จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มองว่าเป็นเรื่องดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะเข้ามาตรวจสอบโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หลังหลายฝ่ายเตือนรัฐบาลเสี่ยงซ้ำรอยโครงการจำนำข้าว
วานนี้ (12 ตุลาคม) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต กล่าวในวันประชุมอนุกรรมการฯ นัดแรกว่า จากกรณีที่มีข้อห่วงใยจาก ป.ป.ช. เรื่องการทุจริต ทำให้ ป.ป.ช. ได้ตั้งหน่วยงานมาตรวจสอบโครงการนี้ขึ้นมา จุลพันธ์มองว่าเป็นเรื่องดีที่มีหน่วยงานเข้ามาช่วยดู
“ผมพร้อมเข้าไปพบกับ ป.ป.ช. ด้วยตัวเอง หลังจากที่ได้ทราบว่า ป.ป.ช. มีการตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบ ก็พร้อมที่จะเข้าไปรับฟัง แลกเปลี่ยนข้อสงสัย เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และนำข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช. มาปรับใช้ให้มาตรการมีความรอบคอบที่สุด และแม้ว่ามาตรการนี้จะมีกรอบระยะเวลาที่กระชั้น แต่คณะอนุกรรมการฯ ก็จะพิจารณาให้รอบคอบถี่ถ้วน โดยคำนึงถึงความเห็นของทั้งประชาชน เอกชน และหน่วยงานภาครัฐให้รอบด้านมากที่สุด”
การเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจาก นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า สำนักงาน ป.ป.ช. อยู่ระหว่างการพิจารณาจะเชิญผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านใดบ้างมาร่วมเป็นคณะกรรมการศึกษาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยได้ให้เชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อศึกษารายละเอียดโครงการดังกล่าวว่ามีข้อน่าห่วงใยหรือความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตหรือผลกระทบด้านเศรษฐกิจในระยะยาว ตามที่มีนักวิชาการและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ท้วงติงมาหรือไม่
พร้อมระบุว่า การตั้งคณะกรรมการครั้งนี้ก็เหมือนกับโครงการจำนำข้าวที่ ป.ป.ช. เคยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาก่อนหน้านี้ โดยหาก ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะหรือข้อท้วงติงแจ้งไปยัง ครม. แล้ว หาก ครม. ไม่ปฏิบัติตามแล้วเกิดความเสียหายขึ้นมาก็ต้องรับผิดชอบ เพราะถือว่าเตือนแล้วแต่ไม่ฟัง เมื่อเกิดปัญหาต้องรับผิดชอบ