×

จุลพันธ์ตอบกระทู้ศิริกัญญา ยืนยันภาษี 15% เป็นเพียงแนวทางศึกษา หวังผลลัพธ์ที่ดีสุด ไม่มีธง เพื่อให้เป็นอิสระ

โดย THE STANDARD TEAM
12.12.2024
  • LOADING...
จุลพันธ์ตอบกระทู้ศิริกัญญา ยืนยันภาษี 15%

วันนี้ (12 ธันวาคม) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของสมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 วาระพิจารณากระทู้ถามสด ศิริกัญญา ตันสกุล สส. แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ถามนายกรัฐมนตรีเรื่องโครงสร้างภาษี โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายให้ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ตอบกระทู้

 

ศิริกัญญาตั้งคำถามกรณีที่ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึงปลัดกระทรวงการคลัง มีแนวคิดที่จะศึกษาว่าจะปฏิรูปโครงสร้างภาษีและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วย โดยพิชัยเสนอภาษี 3 ตัว คือ ‘2 ลด 1 เพิ่ม’ ได้แก่ การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจาก 20% เหลือ 15% การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จากเดิมจัดเก็บเป็นขั้นบันไดมาเป็นเรตเดียวกันทั้งประเทศคือ 15% และการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกันคือ 15% จึงขอทราบวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีว่าต้องการเก็บรายได้เข้ารัฐให้มากขึ้นหรือไม่ ให้โจทย์หน่วยงานที่ศึกษาไปหรือไม่ว่าต้องการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้นเท่าไร อัตราที่ควรจะเป็นคือ 15% ของทั้ง 3 ภาษีใช่หรือไม่ รวมถึงตั้งโจทย์ไว้หรือไม่ว่าใครควรจะต้องรับภาระภาษีในการปฏิรูป หรือใครควรจะได้รับการลดภาษีลง

 

ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า หากจะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 15% จริงนั้น มีการคำนวณไว้หรือไม่ว่าทุก 1% ที่ลดลงนั้นจะทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลงเท่าไร ซึ่งหากลองคำนวณคร่าวๆ ก็จะลดลงประมาณ 30% หรือ 1.9 แสนล้านบาท และในปี 2566 ที่มีการลดภาษีลง หากดูเป็นตัวเงินจะพบว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลดูเหมือนจะเพิ่มขึ้น แต่หากเทียบกับ GDP จะพบว่าลดลงด้วยซ้ำ หรือหากจะอ้างว่าอยากลดภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับภาษีเพิ่มเติมจากบริษัทตามมาตรการต้องเสียภาษีขั้นต่ำ (Global Minimum Tax: GMT) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ออกกฎว่าประเทศที่เข้าร่วมต้องเก็บภาษีในอัตรา 15% แต่คิดว่ากระทรวงการคลังก็เตรียมแผนสำรองไว้แล้ว

 

“การที่จะเก็บภาษีในอัตรา 15% สำหรับคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนทั่วไปนั้นมีรายได้ไม่ถึง 3 แสนบาทต่อเดือน จำเป็นต้องจ่ายภาษีมากขึ้น การทำงาน 12 เดือนเท่ากับเขาต้องเสียเงินเดือน 1 เดือนไปเป็นภาษี ซึ่งกลับหัวกลับหางกับความตั้งใจของบุคคลธรรมดาที่ต้องสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี หากท่านอยากจัดเก็บรายได้ให้มากขึ้นและกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด ทำไมจึงเลือกที่จะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง ทำให้คนธรรมดาต้องจ่ายภาษีเพิ่ม และกลับไปเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม” ศิริกัญญากล่าว

 

จากนั้นจุลพันธ์ชี้แจงว่า กระทรวงการคลังศึกษาการปฏิรูปภาษีอย่างจริงจัง รวมถึงแนวความคิดในการเดินหน้าภาษีชดเชยให้กับผู้ยากไร้ เรียกว่าสวัสดิการถ้วนหน้าผ่านทางโครงสร้างภาษี เรามีปัญหาในเรื่องโครงสร้างภาษีมาอย่างยาวนาน การจัดเก็บรายได้ของรัฐเทียบกับ GDP 14% เศษ ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานของโลกค่อนข้างมาก ที่เฉลี่ยจะตกอยู่ที่ 18% สิ่งหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ถึงตัวเลขที่เราต้องการมาจากการลดหย่อนหลายเรื่อง รวมถึง VAT ภาษีเงินได้ประเภทต่างๆ ผูกพันกันจนเป็นใยเดียวกัน จึงต้องมาศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อให้รัฐจัดเก็บรายได้มากขึ้นและเกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะมีความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งต้องกระทบกับประชาชนให้ได้น้อยที่สุด

 

“ตัวเลขไม่มีการตั้งเป้าว่าเป็นเท่าไร แต่แนวความคิดที่พูดคุยกัน ตัวเลข 15% ก็เป็นไปได้ว่ามีการพูดคุยกันในระดับนานาชาติ เช่น OECD พูดถึงภาษีเงินได้นิติบุคคล 15% เป็นขั้นต่ำ โดยหลักคิดทุกประเทศไม่ควรมีการแข่งขันกันในเรื่องลดอัตราภาษีอีกต่อไปแล้ว ในอดีตแข่งกันลดราคา ลดหย่อน สุดท้ายไม่มีรายได้เข้ารัฐพอที่จะนำไปพัฒนาประเทศและโครงสร้างพื้นฐาน วันนี้จึงมีเกณฑ์ขึ้นมาว่าทุกประเทศเก็บภาษีขั้นต่ำ 15% สุดท้ายคงเป็นทิศทางของโลกที่จะต้องไหลเข้าสู่ตัวเลขนี้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ เราก็คิดว่า 15% เป็นหนึ่งในตัวเลือกเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าสุดท้ายจะต้องดึงตัวเลขทั้งหมดเข้ามาอยู่ที่ 15% อยู่ในขั้นตอนของการศึกษา ท่านก็รู้ว่ากระบวนการเรื่องภาษีไม่สามารถเปลี่ยนแบบพลิกฟ้าพลิกดินได้ มีเรื่องของระยะเวลา” จุลพันธ์กล่าว

 

จุลพันธ์ยังชี้แจงเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคลว่า ยังไม่มีข้อตกลง ข้อสั่งการ และความชัดเจนใดๆ เป็นเพียงแค่แนวความคิด แต่ข้อเสนอนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศและในประเทศให้มากขึ้น ไทยกำลังจะเข้าร่วม OECD พร้อมย้ำว่า ประเทศไทยไม่ได้เก็บภาษีแบบแนวระนาบ แต่เป็นภาษีแบบคนรวยจ่ายมากกว่าคนจน อย่างไรก็ตาม จะต้องคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันและผลกระทบกับประเทศ ที่มีความเกี่ยวเนื่องทั้งเรื่องการแข่งขันทางการค้าและคู่ค้า เพื่อกำหนดให้เป็นอัตราที่เหมาะสม

 

“ไม่มีโจทย์ ไม่มีเป้า ไม่มีธง เราก็จะเดินหน้าไป และหวังว่าสุดท้ายเราจะได้โจทย์ที่ดีที่สุด และสุดท้ายกลไกเหล่านี้ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ก็มีโอกาสกลับมาหารือกันในสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาอีกอยู่ดี ท่านคงได้มีโอกาสพูดคุยกับผมอีกครั้งหนึ่ง” จุลพันธ์กล่าว

 

ศิริกัญญากล่าวว่า จากการฟังรัฐมนตรีชี้แจงแล้วก็รู้สึกเหนื่อย เพราะไม่มีเป้าหมาย เราจะไปอย่างไรต่อ และไม่รู้ว่าปฏิรูปเสร็จแล้วจะมีรายได้เพิ่มขึ้นตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ รวมถึงท่านยังคิดที่จะดึงดูดนักลงทุนด้วยภาษี ทั้งที่หากเข้าร่วมกับภาคีนี้ก็ต้องเก็บภาษีที่ 15% เหมือนกันหมด แทนที่จะไปเร่งสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านอื่นๆ หรือเพิ่มทักษะให้คนไทยด้วยกันเอง แต่ก็ไม่เป็นอะไร เพราะท่านก็ไม่มีโจทย์ ไม่มีธง เท่ากับสิ่งที่พูดไปก็อาจจะไม่เกิดขึ้น

 

จุลพันธ์จึงตอบติดตลกว่า “เอาใจท่านยากพอสมควร พอตอบว่ามีธง มีเป้าหมาย แล้วท่านก็จะมาอีกวิธีหนึ่ง จึงบอกว่าไม่มีธง เพราะเปิดการศึกษาให้เป็นอิสระ”

 

ก่อนจุลพันธ์จะย้ำว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ ทั้งนี้ ส่วนตัวก็ไม่กล้าที่จะการันตีประเด็นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นคนพูด เพราะยังไม่เคยได้ยินจริงๆ ไม่แน่ใจว่าจับประเด็นมาถูกต้องหรือไม่ด้วยซ้ำ ซึ่งหวังว่าถูก แต่สุดท้ายไม่เป็นไร มีประเด็นจั่วหัวมาแล้วอย่างนี้คงมีเวลาในสภากันอีกครั้งหนึ่ง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising