ตามมาตรา 112 ของพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ได้ระบุถึง 10 ลักษณะการกระทำความผิดของข้าราชการตำรวจที่ถือว่าเป็น ‘การทำผิดวินัยร้ายแรง’
ซึ่งมีตั้งแต่ การปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์เป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย, การล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ, การละทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุอันควร, การดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ ข่มเหง ทำร้ายประชาชน
ไปจนถึง การประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ซึ่งในที่นี้มีผู้นิยามคำว่า ‘ชั่วอย่างร้ายแรง’ ว่าเป็นการกระทำที่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติต่อการเป็นตำรวจ และทำให้เกียรติของหน่วยงานราชการตำรวจได้รับความเสียหาย เช่น การสมคบโจร
แม้วันนี้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน แต่ในทางพฤตินัย พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ยังถือว่าเป็นตำรวจ เพียงแต่ถูกพักงานเท่านั้น
ฉะนั้นขั้นตอนการสอบสวนวินัยร้ายแรงที่กำลังเดินหน้าอยู่ ณ ขณะนี้ จะเป็นอีกหนึ่งสมการตัดสินชะตาชีวิตการเป็นตำรวจของ ‘พล.ต.อ. สุรเชษฐ์’
ที่มาการถูกตั้งสอบ ‘วินัยร้ายแรง’
ต้นเรื่องของการตั้งกรรมการสอบวินัยตามคำสั่ง พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (หนังสือคำสั่ง ตร. ที่ 179/2567 ลงวันที่ 18 เมษายน 2567) ที่มี พล.ต.อ. สราวุฒิ การพานิช รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ พร้อมคณะกรรมการรวม 14 คน
เพื่อสอบสวน พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ และผู้ใต้บังคับบัญชารวม 5 ราย ได้แก่
- พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- พ.ต.อ. กิตติชัย สังขถาวร รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา
- พ.ต.ท. คริษฐ์ ปริยะเกตุ รองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ
- ส.ต.อ. ณัฐวุฒิ หวัดแวว ผู้บังคับหมู่ (ทำหน้าที่จราจร) งานปฏิบัติการจราจรตามโครงการพระราชดำริ 1 กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจจราจร
- ส.ต.อ. ณัฐนันท์ ชูจักร ผู้บังคับหมู่ งานสายตรวจ 1 กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจจราจร
สืบเนื่องมาจากกรณีของ พ.ต.ท. คริษฐ์ ที่ก่อนหน้านี้ถูกตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการตั้งคณะกรรมการสอบสวน (คำสั่งที่ 746/2566 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2566 และคำสั่งที่ 114/2567 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2567) กรณีต้องหาคดีอาญาฐานสมคบฟอกเงินเว็บพนัน BNK Master ของสถานีตำรวจนครบาล (สน.เตาปูน) (คดีอาญาที่ 391/2566)
ซึ่งจากการสอบสวนของคณะกรรมการ (ชุดที่สอบ พ.ต.ท. คริษฐ์) มีการพาดพิงไปถึง ‘ข้าราชการตำรวจผู้อื่นว่ามีส่วนร่วมในการกระทำการในเรื่องที่ทำการสอบสวน’ ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่าเป็นกรณีข้าราชการตำรวจตำแหน่งต่างกัน และอยู่ต่างสังกัดกันถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงร่วมกัน
จึงให้ผู้มีอำนาจสำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่มีตำแหน่งสูงกว่า หรือผู้มีอำนาจพิจารณาสั่งการสำหรับผู้ถูกกล่าวหาทุกคนเป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอาศัยอำนาจตามความใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 มาตรา 105, มาตรา 108, มาตรา 119 และมาตรา 179 ประกอบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 108/2567 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2567
‘จะได้อยู่ต่อ’ หรือ ‘ออกถาวร ‘อาจรู้ผลใน 240 วัน
หากอ้างอิงตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณากรอบเวลาในการสอบสวนวินัยร้ายแรง รวมทั้งกระบวนการจนออกเป็นหนังสือคำสั่ง จะอยู่ที่ประมาณ 8 เดือน หรือ 240 วัน ไล่เป็นลำดับต่อไปนี้
- เรียกประชุมคณะกรรมการที่แต่งตั้ง ภายใน 15 วัน
- คณะทำงานรวบรวมพยานหลักฐาน ภายใน 60 วัน
- แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ถูกกล่าวหา ภายใน 15 วัน
- ผู้ถูกกล่าวหารวบรวมพยานหลักฐานมาชี้แจง ภายใน 60 วัน
- คณะกรรมการประชุมลงมติ ภายใน 30 วัน
- ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกคำสั่ง ภายใน 60 วัน
แต่ทั้งนี้ปัจจัยว่าจะจบเร็วหรือช้าย่อมขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายส่วน ตั้งแต่ขั้นที่ 1 เลย คือกรณีที่กรรมการสอบสวนมาไม่ครบจนต้องเลื่อนการประชุม, มีการคัดค้านกรรมการในการสอบสวน, พยานหลักฐานมีมากต้องใช้เวลารวบรวม หรือผู้ถูกกล่าวหาเจตนาประวิงเวลา
อย่างในกรณีชุดสอบฯ ของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ สิ่งที่น่าเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นและส่งผลให้เวลายืดยาวออกไปคือ พล.ต.อ. สราวุฒิที่เป็นประธานคณะกรรมการฯ เกษียณอายุราชการก่อนขั้นตอนทั้งหมดจะจบ ซึ่งเมื่อมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น แน่นอนว่าจะต้องมีการแต่งตั้ง ประชุม และมอบหมายการทำงานสู่คณะทำงานชุดใหม่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในทิศทางเดียวกันในการสอบสวน
แต่อีกหนึ่งปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นได้ แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะยังไม่เคยเกิดขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือกระบวนการข้อที่ 6 ว่าด้วยเรื่องที่ ผบ.ตร. เมื่อรับมติจากคณะกรรมการมาแล้วจะต้องออกคำสั่งว่าจะดำเนินการอย่างไรกับผู้ถูกกล่าวหา
ถ้า ผบ.ตร. ไม่สามารถออกคำสั่งได้ภายในเวลา 60 วัน จะต้องมีการขยายเวลาต่ออีก 30 วัน โดยเมื่อถึงขั้นนี้แล้วนายกฯ จะเป็นผู้ออกคำสั่งเอง รวมไปถึงลงโทษ ผบ.ตร. ที่ไม่สามารถออกคำสั่งได้ด้วย
ซึ่งในที่นี้ หากกระบวนการทางอาญาจบก่อน การสอบสวนวินัยสามารถเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน เพราะเมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าตัวผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดทางอาญาจริง ต้องโทษตั้งแต่จำคุกขึ้นไปก็จะถือว่าผู้ถูกกล่าวหา (ที่ถูกสอบวินัยอยู่) มีความผิด ‘ปรากฏชัดแจ้ง’ ผู้นั้นจะถูกลงโทษวินัยทันทีตามกฎ ก.ตร. โดยไม่ต้องตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงอีกต่อไป
ขาของ ‘วินัย’ และ ‘อาญา’ เดินหน้าไปด้วยกัน แต่ไม่อิงผลกัน
จากกรณีของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ที่ขณะนี้เป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีทางอาญาด้วยนั้น ตามมาตรา 122 ของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 ระบุไว้ว่า ‘ในการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าคดีมีมูลเหตุแห่งความผิดทางอาญา และได้มีการดำเนินคดีอาญาด้วย ไม่เป็นเหตุให้ต้องชะลอการดำเนินการทางวินัย แม้ว่าจะเป็นการดำเนินคดีอาญาในเรื่องเดียวกันหรือเกี่ยวเนื่องกันก็ตาม’
