×

กกร. ห่วงภัยแล้ง-เอลนีโญดันเงินเฟ้อทะยานต่อ กังวลเศรษฐกิจจีน-โลกฟื้นตัวต่ำกว่าคาด กระทบส่งออกไทย

07.06.2023
  • LOADING...

การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ห่วงเศรษฐกิจไทยอาจได้รับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มเติมจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรและราคาสินค้าในระยะข้างหน้า รวมถึงหากมีการปรับขึ้นค่าแรงในอนาคต กังวลภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจโลกและจีน

 

วันนี้ (7 มิถุนายน) ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมี เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ ภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เป็นประธานร่วมในการแถลงข่าว ระบุว่า เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังอาจฟื้นตัวได้น้อยกว่าที่คาดไว้เดิม เศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2566 แผ่วลง เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจจีนไม่ได้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังการเปิดประเทศอย่างที่คาดการณ์ไว้ โดยการฟื้นตัวในภาคบริการมีสัญญาณแผ่วลง ขณะที่ภาคการผลิตยังไม่ฟื้นตัว

 

ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป เผชิญแรงกดดันจากภาวะอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง การฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ล่าช้ากว่าที่คาด ทำให้เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังยังอยู่ในภาวะชะลอตัวจนกว่าประเทศใหญ่ อย่างเช่น ประเทศจีน จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา

 

กกร. คงกรอบประมาณการ GDP มั่นใจเศรษฐกิจมีโมเมนตัมจากภาคท่องเที่ยว

 

ผยงกล่าวอีกว่า กกร. มีมติคงกรอบประมาณการ GDP ไว้ที่ 3.0-3.5% ในการประชุมเดือนมิถุนายน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว หลังจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4 เดือนแรกเข้ามาสูงกว่า 8 ล้านคน และทั้งปีมีศักยภาพที่จะมากถึง 30 ล้านคน ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการจ้างงาน 

 

นอกจากนี้รายได้ในภาคเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมยังขยายตัว ทำให้ในภาพรวมผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นและมีการใช้จ่ายบริโภคเพิ่มมากขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กกร. มีความกังวล เรื่อง การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยซึ่งติดลบติดต่อกัน 7 เดือน ทำให้คำสั่งซื้อลดลง แต่ภาคอุตสาหกรรมยังคงต้องมีการรักษาการผลิต เพื่อพยุงการจ้างแรงงานให้ไม่ได้รับผลกระทบ หากการส่งออกยังไม่มีการฟื้นตัว อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะ 19 กลุ่มอุตสาหกรรม จาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกล และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

 

กกร. มองเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยท้าทายจากปัญหาภัยแล้งและนโยบายค่าแรง

 

ผยงกล่าวอีกว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดปรับขึ้นอีก 0.25% เป็น 2% และมีแนวโน้มว่าจะยังปรับขึ้นต่อไปด้วยเหตุว่า เงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับสูง สอดคล้องกับความเห็นของ กกร. ที่มองว่า เศรษฐกิจไทยยังอาจได้รับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มเติมจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตเกษตรและราคาสินค้าในระยะข้างหน้า รวมถึงหากมีการปรับขึ้นค่าแรงในอนาคต 

 

สำหรับในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ประชุม กกร. มองว่า เป็นเรื่องที่มีผลกระทบในระดับสูงในภาวะที่ทั่วโลกเผชิญกับปัญหาเอลนีโญในปีนี้ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ 36,000 ล้านบาท

 

โดย กกร. ได้มีการทำหนังสือส่งถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 เสนอให้เร่งจัดทำมาตรการรับมือภัยแล้งทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว นอกจากนี้ที่ประชุมมองว่า ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสของประเทศ ภาครัฐควรบูรณาการแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว 

 

ที่ประชุม กกร. มีความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในหมวดอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัดส่วนค่าครองชีพของผู้บริโภคที่สูงขึ้นกว่าในอดีต และอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากปัญหาภัยแล้ง

 

นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อยังมีปัจจัยกดดันที่อาจอยู่สูงต่อเนื่องจากการส่งผ่านราคาของผู้ประกอบการจากภาระต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง และมีปัจจัยที่อาจกระทบต่อเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ได้แก่ แนวโน้มค่าแรงขั้นต่ำที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน อาจทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถึง 0.82% ถ้าไม่มีการเพิ่มทักษะแรงงานและผลิตภาพแรงงานให้เหมาะสมไปพร้อมกับการปรับเปลี่ยน

 

และยังมีปัจจัยด้านราคาน้ำมันดีเซลที่อาจเพิ่มสูงขึ้น หากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท สิ้นสุดลงในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นต้นทุนค่าขนส่งของผู้ประกอบการ ปัจจัยเหล่านี้จะกดดันต้นทุนของทั้งผู้ประกอบการและครัวเรือน

 

นอกจากนี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจซ้ำเติมต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ดังนั้นมองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. จะต้องรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง เพื่อช่วยพยุงให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

 

แนะรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่น-ดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ

 

เนื่องจากที่ประชุม กกร. ยังคงมองว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในขณะนี้ การดูแลนักท่องเที่ยวให้มีความสะดวกและปลอดภัย จะเป็นแรงจูงใจดึงดูดให้ต่างชาติเลือกเดินทางเข้ามาในประเทศมากขึ้น

 

ดังนั้นภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแก้ไขปัญหาคอขวด โดยเพิ่มจำนวนเครื่องบินให้กับสายการบินของไทย นอกจากนี้ยังต้องแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำตามพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยเฉพาะตามเกาะต่างๆ ด้วย

 

นอกจากนี้ประเทศไทยมีโอกาสในการดึงดูดนักธุรกิจจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนและทำงานเป็น Hub มากขึ้น จากอานิสงส์ของความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิต เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นเป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลก 

 

ดังนั้นภาครัฐควรมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุน โดยเฉพาะการปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบ เพื่อยกระดับความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business) อาทิ การปรับปรุงปฏิรูปการขอวีซ่าให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising