×

Judas and the Black Messiah นักปฏิวัติผู้กล้าหาญและคนทรยศผู้ถูกกดขี่

23.04.2021
  • LOADING...
Judas and the Black Messiah นักปฏิวัติผู้กล้าหาญและคนทรยศผู้ถูกกดขี่

* บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์เรื่อง Judas and the Black Messiah

 

Judas and the Black Messiah เป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ที่ถูกยกให้เป็นตัวเต็งในเวทีประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 93 โดยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลถึง 6 สาขา ได้แก่ นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (แดเนียล คาลูยา, ลาคีธ สแตนฟิลด์), เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม, ถ่ายภาพยอดเยี่ยม และรางวัลใหญ่ของงานอย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม 

 

โดยภาพยนตร์หยิบนำเหตุการณ์ลอบสังหารของ เฟรด แฮมป์ตัน นักขับเคลื่อนสิทธิพลเมืองผิวดำและรองประธาน Black Panther Party แห่งรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ที่เกิดขึ้นในปี 1969 มาบอกเล่าให้ผู้คนทั่วโลกได้ชมผ่านจอภาพยนตร์ โดยได้ ไรอัน คูกเลอร์ ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ฝีมือเยี่ยมผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Black Panther (2018) มารับตำแหน่งโปรดิวเซอร์ร่วมกับ ชาร์ลส ดี. คิง จากภาพยนตร์ Fences (2016) และได้ ชากา คิง มานั่งแท่นกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเป็นเรื่องแรก

 

Judas and the Black Messiah

เฟรด แฮมป์ตัน รองประธานพรรค Black Panther Party แห่งรัฐอิลลินอยส์

 

ก่อนที่จะว่ากันถึง Judas and the Black Messiah เราอยากชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ Black Panther Party กันสักหน่อย

 

Black Panther Party คือองค์กรทางการเมืองที่ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1966 โดย ฮิวอี้ พี. นิวตัน และ บ็อบบี ซีล หลังจากเหตุการณ์ลอบสังหาร มัลคอล์ม เอ็กซ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองที่เกิดขึ้นในปี 1965 โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อต้านการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีต่อชาวแอฟริกัน-อเมริกัน และตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในชุมชน ซึ่งมีบทบาทอย่างมากในช่วงปี 1966-1982 โดยในปี 1968 Black Panther Party เริ่มได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จนมีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกมากกว่า 2,000 คนจากทั่วประเทศ

 

นอกจากนี้ Black Panther Party ได้มีการจัดตั้งหน่วยลาดตระเวนติดอาวุธเพื่อต่อกรกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและ FBI จึงทำให้ Black Panther Party มักจะมีเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่บ่อยครั้ง ถึงขนาดที่ เจ.เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ผู้อำนวยการหน่วย FBI ในเวลานั้นได้ขนานนาม Black Panther Party ว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ 

 

Judas and the Black Messiah

 

ด้านเนื้อหาของ Judas and the Black Messiah เป็นการนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1969 ของ วิลเลียม โอนีล (ลาคีธ สแตนฟิลด์) ชายหนุ่มผิวสีที่ถูกตำรวจจับในข้อหาสวมรอยเป็นเจ้าหน้าที่ FBI และขโมยรถ 

 

โอนีลได้รับข้อเสนอจาก รอย มิตเชล (เจสซี พลีมอนส์) เจ้าหน้าที่ FBI ให้สวมรอยเข้าไปเป็นหนึ่งในสมาชิก Black Panther Party เพื่อเป็นสายให้กับ FBI ในการจับตาดู เฟรด แฮมป์ตัน (แดเนียล คาลูยา) รองประธาน Black Panther Party แห่งรัฐอิลลินอยส์ อีกทั้งโอนีลยังเป็นส่วนสำคัญในการวางแผนลอบสังหารเฟรดในวันที่ 4 ธันวาคม 1969 โดยในเวลานั้นเฟรดมีอายุเพียง 21 ปี และโอนีลมีอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น 

 

Judas and the Black Messiah

 

หากสังเกตจากตัวอย่าง ดูเหมือนว่าเนื้อหาของ Judas and the Black Messiah จะขับเน้นไปในประเด็นการต่อสู้เพื่อสิทธิคนผิวดำของเฟรด ผู้เก่งกาจในด้านชักจูงจิตใจผู้คนด้วยสุนทรพจน์อันทรงพลัง แต่ ชากา คิง กลับเลือกที่จะพาผู้ชมไปสำรวจชีวิตของเฟรดในหลายแง่มุม ทั้งด้านความรักที่เผยให้เราเห็นความอ่อนโยนของเขา และด้านการปฏิบัติต่อพวกพ้องอย่างให้เกียรติจนทำให้เขากลายเป็นผู้นำที่ทุกคนต่างเคารพนับถือ 

 

ไปจนถึงจุดยืนอันหนักแน่นของเฟรดที่พยายามต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติต่อคนผิวดำอย่างเท่าเทียม เช่น การผลักดันนโยบายแจกอาหารเช้าฟรีให้กับเด็กในชุมชน สร้างคลินิกในชุมชนเพื่อให้คนผิวดำได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง ผลักดันให้ทุกชุมชนได้รับการศึกษา ฯลฯ

 

ขณะเดียวกันภาพยนตร์ได้พาเราไปสำรวจจิตใจของโอนีลในระหว่างแทรกซึมเข้ามาอยู่ใน Black Panther Party โดยเฉพาะการเผชิญหน้ากับ ‘ความกลัว’ จากการถูกเจ้าหน้าที่ FBI กดดัน และจากฝั่ง Black Panther Party ที่ต้องพยายามปกปิดตัวตนไม่ให้ใครรู้

 

ซึ่งสองนักแสดงนำอย่าง แดเนียล คาลูยา และลาคีธ สแตนฟิลด์ ต่างสวมบทบาทเป็นเฟรดและโอนีลได้อย่างถึงแก่น โดยเฉพาะฉากที่เฟรดขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าผู้คน นับว่าเป็นฉากที่ทรงพลังที่สุดฉากหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้

 

และจุดเด่นที่เราชื่นชอบมากๆ คือดนตรีประกอบจากปลายปากกาของสองคอมโพสเซอร์มากฝีมืออย่าง เคร็ก แฮร์ริส และมาร์ก ไอแชม ผู้รับหน้าที่กำกับความรู้สึกของผู้ชมในแต่ละฉากผ่านเสียงดนตรีสุดระทึก อีกทั้งยังช่วยขับเน้นความรู้สึกกดดันและหวาดกลัวของโอนีลให้ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

Judas and the Black Messiah

 

และอย่างที่ใครหลายคนทราบกันดีว่า Judas and the Black Messiah คืออีกหนึ่งภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ที่กำลังทำหน้าที่ฉายภาพความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อคนผิวดำอย่างไม่เป็นธรรม และพยายามกีดกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของผู้ที่เห็นต่าง 

 

แต่ขณะเดียวกันผู้กำกับอย่างชากา คิง ยังชวนผู้ชมมาร่วมกันหาทางออกจากวงจรแห่งความเกลียดชังนี้ ผ่านหนึ่งฉากเล็กๆ ที่อาจจะเป็นทางออกที่ประนีประนอมที่สุด

 

คือฉากที่เฟรดเดินทางไปเยือนสำนักงานของกลุ่มคูคลักซ์แคลน (Ku Klux Klan) กลุ่มชาตินิยมผิวขาวหัวรุนแรงที่เกลียดชังคนผิวดำ ซึ่งแม้ว่าเฟรดและพรรคพวกจะถูกกลุ่มคูคลักซ์แคลนด่าทอและขับไล่ขนาดไหน แต่เฟรดกลับเลือกที่จะไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรง และเริ่มพูดคุยเพื่อชวนเหล่าคนผิวขาวตั้งคำถามถึงการทำงานของภาครัฐ 

 

สิ่งที่ชากา คิง พยายามจะนำเสนอคือการจำลองภาพให้ ‘กลุ่มคนที่เห็นต่าง’ ลองหันหน้าเข้าหากันเพื่อ ‘พูดคุย’ และร่วมกันค้นหาว่า ‘ปัญหา’ ที่แท้จริงมันอยู่ตรงไหน และเราควรจะ ‘แก้ไข’ มันอย่างไร 

 

แม้ว่าทางออกที่ชากา คิง กำลังนำเสนอผ่านฉากเล็กๆ ฉากนี้จะเป็นประเด็นที่เราต่างทราบดีว่ามันเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ แต่ในท้ายที่สุดเราเชื่อมั่นว่ามันคือทางออกที่ประนีประนอมมากที่สุดในการหยุดยั้งวงจรแห่งความเกลียดชังในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน 

 

เพราะบางทีบ่อเกิดแห่งความเกลียดชังเหล่านี้อาจมาจาก ‘ระบอบ’ บางอย่างที่กำลังเอื้อหนุนให้ความเกลียดชังยังคงขับเคลื่อนต่อไป และ ‘เสียงของประชาชน’ จึงเป็นกุญแจสำคัญในการหยุดยั้งให้ ‘ระบอบ’ เหล่านี้สิ้นสุดลง เช่นเดียวกับประโยคหนึ่งที่เฟรดได้กล่าวเอาไว้ใน Judas and the Black Messiah ว่า

 

“ที่ไหนมีประชาชน ที่นั่นมีอำนาจ”

 

Judas and the Black Messiah เข้าฉายอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ ในโรงภาพยนตร์ 

 

รับชมตัวอย่างได้ที่นี่

 

 

 

ภาพ:

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising