×

กกร. เตรียมยื่นหนังสือวอนรัฐทบทวนเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์เก่าและรถจักรยานยนต์ให้สะท้อนความเสี่ยงตลาด หวั่นคนเข้าถึงสินเชื่อยาก-แห่กู้นอกระบบ

08.12.2021
  • LOADING...
กกร.

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. จะยื่นหนังสือถึงรองนายกรัฐมนตรี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อขอให้ทบทวนร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเกี่ยวกับเรื่องเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ฉบับล่าสุด ซึ่งได้กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยรถยนต์ใช้แล้วและรถจักรยานยนต์เอาไว้ที่ 20% 

 

“เรามองว่าการกำหนดดอกเบี้ยรถยนต์มือสองและรถจักรยานยนต์เอาไว้ที่ 20% ไม่สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริง หากมีการไปจำกัดเพดานดอกเบี้ยเอาไว้ที่ระดับดังกล่าวจะส่งผลกระทบวงกว้างเป็นลูกโซ่ต่ออุตสาหกรรมต้นน้ำ ภาคบริการ ตลอดจนการจ้างงาน เพราะเมื่อดอกเบี้ยไม่สะท้อนความเสี่ยง คนจะเข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น คนที่ต้องการใช้รถจักรยานยนต์ในการทำงานจะได้รับผลกระทบ ขณะที่ยอดขายจากโรงงานก็จะลดลงตามไปด้วย เราจึงอยากขอเสนอให้ สคบ. ทบทวนอัตราดอกเบี้ยใหม่ให้เป็นไปตามข้อเสนอของ กกร.” ประธาน กกร. กล่าว

 

สนั่นกล่าวว่า เพดานดอกเบี้ยที่ กกร. มองว่าเหมาะสมและสะท้อนความเสี่ยงในตลาดอย่างแท้จริงคือ 24% สำหรับรถยนต์ใช้แล้ว และ 36% สำหรับรถจักรยานยนต์ เนื่องจากปัจจุบันอัตราการสูญเสียหรือ Loss Ratio สำหรับรถจักรยานยนต์อยู่ในระดับสูงถึง 37% 

 

“กกร. ไม่ได้คัดค้านการปรับลดดอกเบี้ย เรามองว่าการมีกรอบเพดานที่ชัดเจนเป็นเรื่องดี เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยมีกรอบตรงนี้ ทำให้การคิดดอกเบี้ยไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน แต่กรอบที่จะกำหนดออกมาควรสะท้อนความเสี่ยงในตลาดด้วย ถ้าดอกเบี้ยต่ำเกินไปและไม่คุ้มเสี่ยง แทนที่ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์กลับจะกลายเป็นเสียประโยชน์ จะเข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น หรือต้องไปกู้ยืมนอกระบบแทน” สนั่นระบุ

 

ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร. ยังประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ว่ามีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น แม้จะมีการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน เนื่องจากปัจจุบันไทยมีอัตราการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในระดับสูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการด้านสาธารณสุข และการเข้า-ออกประเทศที่มีความเข้มงวด 

 

อย่างไรก็ตาม ทุกภาคส่วนยังควรปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดในระลอกใหม่ซ้ำเติม เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นได้ชัดจากบทเรียนของการล็อกดาวน์ว่ามีต้นทุนต่อเศรษฐกิจและสังคมสูงมาก ทั้งผลกระทบโดยตรงจากการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และทางอ้อมจากการบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนและผู้ประกอบการ

 

สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2565 กกร. มองว่าภาครัฐจำเป็นต้องมีนโยบายสำหรับทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นที่การฟื้นตัวล่าช้าออกไป ภาคธุรกิจยังคงฟื้นตัวไม่พร้อมเพรียงกัน (K-Shaped Recovery) มาตรการพยุงเศรษฐกิจและกำลังซื้อของครัวเรือน รวมถึงการผ่อนคลายนโยบายการเงินที่มีความต่อเนื่องยังคงมีความจำเป็น 

 

นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวควรแก้ไขโดยเร่งขึ้นทะเบียนและจัดสรรวัคซีนให้ เพราะในขณะนี้ประเทศไทยเริ่มมีปริมาณวัคซีนที่เพียงพอมากขึ้น โดยในระหว่างนี้ต้องช่วยกันรณรงค์ให้คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนรีบมาฉีดวัคซีน เพราะอัตราผู้เสียชีวิตจากโควิดส่วนใหญ่มาจากคนที่ไม่ได้รับวัคซีน

 

โดยที่ประชุม กกร. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3-4.5% สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่ปีหน้าน่าจะเติบโตที่ 4-5% ขณะที่ประมาณการการส่งออกในปี 2565 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 3-5% ซึ่งมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกจะขยายตัวต่อจากปีนี้ 

 

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 1.2-2% ซึ่งมาจากแนวโน้มของสินค้า Commodities มีแนวโน้มราคาสูงขึ้น และปีหน้าสิ่งที่ต้องจับตามองอีกเรื่องคือปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เรื่อง Geopolitics ของหลายประเทศ

 

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2564 ปัจจุบันยังมีแนวโน้มฟื้นตัวสอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ กกร. คงคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2564 เอาไว้ที่ 0.5-1.5% ขณะที่ประมาณการการส่งออกในปี 2564 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 13.0-15.0% อันเนื่องมาจากดีมานด์เพิ่มสูงต่อเนื่อง โดยมีประเด็นที่จะต้องเร่งแก้ปัญหาคือการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 1-1.2%  

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X