×

Jumanji: The Next Level (2019) มองอัตลักษณ์และความอยากได้อยากมีผ่านร่างอวตารที่เลือกเองไม่ได้

15.01.2020
  • LOADING...
Jumanji

HIGHLIGHTS

7 MINS. READ
  • เรื่องราวใน Jumanji: The Next Level ควรจะสนุกสนานตามหน้าหนังที่เห็น แต่เรารู้สึกถึงประเด็นหนักๆ ที่หนังสะท้อนออกมาผ่าน ‘ชีวิตจริง’ ของตัวละครหลายตัวที่ไม่เคยพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่, สังขารที่ร่วงโรย, ชีวิตห่วยแตก, ภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมา, ความกลัวว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับ ฯลฯ
  • จะว่าไปมันก็เหมือนชีวิตจริงของเราเหมือนกันนะ เพราะไม่มีใครเลือกร่างอวตารมาเกิดได้ว่าจะรวย จน ขาว ดำ ตี๋ หรือฝรั่ง ฯลฯ ชีวิตจัดวางมาให้เรียบร้อย เราเป็นเพียง ‘ผู้เล่น’ ที่ต้องเลือกว่าจะเล่นเกมแบบไหนหรือมีทัศนคติในการใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร
  • ความสนุกของการวิเคราะห์ตัวละครของเรื่องนี้จึงอยู่ที่แต่ละตัวละครในโลกความจริงกับคาแรกเตอร์ร่างอวตารมีทั้งที่เหมาะสม แตกต่าง และยับเยิน ชนิดที่ต้องชมว่าเกมก็เลือกสรรได้น่าสนใจ ตลกร้ายแบบมีนัยที่เหมือนชีวิตคนเราจริงๆ 

**บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ และหากเคยดูภาพยนตร์มาก่อนจะเข้าใจความคิดของตัวละครได้มากยิ่งขึ้น**

 

การตัดสินใจเลือกชม Jumanji: The Next Level หนังผจญภัยย้อนวัยเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะเด็กๆ อยากดูกัน ก็เลยเดินเข้าไปดูแบบไม่ได้มีความคาดหวังใดๆ ขอออกตัวก่อนว่าเคยดู Jumanji (1995) นานมากๆ แล้ว เรียกว่าแทบไม่มีความทรงจำในหัว แล้วก็ไม่ได้ดู Jumanji: Welcome to the Jungle (2017) แต่น่าแปลกที่พอดูจบแล้วเรากลับเสียน้ำตาให้หนังแฟนตาซีเรื่องนี้

 

ทั้งที่เรื่องราวใน Jumanji: The Next Level ควรจะสนุกสนานตามหน้าหนังที่เห็น แต่เรารู้สึกถึงประเด็นหนักๆ ที่หนังสะท้อนออกมาผ่าน ‘ชีวิตจริง’ ตัวละครหลายตัวที่ไม่เคยพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่, สังขารที่ร่วงโรย, ชีวิตห่วยแตก, ภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมา, ความกลัวว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับ ฯลฯ

 

ซึ่งซ้อนทับกับการผจญภัยใน ‘โลก Jumanji’ ที่ภาคก่อนทุกคนสามารถเลือกร่างอวตารได้ตามความต้องการ แต่พวกเขาไม่สามารถทำอย่างนั้นได้อีกต่อไป เพราะ ‘เกม’ จะเป็นผู้กำหนดให้ และยังสามารถสลับร่างระหว่างเกมได้อีก! 

 

จะว่าไปมันก็เหมือนชีวิตจริงของเราเหมือนกันนะ เพราะไม่มีใครเลือกร่างอวตารมาเกิดได้ว่าจะรวย จน ขาว ดำ ตี๋ หรือฝรั่ง ฯลฯ ชีวิตจัดวางมาให้เรียบร้อย เราเป็นเพียง ‘ผู้เล่น’ ที่ต้องเลือกว่าจะเล่นเกมแบบไหนหรือมีทัศนคติในการใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร

 

ความสนุกของการวิเคราะห์ตัวละครเรื่องนี้จึงอยู่ที่แต่ละตัวละครในโลกความจริงกับคาแรกเตอร์ร่างอวตารมีทั้งที่เหมาะสม แตกต่าง และยับเยินชนิดที่ต้องชมว่าเกมก็เลือกสรรได้น่าสนใจ ตลกร้ายแบบมีนัยที่เหมือนชีวิตคนเราจริงๆ เริ่มตั้งแต่…

 

Jumanji

 

สเปนเซอร์ กิลพิน (รับบทโดย อเล็กซ์ วูล์ฟ)

แทนที่จะใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า หลังพาตัวเองและเพื่อนๆ เอาชีวิตรอดจากเกมในภาคก่อนมาแล้ว สเปนเซอร์กลับใช้เวลาไปกับความรู้สึกที่มีต่อ ‘ชีวิตจริง’ อันแสนห่วยแตก เงินไม่มาก งานไม่รุ่ง ไม่แฮปปี้กับชีวิต 

 

แถมยังมีอาการยอดฮิตของคนในยุคนี้คือโรคซึมเศร้าจากการเห็นชีวิตคนอื่นในโลกโซเชียล จนเกิดภาวะที่เรียกว่า Low Self-esteem หรือการไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง จนคิดกลับเข้าไปในเกมอีกครั้งเพื่อตามหาคุณค่าของตัวเองกลับมา แต่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการผจญภัยในภาคนี้ทั้งหมด เมื่อทุกคนต้องกลับเข้าไปในเกมเพื่อช่วยเขาออกมาอีกครั้ง 

 

สเปนเซอร์คิดว่าเขาจะได้ความรู้สึกดีๆ ฟินๆ กลับไปอีกครั้งถ้าได้ร่างของ ด็อกเตอร์เบรฟสโตน (รับบทโดย ดเวย์น จอห์นสัน) ผู้แสนแข็งแกร่งจากครั้งก่อนกลับมาอีกครั้ง แต่อย่างที่รู้กันว่าชีวิตมักเล่นตลกกับเราเสมอ 

 

Jumanji

 

เพราะครั้งนี้เกมได้ส่งให้เขาไปอยู่ร่าง ‘หมิง ตีนแมว’ (รับบทโดย อควาฟินา) ที่เขารู้สึกว่าเป็นร่างอวตารของลูสเซอร์ที่ไม่ต่างกับชีวิตจริงที่เขาหนีมาเลย แต่อย่างน้อยร่างนี้ทำให้สเปนเซอร์ได้เรียนรู้ว่าโลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ได้แย่ขนาดนั้น เพราะเราทุกคนล้วนมีปัญหาของตัวเอง แล้วก็ตลกดีเหมือนกันที่บางครั้งคนเราต้องสร้างความยุ่งยากให้กับชีวิตจึงจะได้รู้ว่ายังมีคนที่รักเราอยู่อีกมากมาย และถ้าในชีวิตจริงคุณไม่ได้มี 3 ชีวิตให้ทิ้งขว้างเหมือนในเกมเพื่อเรียนรู้ว่ามีคนที่รักคุณอยู่ล่ะก็… รักตัวเองให้มากหน่อยแล้วกันนะ

 

Jumanji Jumanji

 

มาร์ธา คาปลี (รับบทโดย มอร์แกน เทอร์เนอร์) 

แฟนสาวของสเปนเซอร์ที่พัฒนาความสัมพันธ์หลังกลับมาจากเกมครั้งก่อน ที่ยังไม่ทันได้รู้ว่าทำอะไรผิดก็ถูกขอเบรกความสัมพันธ์แบบ ‘อิหยังวะ’ ทั้งที่ในชีวิตจริงเธอทั้งป๊อบปูลาร์และดูดี (โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดีย) ในกลุ่มเพื่อนมหาวิทยาลัย 

 

แต่ก็แบกความรู้สึกกลัวอยู่ลึกๆ ว่าจะถูกคนอื่นไม่ชอบเหมือนตอนเรียนไฮสคูลในภาคก่อนหน้า อย่างที่เธอบอกในเรื่องว่า “มันเป็นครั้งแรกที่เธอรู้สึกมีตัวตนและมีคนชื่นชอบเธอ”

 

การเป็นที่ยอมรับในโลกโซเชียล ปมที่เคยถูกแอนตี้จากโรงเรียนเก่า และความกลัวว่าเพื่อนกลุ่มใหม่จะรังเกียจเมื่อรู้จักตัวตนที่แท้จริงของเธอ ได้แสดงให้เห็นว่ามาร์ธาเป็นตัวละครที่มีเหตุมีผล รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร ต้องการมีอำนาจควบคุมชีวิตตัวเอง และค่อนข้างมีความเป็น Protagonist (ตัวละครสำคัญ) ตามแบบฉบับหนังฮีโร่  

 

ดังนั้นการได้ร่างอวตารเป็น รูบี้ ราวด์เฮาส์ (รับบทโดย คาเรน กิลแลน) ผู้หญิงที่แข็งแรง สวยงาม มั่นใจ มีความสามารถ เหมาะสมในการเป็นผู้นำทีมไปสู่ความสำเร็จ ก็ตอบโจทย์ความต้องการทางเอกลักษณ์ของมาร์ธาในโลกแห่งความจริงได้เหมาะเหม็ง

 

แอนโทนี ‘ฟริดจ์’ จอห์นสัน (รับบทโดย เซอร์’ดาเรียส เบลน)

ในโลกความจริง ฟริดจ์คือคนที่ค่อนข้างเสพติดอัตลักษณ์ภายนอกของตัวเอง ต้องหุ่นดี มีกล้าม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แล้วก็เป็นอีกครั้งที่โลกเล่นตลก เพราะในตอนแรกเขาถูกส่งไปอยู่ในร่างอวตารของศาสตราจารย์เชลดอน 

 

ที่เป็นเหมือนภาพสะท้อนความกลัวภายในใจที่มีต่ออัตลักษณ์นี้ของเขามาก เห็นได้จากคำบ่นเรื่องรูปร่างภายนอกตลอดเวลาที่เขาอยู่ในร่างนี้ แต่หนังก็พยายามสอดแทรกให้คนดูเห็นว่าเมื่อค้นพบว่าความสามารถด้านเรขาคณิตของตัวเองมีประโยชน์ในการช่วยให้คนอื่นรอดชีวิตไปได้ ฟริดจ์ก็เริ่มเห็นว่ารูปลักษณ์ภายนอกมีความสำคัญรองลงไป 

 

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือตอนที่ฟริดจ์ได้สลับไปอยู่ในร่างอวตารของรูบี้ที่สวยงามทรงพลังตรงกับที่ต้องการทุกอย่าง แต่เขากลับหลงระเริงจนไม่สามารถควบคุมความพึงพอใจในอัตลักษณ์ใหม่ที่ได้มา จนเป็นเหตุให้ตัวเองต้องตกลงไปในบ่อน้ำสลับร่างจนกลับสู่ร่างเดิมอีกครั้ง

 

บางทีมีของดีอยู่ในมือ แต่ใช้ไม่เป็น มันก็กลับไปหาเจ้าของมันอยู่ดีล่ะนะ…

 

Jumanji

 

เอ็ดเวิร์ด ‘เอ็ดดี้’ กิลพิน (รับบทโดย แดนนี่ ดีวิโต)

คุณตาของสเปนเซอร์ที่อยู่ในความรู้สึกสิ้นหวังไม่ต่างจากหลานชายเท่าไรนัก เขาคือชายแก่ที่ไม่พอใจกับสังขารที่ร่วงโรยและชีวิตบั้นปลายที่ไร้ค่า ได้แต่นั่งรอวันตายให้มาถึง อย่างที่ได้ยินเขาบ่นในช่วงต้นเรื่องว่า Being old is suck!

 

สิ่งที่หนังถ่ายทอดให้เราเห็นในช่วงต้นคือเอ็ดดี้เป็นคนแก่ที่ไม่น่ารัก ขี้บ่น มองโลกในแง่ร้าย ก้าวร้าว ยึดติด ไม่ปล่อยวาง และเต็มไปด้วยความโกรธแค้นไมโล เพื่อนและหุ้นส่วนที่ขอเลิกกิจการเพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณในการออกเดินทางดูโลกภายนอก

 

เอ็ดดี้โทษไมโลมาตลอดว่าเป็นต้นเหตุทำให้ชีวิตบั้นปลายของเขาไร้ค่า ดังนั้นการได้ร่างอวตารเป็นด็อกเตอร์เบรฟสโตนที่หน้าตาดี สูงใหญ่ มีกำลังวังชาแข็งแรงมหาศาล จึงนับเป็น ‘การเกิดใหม่อีกครั้ง’ ของคุณตาร่างเล็กคนนี้ได้เลยทีเดียว 

 

แต่ไม่ว่ารูปลักษณ์ภายนอกจะดีอย่างไร อัตลักษณ์ภายในของร่างอวตารนี้ยังคงเป็นชายแก่ขี้บ่น มองโลกในแง่ร้าย ย้ำคิดย้ำทำ เต็มไปด้วยความโกรธเกรี้ยว เป็นตัวแปรให้เกมไม่เดินหน้าไปไหน แถมยังเสียชีวิตในเกมไปอย่างไร้ค่า กลายเป็นภาระให้กับทีม ไม่ต่างกับในชีวิตจริงของคุณตาเอ็ดดี้ที่เป็นภาระทางความรู้สึกให้กับลูกหลาน 

 

ดูแล้วนึกถึงสุภาษิต ‘ข้างนอกสดใส ข้างในเป็นโพรง’ ที่อาจจะดูเชยไปหน่อย แต่เปรียบเทียบกับตัวละครคุณตาเอ็ดดี้กับร่างอวตารในตอนแรกของเรื่องได้ดีจริงๆ

 

Jumanji Jumanji

 

ไมโล วอล์กเกอร์ (รับบทโดย แดนนี่ โกลเวอร์)

**ขอเตือนอีกครั้งว่าหัวข้อนี้จะเปิดเผยเนื้อหาสำคัญและพีกมากๆ ของภาพยนตร์** 

.

เพื่อนเก่าที่ต้องการสงบศึกทางใจกับเอ็ดดี้ แต่มีนิสัยอ้อมไปอ้อมมา ไม่พูดจาเข้าประเด็น จนต้องเข้าไปเคลียร์กันต่อในเกมกับร่างอวตารที่เกมเลือกให้คือ เมาส์ (รับบทโดย เควิน ฮาร์ต) นักสัตววิทยาที่กลายเป็นความพินาศยับเยินเมื่อรวมกับนิสัยจริงของเขาเข้าไป 

 

เขาเกือบทำให้คนในทีมตายอยู่บ่อยๆ เพราะความเชื่องช้า เล่นลิ้น วนไปมากว่าจะพูดออกมาได้แต่ละคำ กระทั่งสาเหตุที่กลับมาเอ็ดดี้ก็ยังไม่พูดตรงๆ โชคดีที่อีกฝ่ายเข้าใจได้เองว่าเขาป่วยมากจนถึงเวลาแล้วที่ต้องจบปัญหาที่ค้างคาใจ 

 

แต่ความสวยงามที่ทำให้เราต้องหลั่งน้ำตาคือตอนที่ไมโลสลับไปอยู่ร่างอวตารของม้าไซโคลนตัวใหญ่ที่ไม่มีใครอยากเป็น แต่เหมาะสมกับเขาที่สุด เพราะเขามีปัญหาเรื่องการสื่อสาร การเป็นม้าที่พูดไม่ได้ก็ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้อีกต่อไป

 

แถมการเป็นม้าที่บินได้ก็ช่างเหมาะเหม็งกับการเป็นนักสำรวจผู้รักอิสระที่จะได้ออกไปโบยบินได้อีกครั้งจริงๆ 

 

ไมโลเป็นตัวละครที่เหมือนไม่มีความสำคัญมากกับเนื้อเรื่อง แต่ส่วนตัวรู้สึกว่ามีสัญญะน่าสนใจที่หนังแฟนตาซีเรื่องนี้ตั้งคำถามสำคัญกับคนดูว่า “ถ้าในชีวิตจริงเราจะต้องทนทุกข์ทรมานและเจ็บปวดไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจ จะรู้สึกดีกว่าไหมถ้าเราสามารถหลบหนีและหายเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการได้เลย!?” 

 

อย่างน้อยการที่เขามีร่างเป็นม้าและต้องติดอยู่ในเกม Jumanji ตลอดไป ก็ทำให้เขาไม่ต้องกลับไปทนทรมานกับอาการป่วยที่ไม่น่าจะรักษาหายได้ในโลกแห่งความจริง

 

Jumanji

 

เบธานี วอล์กเกอร์ (รับบทโดย เมดิสัน ไอส์แมน)

ตัวละครสุดท้ายที่น่าสนใจและควรหาคำตอบให้ได้มากๆ ว่าทำไมเธอจึงเป็นคนเดียวที่ไม่ถูกเกมดึงเข้าไป จนต้องหาทางเข้าไปในเกมเพื่อช่วยเพื่อนๆ ด้วยตัวเอง 

 

ซึ่งเราอยากตีความว่าเพราะเบธานีคือตัวละครเดียวที่ ‘พึงพอใจ’ ในอัตลักษณ์และสิ่งที่มีในโลกแห่งความจริงของตัวเอง อีกทั้งยังเป็นคนมองโลกในแง่บวกมากๆ (เฉพาะในภาคนี้เท่านั้นนะ เพราะได้ข่าวว่าภาคก่อนหน้าเธอไม่ได้มองโลกในแง่บวกและมีความคิดโตเป็นผู้ใหญ่เท่าตอนนี้) 

 

ตั้งแต่ไม่ได้แสดงท่าทีเป็นเดือดเป็นร้อนเมื่อถูกส่งไปอยู่ในร่างอวตารม้าไซโคลนในตอนแรก แล้วพอสลับไปอยู่ร่างอวตารของเชลดอนที่ไม่มีใครอยากเป็นก็สะท้อนวิธีคิดแง่บวกของตัวละครผ่านประโยคที่ว่า “รู้สึกดีที่พูดได้อีกครั้ง” 