สรุปได้ว่า แม้จะถูกสอบในคดีอาญาอยู่ก็สามารถถูกสอบทางวินัยได้เช่นกัน แต่ผลของคดีอาญาและผลวินัยไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเสมอไป ซึ่งอาจเป็นได้ตามกรณีต่อไปนี้
‘คดีอาญาถือว่าไม่มีความผิด แต่ผลทางวินัยถูกตัดสินว่าผิด’ ผู้นั้นจะต้องรับโทษทางวินัย แต่หากมีการตัดสินโทษทางวินัยเสร็จสิ้นก่อนคดีทางอาญา ผู้บังคับบัญชาสามารถพิจารณาทบทวนการลงโทษทางวินัยใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับทางอาญาได้
ซึ่งนั่นหมายความว่า หากมีการลงโทษทางวินัยโดยสั่งปลดออก หรือไล่ออกแล้วศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดอาญาหรือจำเลยมิได้กระทำความผิด ผู้บังคับบัญชาสามารถพิจารณาทบทวนการดำเนินการทางวินัย
โดยนำคำพิพากษาดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย หากผลการพิจารณาสอดคล้องกับผลของศาลพิพากษา ให้แก้ไขคำสั่งให้ถูกต้อง และมีคำสั่งให้รับข้าราชการตำรวจผู้นั้นกลับเข้ารับราชการ แต่ถ้าผู้นั้นพ้นจากราชการไปก่อนแล้ว ให้เยียวยาชดเชยตามความเป็นธรรมแก่กรณี
และอีกหนึ่งทางที่อาจเกิดขึ้นได้แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะไม่มีความผิดทางอาญา เพราะถ้าตราบใดก็ตามที่ผู้บังคับบัญชาพิจารณาเห็นว่า การกลับเข้ามารับราชการตำรวจของผู้นั้นจะก่อให้เกิดความมัวหมองต่อหน่วยงานราชการ ก็สามารถไม่พิจารณาให้ผู้นั้นกลับมาเป็นตำรวจได้
ชะตาชีวิตตำรวจ ‘พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ’ จะเป็นไปทางใดได้บ้าง
THE STANDARD ได้ประเมินฉากทัศน์การถูกสอบวินัยร้ายแรงของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ไว้ 3 ทาง ดังนี้
- ทางที่ 1 คณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า ‘ผิดวินัยร้ายแรง’ จะมีคำสั่งให้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ถูกปลดออกจากราชการ แต่ยังได้รับสิทธิสวัสดิการในฐานะข้าราชการตำรวจ
อีกหนึ่งคำสั่งที่เกิดขึ้นได้ คือไล่ออกจากราชการ ซึ่งหากเป็นคำตอบนี้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ จะไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการใดๆ ทั้งสิ้น
- ทางที่ 2 คณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า ‘ไม่ผิดวินัยร้ายแรง แต่ประพฤติตนไม่เหมาะสม’ จะมีคำสั่งให้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กลับมาเป็นข้าราชการตำรวจ แต่อาจมีบทลงโทษหรือภาคทัณฑ์
- ทางที่ 3 คณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า ‘ไม่ผิดวินัยร้ายแรง’ จะมีคำสั่งให้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กลับมาเป็นข้าราชการตำรวจดังเดิม โดยให้ถือว่าคำสั่งออกจากราชการไว้ก่อนในก่อนหน้านี้ไม่เคยเกิดขึ้น และให้ได้รับสิทธิสวัสดิการตามสมควรทุกประการ
ในสังเวียนการสอบสวนวินัยร้ายแรงของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล เป็นไปได้อย่างมากว่าจะไม่สามารถจบลงได้ที่ระยะเวลา 240 วัน และอาจยืดยาวใช้เวลาถึง 1 ปีกับอีก 6 เดือน เพราะมีรายงานว่า พล.ต.อ. สุรเชษฐ์เองได้ดำเนินการคัดค้านตัวคณะกรรมการมากกว่าครึ่งหนึ่งของคณะ
เนื่องด้วยเหตุผลความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการเหล่านั้น กับคู่ขัดแย้งที่มีอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงทำให้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการถูกตัดสินโทษวินัยร้ายแรง