กกร. คงประมาณการ GDP ปี 2566 ยังเติบโต 3-3.5% แม้ส่งออกยังติดลบ 1-0% ครึ่งปีหลังมีลุ้นกลับมาขยายตัวจากตลาดจีน-สหรัฐฯ ฟื้น ขณะที่ในประเทศ ผู้ประกอบการแบกรับภาระต้นทุนสูง ห่วงต้นทุนค่าไฟและภัยแล้งทุบราคาสินค้าจ่อขยับขึ้นยกแผง โดยเฉพาะราคาอาหารพุ่ง 5.10% พร้อมขอรัฐบาลใหม่รับโจทย์เร่งแก้ 6 ข้อ
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวมีโอกาสแตะระดับ 30 ล้านคนในปี 2566 ซึ่งสูงกว่าประมาณการเดิม โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มมากขึ้น และเป็นปัจจัยสนับสนุนทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโตได้มากกว่าครึ่งปีแรก
ดังนั้น กกร. จึงประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 (พฤษภาคม 2566) ไว้ในกรอบเดิม คือเติบโต 3-3.5% ส่วนภาวะการส่งออก ติดลบ 1-0% และเงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 2.7-3.2%
ทั้งนี้ จากการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจประเทศหลักอย่างจีนและสหรัฐฯ ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา GDP เริ่มทยอยฟื้นตัวจากภาคบริการที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ขณะที่ภาคการผลิตซึ่งชะลอตลอดไตรมาสที่ 1 เริ่มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ที่แม้ยังต้องเผชิญกับปัญหาของสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจมากนัก
และได้รับสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิตในตลาดหลัก มีผลต่อภาคการส่งออกไทย จากการฟื้นตัวโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร จึงคาดว่าการส่งออกไทยจะหดตัวในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2566) ก่อน จากนั้นจึงจะกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง
ขณะเดียวกัน ภาวะต้นทุนการผลิตทั่วโลกอยู่ในระดับสูงและอาจปรับตัวลง ทำให้ราคาในตลาดโลกของสินค้าโภคภัณฑ์ในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจหลักยังทรงตัวในระดับสูง และมีแนวโน้มลดลงช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม
เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ผู้ประกอบการมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นราคาสินค้า เพื่อผ่อนภาระต้นทุนต่อไปในระยะข้างหน้า อาจมีผลกระทบต่อราคาสินค้าและต้นทุนที่มีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยกดดันภาคธุรกิจและครัวเรือน รวมถึงต้องจับตาความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้ง ซ้ำเติมราคาอาหารภายในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูงด้วย
“รัฐบาลควรเร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำภาคตะวันออกให้แล้วเสร็จตามแผน เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำเติมโรงงาน และผลกระทบจากดีเซลราคาแพงจนทำให้ต้องปรับราคาสินค้า ต่อมาก็เป็นเรื่องของค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และแม้ค่าไฟงวดพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 จะอยู่ในอัตราเฉลี่ย 4.70 บาทต่อหน่วย ยังถือว่าอยู่ในอัตราสูง ทำให้ภาพรวมเฉลี่ยราคาสินค้าจะปรับราว 5-10% โดยขณะนี้เป็นการทยอยปรับและจะมีต่อเนื่องหลังกลางปีนี้ เพราะบางส่วนยังแบกรับภาระต้นทุนเอาไว้” เกรียงไกรกล่าว
ตั้งโจทย์ 6 ข้อให้รัฐบาลใหม่เร่งมือแก้
ด้าน สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จะมีการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ หลายพรรคการเมืองอยู่ระหว่างการหาเสียง ซึ่ง กกร. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการดำเนินนโยบายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงได้จัดทำข้อเสนอต่อพรรคการเมือง เพื่อให้ทราบถึงความต้องการของภาคเอกชน โดยมี 6 ประเด็นหลัก ดังนี้
- ด้าน Competitiveness เช่น การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน
- ด้าน Ease of Doing Business เช่น ปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเร่งปรับปรุงกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตภาครัฐ
- ด้าน Digital Transformation เช่น ส่งเสริมการเป็น Technology Hub ของประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะมีโอกาสสูงที่จะดึงเอาเม็ดเงินและทุนระดับโลกเข้าสู่ประเทศไทย
- ด้าน Human Development เช่น การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ มีการสนับสนุนระบบการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐานสากล และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทยและต่างด้าว
- ด้าน SME เช่น สนับสนุนให้มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว และเร่งการปรับโครงสร้างหนี้ และจัดตั้งกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการ SME เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
- ด้าน Sustainability เช่น ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG และการจัดทำแผนรองรับปัญหาการขาดแคลนอาหาร (Food Security) แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ยกระดับมาตรการทั้งก่อน ขณะ และหลังเป็นหนี้ เน้นการมีวินัยด้านเครดิต และการเสริมความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy)
บทความที่เกี่ยวข้อง
- กูรูแนะกลยุทธ์นักลงทุนในปี 2023 ศึกษาตลาด อย่าหวั่นไหว และรู้ข้อจำกัดตนเอง
- สินทรัพย์ไหนรุ่ง/ร่วง? เปิด 5 คำทำนายจากผู้จัดการกองทุนต่างๆ สำหรับปี 2023
- โปรดระวังดอลลาร์ ‘กลับทิศ’ กระทบเศรษฐกิจโลก