 

ถ้ามองจากในเรื่องอาจดูไม่มีความสำคัญอะไรมาก แต่ถ้ามองจากคอนเซปต์หลักของเกมว่าเป็นการ ‘เกิดใหม่’ เบธานีจะกลายเป็นตัวละครที่สำคัญกับไอเดียนี้ขึ้นมาทันที 

 

โดยเฉพาะกับการตีความแบบเราที่เชื่อว่าการสิ้นสุดลงของการเกิดใหม่คือ ‘นิพพาน’ (Nirvana) สะท้อนผ่านวิธีคิดของเบธานีที่แม้พอใจกับโลกที่เป็นอยู่แล้ว แต่ก็ยอมกลับเข้าไปในเกม (ทั้งที่เธอไม่ต้องหาทางกลับเข้าไปก็ได้) เพื่อช่วยเพื่อนๆ อย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้ไปเพราะอยากหนีโลกความจริงเหมือนสเปนเซอร์ หรือโชคร้ายถูกดูดเข้าไป

 

และการเข้าไปพร้อมกับการละทิ้งอัตลักษณ์ของตัวเองทั้งหมด ยินดีไปกับทุกร่างอวตารที่ได้รับ ไร้ความรู้สึกรัก โลภ โกรธ หลง คือจุดเริ่มต้นของทางสายหนึ่งที่จะนำไปสู่นิพพาน หรือไม่ต้องอยู่ในวัฏสงสารเพื่อเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

 

Jumanji

 

Acting for Multi-character 

สุดท้ายอยากชื่นชมศักยภาพของนักแสดงร่างอวตารในเกมที่ทุกคนต้องถ่ายทอดตัวละครสองคาแรกเตอร์ตามตัวผู้เล่น ซึ่งสามารถทำออกมาได้ค่อนข้างดีทั้งในเรื่องการใช้เสียง ร่างกาย (ภาษากายและท่าทางต่างๆ) และวิธีการถ่ายทอด ที่ทำให้คนดูเห็นความแตกต่างได้ว่าตัวละครที่อยู่ภายในร่างนั้นคือใครที่ขับเคลื่อนร่างอวตารนั้นอยู่  

 

ไม่เพียงเท่านั้น ส่วนตัวแล้วมักจะชื่นชมนักแสดงที่ต้องทำงานหนังแฟนตาซีทั้งหลายเป็นพิเศษ เพราะทั้งเรื่องแทบจะถ่ายอยู่บนผ้าเขียวๆ (Green Screen) เพื่อเอาไปทำ CGI ทำให้นักแสดงต้องมีสมาธิมาก บวกกับจินตนาการสุดล้ำและแข็งแรง พยายามมองให้เห็นภาพที่ผู้กำกับต้องการก่อนที่ภาพในหนังที่เราดูจะปรากฏขึ้นจริงๆ เสียอีก 

 

หนังป๊อปคอร์นเป็นคำที่ฟังเหมือนง่าย แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำหนังป๊อปคอร์น ‘ที่ดี’ ออกมา และถือว่า Jumanji: The Next Level เป็น ‘ป๊อปคอร์นออร์แกนิก’ ที่ดูได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เพราะสนุกและมีสาระน่าสนใจให้ขบคิดกันไปได้เรื่อยๆ

 

สำหรับคนที่เห็นภาพคนอื่นในอินสตาแกรมหรือเฟซบุ๊กแล้วบอกกับตัวเองว่า “ชีวิตคนอื่นเขาดีจังเลย” แล้วรู้สึกไม่แฮปปี้กับตัวเองอย่างสเปนเซอร์ ฉันคนหนึ่งที่อยากบอกว่าโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กมันก็เป็นเหมือนร่างอวตารที่คุณเลือกเล่นได้ว่าอยากจะให้มันเป็นแบบไหน เราจะใส่ฟิลเตอร์ลบสิว เปลี่ยนแบ็กกราวด์ มันสร้างขึ้นมาให้สวยให้ดีได้หมด มันเป็นอัตลักษณ์ที่คนโพสต์สร้างขึ้นได้อย่างใจฝัน และทุกสิ่งที่เราเห็นมันจริงเท่าที่พื้นที่บนโซเชียลมีเดียของใครสักคนอยากให้มันเป็น 

 

ใครจะไปรู้ รูปที่เขาโพสต์อาจจะถ่ายมา 5-6 ปีที่แล้ว แต่เพิ่งจะเอามาลงแล้วบอกว่าเพิ่งไปเที่ยวมาก็ได้… 

 

 

 

ภาพ: Sony Pictures Thailand

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE



Latest Stories

Close Advertising
X