×

ต่างชาติกระหน่ำขาย รายย่อยกระหน่ำซื้อ เกิดอะไรขึ้นในตลาดหุ้นไทยตลอดทั้งเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา?

27.06.2022
  • LOADING...
ตลาดหุ้นไทย

ตั้งแต่เข้าสู่เดือนมิถุนายน 2565 ภาพของการลงทุนในตลาดหุ้นไทยดูเหมือนจะแตกต่างไปจาก 5 เดือนก่อนหน้านี้พอสมควร ฝั่งของนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อสุทธิมาตลอดทุกเดือนตั้งแต่ต้นปี กลับกลายมาเป็นฝ่ายขายสุทธิ 3.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่นักลงทุนรายย่อยที่ก่อนหน้านี้ขายสุทธิอยู่ 9 หมื่นล้านบาท จนถึงเดือนพฤษภาคม ล่าสุดกลับมาเป็นฝ่ายซื้อสุทธิถึง 3.1 หมื่นล้านบาท 

 

หากพิจารณาแยกเป็นรายวัน ตลอดทั้ง 16 วันทำการที่ผ่านมาของเดือนนี้ ต่างชาติขายสุทธิไปถึง 14 วัน ส่วนรายย่อยซื้อสุทธิไปทั้งสิ้น 15 วัน

 

ขณะที่นักลงทุนอีก 2 กลุ่มคือ สถาบันในประเทศไทย และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ตลอดทั้งเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาดูเหมือนจะกลายเป็น ‘ผู้ชม’ นั่งมองการสู้กันระหว่างรายย่อยและต่างชาติเสียมากกว่า 

 

จากข้อมูลระหว่างวันที่ 1-23 มิถุนายน 2565 นักลงทุนสถาบันแทบจะซื้อขายพอๆ กัน ติดลบอยู่เพียง 1.6 พันล้านบาท ส่วนบัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 1.2 พันล้านบาท 

 

ต่างชาติมีความเสี่ยงจะขายอีก โดยเฉพาะถ้าน้ำมันต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ 

สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ต่างชาติซื้อสุทธิสะสมหุ้นไทยตลอดทั้งปีนี้ราว 1.3-1.4 แสนล้านบาท ก่อนจะทยอยขายในเดือนนี้ 

 

“แรงขายที่เกิดขึ้นไม่ได้ออกจากเฉพาะหุ้นไทย แต่เป็นแบบเดียวกันทั้งภูมิภาค ฟันด์โฟลวไหลออกจากหุ้นไทย 800 กว่าล้านดอลลาร์ เกาหลีใต้มีแรงขายกว่า 4,300 พันล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกับ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอินเดีย ที่เผชิญแรงขายเช่นกัน” 

 

สาเหตุหลักที่ทำให้เงินไหลออกจากภูมิภาคคือ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ส่งผลให้ค่าเงินต่างๆ ในเอเชียอ่อนค่าลง นำไปสู่แรงขายในพันธบัตรและหุ้น หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีท่าทีแข็งกร้าว (Hawkish) มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

สำหรับประเทศไทย จะเห็นว่าการท่องเที่ยวยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมา ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงขาดดุล และอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันคือ ก่อนหน้านี้หุ้นไทย Outperform ค่อนข้างมาก เพราะเป็นตลาดหุ้นเพียงไม่กี่ตลาดที่แนวโน้มกำไรตลาดยังเพิ่มขึ้น แต่ด้วยราคาพลังงานที่เริ่มกลับทิศ ทำให้เกิดแรงขายออกมาจากกลุ่มพลังงาน

 

การเข้าซื้อกว่าแสนล้านบาทของต่างชาติมีสองกลุ่มหลักคือ พลังงาน และการแพทย์ โดยต่างชาติถือครองหุ้นพลังงานเพิ่มขึ้นกว่า 3% ก่อนหน้านี้ และการที่ต่างชาติยังซื้อสะสมอยู่อีก 1 แสนล้านบาทก็เป็นความเสี่ยงที่จะเห็นแรงขายออกมาอีก โดยเฉพาะหากราคาน้ำมันต่ำกว่า 100 ดอลลาร์

 

“แม้ต่างชาติมีความเสี่ยงที่จะขายออกมาอีกจากกลุ่มพลังงาน แต่คงจะไม่ถึงกับทำให้ทั้งปีกลายเป็นขายสุทธิ เชื่อว่าน่าจะเห็นการโยกเงินเข้ากลุ่มอื่นทดแทนบ้าง แต่ถ้าหากต่างชาติขายหมดทั้ง 1 แสนล้านบาทจริง หุ้นไทยก็มีโอกาสจะไปถึง 1,400 จุด”

 

ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศที่เป็นฝ่ายขายสุทธิอยู่ 9.2 หมื่นล้านบาทในปีนี้ ถูกกดดันจากการที่ LTF ครบกำหนดไถ่ถอนกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่ากองทุนขายไปมากแล้ว และอาจจะเริ่มเห็นกองทุนกลับมาซื้อได้บ้างในครึ่งปีหลัง หลังจากที่เริ่มเห็นจุดพีคของเงินเฟ้อ และจุดต่ำสุดของตลาดหุ้น

 

รายย่อยมีส่วนร่วมกับตลาดลดลงต่อเนื่อง กดดันหุ้นกลางเล็ก

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ในฝั่งของนักลงทุนรายย่อยที่เข้าซื้อต่อเนื่องในเดือนนี้เป็นธรรมชาติของนักลงทุนรายย่อยคือ เมื่อหุ้นขึ้นแรงก็มักจะเป็นฝ่ายขายสุทธิ และเมื่อลงแรงก็ซื้อสุทธิ 

 

“ด้วยธรรมชาติของรายย่อยทำให้เรามักจะได้ยินคำว่าขายหมูหรือช้อนหัก ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมที่ว่าเมื่อหุ้นขึ้นไม่เท่าไรก็ขายออก และหุ้นลงไม่เท่าไรก็เข้าซื้อ” 

 

การมีส่วนร่วมของรายย่อยลดลงต่อเนื่องจากต้นปีที่ราว 40% มาอยู่ที่ประมาณ 35% และหากดูเฉพาะฝั่งซื้อจากรายย่อยก็ลดลงต่อเนื่องเช่นกัน เมื่อเดือนมกราคมซื้อเฉลี่ย 3.6 หมื่นล้านบาทต่อวัน ค่อยๆ ลดลงมาอยู่ที่ราว 2.4-2.5 หมื่นล้านบาทต่อวัน 

 

“หากแรงซื้อของรายย่อยไม่กระเตื้องขึ้น หุ้นไทยก็น่าจะซึม โดยเฉพาะหุ้นกลางเล็กที่ก่อนหน้านี้กระจายหลายกลุ่ม แต่ปัจจุบันจำกัดตัวลงค่อนข้างมาก” 

 

ส่วนนักลงทุนสถาบันที่มีส่วนร่วมลดลงเป็นเทรนด์มา 2-3 ปีต่อเนื่อง ปัจจัยหลักคือ การหมดยุคกองทุน LTF และเปลี่ยนมาเป็น SSF ซึ่งไม่ได้จำกัดให้ต้องลงทุนเฉพาะหุ้นไทย ทำให้เม็ดเงินลงทุนไหลออกไปต่างประเทศมากขึ้น และคงจะเป็นเช่นนี้ต่อไป

 

“ช่วง 4-5 เดือนแรก หุ้นไทยดูดีเพราะต่างชาติกลุ่มเดียว หากจะหวังให้ใครมาช่วยดันตลาดในช่วงที่เหลือก็คงต้องเป็นต่างชาติ จุดพลิกน่าจะมาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่แคบลง เราจะต้องเห็นดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น และเงินเฟ้อที่ลดลง ซึ่งน่าจะเป็นช่วงตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป”

 

กลุ่มหุ้นที่อาจจะโดดเด่นกว่าตลาดในช่วงนี้

ด้าน บล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่า กลุ่มหุ้นที่มีโอกาสจะโดดเด่นกว่าตลาดในช่วงนี้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. หุ้นกลุ่ม Anti-Commodity หรือกลุ่มที่ได้ประโยชน์เมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เริ่มปรับตัวลง เช่น KEX, BGRIM, CBG, GPSC, SCC และ TASCO 2. หุ้นที่มีเกราะป้องกันเงินเฟ้อ และได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น เช่น BLA, TRUE และ DTAC 3. หุ้นเปิดเมือง เช่น MAJOR, CENTEL, AOT และ VGI 

 

ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดหุ้นไทยถูกกดดันทั้งจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ ที่ห่างกันมากขึ้น กดดันให้ค่าเงินบาทอ่อน (ล่าสุดอยู่ที่ 35.5 บาทต่อดอลลาร์) และฟันด์โฟลวมีโอกาสไหลออก รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีโอกาสย่อตัวลงในช่วงถัดไป ซึ่งหุ้นไทยประกอบไปด้วยหุ้นสินค้าโภคภัณฑ์ถึง 1 ใน 3 ส่วน ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยผันผวนในช่วงนี้ และปรับฐานลงมาแรงถึง 6.4% จากต้นเดือน

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X