว้ในวิสัยทัศน์ปุตราจายาของ APEC ว่าจะทำให้สำเร็จในปี 2040 ก็ตาม และปีนี้ 2022 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ต่อจากนิวซีแลนด์ ได้กำหนดธีมสำคัญในการประชุม APEC ครั้งนี้ ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ – 22 พฤษภาคม และต่อด้วยการประชุมสุดยอดผู้นำในช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือปลายปีนี้โดยประมาณ
โดยประเทศไทยได้กำหนดธีมสำคัญของการประชุมไว้ 3 เป้าหมาย ประกอบด้วย Open, Connect, Balance คือการที่จะเปิดกว้างให้มีการเคลื่อนไหวทางการค้าการลงทุนระหว่างกันของกลุ่มเศรษฐกิจ APEC การเชื่อมโยงทางการค้าการลงทุนทั้งภาคการผลิต ห่วงโซ่การผลิต การตลาดร่วมกันในกลุ่มเขตเศรษฐกิจ APEC และสร้างสมดุลทั้งในสิ่งแวดล้อมและการค้าการลงทุนให้ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจได้ประโยชน์ร่วมกัน
นอกจากนั้นในนโยบายประเทศไทยมีนโยบายที่จะผลักดัน FTA ให้เกิดขึ้นอย่างเต็มกำลังความสามารถ คือเป้าหมายนอกจากเป็นทิศทางของ APEC แล้ว ประเทศไทยประกาศให้ความสำคัญและประสงค์จะร่วมขับเคลื่อนกับกลุ่มเศรษฐกิจที่เหลืออย่างเต็มที่ ให้เกิด FTA ให้ได้ในอนาคตอันรวดเร็ว ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างน้อยปี 2040
ปัจจุบันประเทศไทยมี FTA กับประเทศต่างๆ 18 ประเทศ รวม 14 ฉบับ FTA ที่ใหญ่ที่สุดที่เพิ่งทำสำเร็จคือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว
จุรินทร์ระบุต่อไปว่า ตนในฐานะเป็นประธานที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจการค้า RCEP จนประสบความสำเร็จ และออกแถลงการณ์ร่วมกันว่าจะจัดตั้ง บัดนี้ RCEP เกิดขึ้นแล้วคือ FTA ที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน
ประเทศไทยมีเป้าหมายทำ FTA เพิ่มเติมนอกจากกับ 18 ประเทศ 14 ฉบับที่มีอยู่แล้ว เช่น FTA กับกลุ่มสหภาพยุโรป (EU), ไทยกับสหราชอาณาจักร ซึ่งจะมีการเดินทางไปร่วมประชุมในการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) กับประเทศอังกฤษ ในช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายนนี้ และมีเป้าหมายที่จะทำ FTA กับกลุ่มประเทศสมาคมการค้าเสรียุโรป (European Free Trade Association: EFTA) ซึ่งประกอบด้วยไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์
จุรินทร์กล่าวต่อไปว่า คณะทำงานจะเดินทางไปไอซ์แลนด์ประมาณช่วงวันที่ 20 มิถุนายนนี้ เพื่อพบกับรัฐมนตรีจาก 4 ประเทศ ประกาศนับหนึ่งในการเริ่มเจรจา FTA ระหว่างกัน และมีเป้าหมายทำ FTA กับอีกหลายประเทศ รวมทั้ง FTAAP
เพราะฉะนั้นการเสวนาวันนี้จะเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างคนไทยและสมาชิกประชากรของกลุ่มเขตเศรษฐกิจ APEC ให้เกิดขึ้น ซึ่งจะมีการคุยกันหลายประเด็น เช่น การกำหนดสาระสำคัญที่ควรบรรจุไว้ใน FTAAP อีคอมเมิร์ซ การแข่งขันทางการค้า สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน เป็นต้น แต่สิ่งเหล่านี้ควรมีขอบเขตแค่ไหนอย่างไรที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันกับทุกฝ่ายทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิก