ประเด็นความขัดแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นตั้งแต่สัญญาเช่า 68 ปีสิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 และจุฬาฯ ไม่ต่อสัญญาเช่าที่ดิน เพราะต้องการนำพื้นที่ดังกล่าวมาใช้เป็นพื้นที่การศึกษาตามแผนแม่บท
ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันที่ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2547 ว่า อุเทนถวายจะขนย้ายและส่งมอบพื้นที่เช่าคืนแก่จุฬาฯ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2548 หากไม่สามารถดำเนินการได้จะผ่อนระยะเวลาในการใช้สถานที่ตามความจำเป็นไม่เกิน 1 ปี และอุเทนถวายจะต้องชำระค่าใช้ประโยชน์ในที่ดินให้แก่จุฬาฯ ในอัตราปีละ 1,140,900 บาท ตามระยะเวลาที่ผ่อนผัน
ผ่านมาเกือบ 20 ปี อุเทนถวายก็ยังไม่ได้ย้ายออกจากที่ดินดังกล่าว
แม้สำนักงานอัยการสูงสุดจะมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ขึ้นมา และ กยพ. ก็มีมติให้อุเทนถวายขนย้ายและส่งมอบพื้นที่พร้อมชำระค่าเสียหายก็ตาม
รวมถึงคณะรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการประสานกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ เพื่อขอใช้ที่ราชพัสดุและงบประมาณ 200 ล้านบาท สำหรับการย้าย
จนในที่สุดนำไปสู่การฟ้องคดี ซึ่งอุเทนถวายเป็นฝ่ายยื่นฟ้อง กยพ. คณะรัฐมนตรี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565
ต่อมาในเดือนธันวาคม 2565 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้อุเทนถวายย้ายออกจากพื้นที่ โดยจะต้องดำเนินการภายใน 60 วันหลังจากมีคำสั่ง
THE STANDARD รวบรวมสรุปคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดปมความขัดแย้ง ดังนี้
1. วันที่ 10 สิงหาคม 2565 ศาลปกครองสูงสุดออกนั่งพิจารณาคดี รับฟังสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวน และคำชี้แจงด้วยวาจาประกอบคำแถลงเป็นหนังสือของตุลาการผู้แถลงคดี พร้อมตรวจพิจารณาพยานหลักฐานในคำฟ้องคำให้การ คำคัดค้านคำให้การ คำอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ และคำชี้แจงเพิ่มเติม
2. พร้อมระบุว่า วันที่ 12 ธันวาคม 2549 ครม. มีมติกำหนดแนวทางกรณีมีข้อพิพาทระหว่างส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ มิให้ฟ้องต่อศาล แต่ให้ส่งเรื่องที่พิพาทไปยังอัยการสูงสุด และให้อัยการสูงสุดเสนอ กยพ. เพื่อชี้ขาดแล้วเสนอ ครม. เพื่อรับทราบต่อไป รวมถึงให้ชี้แจงคำพิพากษาคำชี้ขาดให้คู่กรณีรับทราบและถือปฏิบัติ
3. ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาใน 3 ประเด็นที่อุเทนถวายอุทธรณ์มา คือ
-
- กยพ. มีมติชี้ขาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- มติของ กยพ. มีข้อบกพร่อง และเป็นการพิจารณาโดยมีข้อเท็จจริงไม่สมบูรณ์
- การตรา พ.ร.บ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ของจุฬาฯ เป็นการดำเนินการโดยฝ่ายเดียว
พร้อมเทียบเคียงประวัติความเป็นมา กรณีสถานเสาวภา สภากาชาดไทย อุเทนถวายจึงชอบที่จะได้รับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนคืน
4. ในประเด็นแรก กยพ. มีมติชี้ขาดให้อุเทนถวายขนย้ายและส่งมอบพื้นที่พร้อมชำระค่าเสียหายเป็นเงินปีละ 1,140,900 บาทนั้น จากที่อุเทนถวายระบุว่าได้เข้ามาอยู่ในที่ดินตามพระราชประสงค์สร้างสถานศึกษาของรัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ปี 2466 ในเวลาพร้อมๆ กับจุฬาฯ ที่ดินที่สร้างจะตกเป็นสาธารณสมบัติทันทีนั้น
5. จากเอกสารหลักฐานที่อุเทนถวายแนบมาคือ หนังสือที่กระทรวงวังแจ้งให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติทราบถึงรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานถาวรวัตถุจำนวน 10,000 บาท ให้สร้างโรงเรียนเพาะช่าง และประกาศคำสั่งตั้งโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วว่า ไม่มีข้อความส่วนใดของเอกสารแสดงให้เห็นว่าเป็นพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 ที่จะยกที่ดินอันเป็นที่ตั้งอุเทนถวายให้แก่ผู้ใดโดยเฉพาะ หรือให้ที่ดินดังกล่าวพ้นจากการดูแลของกรมพระคลังข้างที่ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
6. ประกอบกับข้อเท็จจริงว่าเป็นการออกโฉนดที่ดินให้แก่รัชกาลที่ 6 ย่อมถือว่าที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งที่ดินเช่นว่านี้จะยกอำนาจปกครองปรปักษ์เป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ และไม่อาจรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติทันทีที่รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชอุทิศให้ การที่อุเทนถวายระบุว่า จุฬาฯ จะให้อุเทนถวายขนย้ายออกไปจากที่ดินพิพาทจะขัดต่อพระราชประสงค์ จึงไม่อาจรับฟังได้
7. ขณะที่ กยพ. เป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจาก ครม. ซึ่งมีผลผูกพันส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจที่จะต้องยึดถือปฏิบัติ และอาจส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน
8. ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้มีการตรา พ.ร.บ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน อันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้กับจุฬาฯ ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้บังคับเป็นกฎหมาย ย่อมชัดเจนว่าที่ดินนั้นถือเป็นกรรมสิทธิ์ของจุฬาฯ แม้จะมีพระบรมราชโองการ รวมถึงพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ตราขึ้น
9. จุฬาฯ เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์โดยชอบธรรมตามกฎหมาย และย่อมมีสิทธิที่จะหวงกัน หรือห้ามมิให้ผู้ใดมารบกวนกรรมสิทธิ์ของตนได้ นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า อุเทนถวายได้ทำบันทึกข้อตกลงขนย้ายและส่งมอบคืนพื้นที่พิพาท รวมถึงชำระค่าใช้ประโยชน์ให้กับจุฬาฯ แต่อุเทนถวายมิได้ปฏิบัติตามข้อตกลง และเพิกเฉยมิได้ส่งคืนพื้นที่พิพาท รวมถึงมิได้ชำระค่าใช้ประโยชน์ให้กับจุฬาฯ ศาลปกครองพิจารณาว่า การที่ กยพ. มีมติชี้ขาดให้อุเทนถวายปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว
10. ประเด็นที่สอง อุเทนถวายอุทธรณ์ว่า มติของ กยพ. มีข้อบกพร่องและไม่ชอบ เพราะพิจารณาโดยมีข้อเท็จจริงไม่สมบูรณ์ เนื่องจากพนักงานอัยการซักถามในเรื่องทั่วๆ ไป ไม่ได้ซักถามเกี่ยวกับการเข้ามาอยู่ในพื้นที่พิพาทว่าเข้ามาตั้งแต่แรกอย่างไร และได้เข้ามาอยู่อาศัยโดยใช้สิทธิอะไร ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ในขั้นการรวบรวมพยานหลักฐานได้เปิดโอกาสให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและส่งมอบหลักฐานที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งได้รับฟังความเห็นทั้งสองฝ่าย และเปิดโอกาสให้ชี้แจงโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานตามสมควรแล้ว ทำให้ประเด็นนี้ไม่อาจรับฟังได้
11. ประเด็นที่สาม การตรา พ.ร.บ.โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ของจุฬาฯ เป็นการดำเนินการโดยฝ่ายเดียว พร้อมเทียบเคียงประวัติความเป็นมา กรณีสถานเสาวภา สภากาชาดไทย อุเทนถวายจึงชอบที่จะได้รับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของตนคืนนั้น ศาลปกครองสูงสุดระบุว่า การตรา พ.ร.บ. นี้ขึ้นเป็นกฎหมายด้วยอำนาจนิติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มิได้เป็นผลจากการกระทำของจุฬาฯ ตามที่กล่าวอ้าง
12. และในกรณีสถานเสาวภา สภากาชาดไทยนั้น เป็นกรณีที่มีข้อเท็จจริงและความเป็นมาของที่ดินแตกต่างจากกรณีของอุเทนถวาย คำอุทธรณ์ในส่วนนี้ไม่อาจรับฟังได้เช่นเดียวกัน
อ้างอิง:
- https://www.admincourt.go.th/admincourt/Casefile/admcase/document/signed/pdf/2559/01012-590418-1f-651214-0000734338.pdf?fbclid=IwAR1-Vn1gWb5ZAcxQKTTwpwCcOkh_LVbg6PHdisSI1vmyGrX1-RLSRuWxeU4_aem_ASxbJehid15ECYy_OYNCj52u88n0m6PXBM9Ccztndz7MdroPHFpO3nDB8vAOlI_FF7A
- https://www.facebook.com/share/p/7ZREcp7jYfhqEnjV/?mibextid=WC7FNe
- ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ โพสต์ข้อความช่วงหนึ่งระบุว่า หากหน่วยงานซึ่งในที่นี้คืออุเทนถวาย ไม่ดำเนินการ สำนักงานอัยการสูงสุดต้องมีหนังสือเตือนให้ปฏิบัติ หากยังไม่ปฏิบัติ ประธาน กยพ. คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้องมีหนังสือแจ้งไปยังรัฐมนตรีเจ้าสังกัด เพื่อแจ้งให้หน่วยงานในสังกัดที่เป็นคู่กรณีปฏิบัติตามคำวินิจฉัย หากทำดังนี้แล้วยังเพิกเฉย ให้เสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งการตามที่เห็นสมควร