วันนี้ (23ตุลาคม) จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลออกมาระบุว่า ต้นฉบับของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมาจากประเทศญี่ปุ่น
จุลพันธ์กล่าวยืนยันว่าต้นแบบไม่ได้มาจากประเทศญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นก็เคยดำเนินการในลักษณะคล้ายคลึงกันเมื่อปี 1999 เป็นลักษณะของการแจกคูปอง แต่ส่วนตัวได้เห็นข่าวดังกล่าวแล้ว และยังได้ติดต่อไปขอข้อมูลจาก ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ของประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน เพื่อนำมาศึกษาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย ซึ่งเชื่อว่าทุกฝ่ายเข้าใจว่าบริบทแตกต่างกันในปี 1999 และในปีปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกันประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นก็มีความแตกต่างกัน จึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้
เมื่อถามถึงกรณีเลื่อนประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ทำให้ประชาชนสงสัยว่าไม่ได้รับเงินจากนโยบายนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 หรือไม่ จุลพันธ์ระบุว่าเป้าหมายยังคงอยู่ที่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 แต่หากมีการประชุมคณะอนุกรรมการในสัปดาห์นี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น ถ้าไม่ทันจริงๆ ก็อาจต้องมีการรายงาน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอปรับกรอบเวลาของโครงการ เนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง และอยากให้มั่นใจว่าเมื่อเปิดใช้บริการจะต้องมีความปลอดภัย เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด รวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่สามารถละเลยได้ แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าหากมีการเลื่อนโครงการจริง จะมีการกำหนดใหม่ว่าสามารถแจกเงินได้เมื่อไร ขอย้ำว่าตอนนี้ยังไม่มีการยืนยันว่าจะเลื่อนแจกเงินหรือไม่
เมื่อถามว่าที่มาของเงินหรือแอปพลิเคชัน ถือเป็นปัจจัยหลักที่อาจต้องทำให้เลื่อนการแจกเงินหรือไม่ จุลพันธ์กล่าวยอมรับว่าทั้งสองอย่างถือเป็นปัจจัยที่จะต้องนำมาพิจารณา เพราะทุกเรื่องมีความสำคัญเท่ากันหมด ต้องทำอย่างละเอียดรอบคอบ
ทั้งนี้ การติดตามตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากหลายฝ่ายซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้รัฐบาลมีความระมัดระวังมากขึ้นเป็นเท่าตัว เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย อย่างไรก็ตามยืนยันว่าตอนนี้ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องเงินกู้กับธนาคารออมสิน
เมื่อถามว่าที่ผ่านมารัฐบาลยืนยันตลอดว่าที่มาของเงินดำเนินโครงการไม่มีปัญหา แต่ตอนนี้กลับไม่มีความชัดเจนติดปัญหาในส่วนใด จุลพันธ์ระบุว่า เนื่องจากต้องปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมาย เมื่อคณะอนุกรรมการฯ มีการประชุมและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาข้อมูลรวบรวมรายงานส่งมายังคณะอนุกรรมการฯ ตอนนี้จึงต้องรอรายงานเพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจ ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นตามกฎหมาย ไม่สามารถลัดวงจรได้ ไม่สามารถดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับโครงการโดยที่ยังไม่มีมติจากคณะกรรมการได้
ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ไม่ได้มีการสั่งการหรือกำชับอะไรเป็นพิเศษ และยังตอบไม่ได้ว่าการประชุมคณะอนุกรรมการฯ จะเกิดขึ้นเมื่อใด