เมื่อวานนี้ (15 ธันวาคม) ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 20-23 ธันวาคมนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ ‘ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์’ ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี หรือที่เรียกกันว่าปรากฏการณ์ ‘The Great Conjunction 2020’ โดยในช่วงคืนดังกล่าว ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์จะปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้า และจะเข้าใกล้กันที่สุดในวันที่ 21 ธันวาคม ห่างเพียง 0.1 องศาเท่านั้น
ถ้าหากมองด้วยตาเปล่าจะเห็นเสมือนเป็นจุดสว่างเพียงจุดเดียว และหากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 200 เท่าจะเห็นดาวเคราะห์ทั้งสองพร้อมดวงจันทร์บริวารอยู่ในช่องมองภาพเดียวกัน เริ่มสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตก ปรากฏสว่างเด่นเคียงคู่กันทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีเวลาสังเกตการณ์ประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนที่ดาวเคราะห์ทั้งสองจะลับขอบฟ้า โดยปรากฏการณ์ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์จะเกิดขึ้นในทุก 20 ปี หากพลาดโอกาสชมปรากฏการณ์ครั้งนี้ต้องรออีก 60 ปีข้างหน้า ดาวเคราะห์ทั้งสองจึงจะเข้ามาใกล้กันในระยะห่าง 0.1 องศาแบบนี้อีกครั้ง
ทั้งนี้ ศุภฤกษ์ ระบุเพิ่มเติมว่า ทาง สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ ‘ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์’ ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี ระหว่างวันที่ 19-23 ธันวาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่
- อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา
รวมทั้งยังร่วมกับโรงเรียนเครือข่ายดาราศาสตร์ที่ได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์ในโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์อีก 460 แห่งทั่วประเทศ ไม่มีค่าใช้จ่าย หรือสอบถามข้อมูลปรากฏการณ์และกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ 08 1885 4353
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า