×

กกร. หั่นประมาณการส่งออกไทยปีนี้เหลือติดลบ-ไม่โต แต่มองไทยอาจรอด Technical Recession ได้ เหตุท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง

01.03.2023
  • LOADING...

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) หั่นประมาณการส่งออกไทยปีนี้เหลือติดลบ 1.0-0.0% แต่ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะรอดพ้น Technical Recession ได้ แม้ว่า GDP ไตรมาส 4 ปี 2565 หดตัวแบบไตรมาสต่อไตรมาส เหตุท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง

 

วันนี้ (1 มีนาคม) เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนมีนาคม 2566 กล่าวว่า การส่งออกของไทยมีแนวโน้มหดตัวต่ออีกระยะหนึ่ง เนื่องมาจากกิจกรรมภาคการผลิตของโลกที่ยังอยู่ในภาวะหดตัว ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ที่ทำให้ธุรกิจทั่วโลกเลี่ยงการสต๊อกสินค้าคงคลัง รวมถึงการปรับสมดุลระดับสินค้าคงคลัง หลังจากความต้องการสินค้าที่ได้อานิสงส์จากโควิด โดยเฉพาะสินค้าเกี่ยวกับการ Work from Home เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลดลง นอกจากนี้ มูลค่าสินค้าส่งออกยังมีแนวโน้มลดลงตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ด้วย


บทความที่เกี่ยวข้อง


ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย มีมติปรับลดประมาณการมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยทั้งปี 2566 ลงเหลือติดลบ 1.0-0.0% เทียบกับประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.0-2.0%

 

โดยกลุ่มสินค้าที่เป็นปัจจัยฉุดส่งออกไทยในปีนี้ เกรียงไกรระบุว่า เป็นกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ไปจนถึงกลุ่มสินค้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สวนทางกับกลุ่มสินค้าอาหารและการเกษตรที่น่าจะเป็นกลุ่มสินค้าไม่กี่กลุ่มที่ยังคงโตได้ในปีนี้ ท่ามกลางสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ

 

กกร. มองไทยรอด Technical Recession

 

อย่างไรก็ตาม กกร. ไม่คาดว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะ Technical Recession แม้ว่า GDP ไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2022 จะหดตัว 1.5% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจในไตรมาสแรกให้ฟื้นตัวได้ และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีจะเพิ่มสูงถึงราว 25-30 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าประมาณการเดิมที่ราว 22 ล้านคน ที่ประชุม กกร. จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.0-3.5% ตามกรอบเดิมที่เคยประเมินไว้ สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7-3.2%  

 

นอกจากนี้ กกร. ยังมองว่า เศรษฐกิจโลกมีโอกาสเกิดภาวะถดถอยลดลง เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศหลักในเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการที่ปรับตัวดีขึ้น เช่น การเดินทาง ท่องเที่ยว และการก่อสร้าง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังเติบโตได้จากภาคบริการเป็นหลัก

 

อย่างไรก็ตาม ในฝั่งภาคการผลิตยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ ส่งผลให้ตลาดกังวลต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ไปอีกระยะหนึ่ง

 

วอนดูแลเสถียรภาพ ‘เงินบาท’ หลังผันผวนหนัก

 

ที่ประชุมยังย้ำว่า ประเด็นเรื่องค่าแรง ความผันผวนของค่าเงินบาท และต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ยังเป็นปัจจัยท้าทาย ซึ่งส่งผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจ ภาคเอกชนจึงอยากให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้ร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นการแก้ไขปัญหา รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถปรับตัวรับความเสี่ยงผลจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับสูงขึ้น

 

นอกจากนี้ ที่ประชุม กกร. มีความคิดเห็นว่า เนื่องจากภาคการส่งออกจะมีแนวโน้มชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ดังนั้นเศรษฐกิจไทยควรให้ความสำคัญในการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เร่งการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล รวมทั้งอาศัยโอกาสจากภาคการท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวต่อเนื่องในช่วงนี้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จะกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้ในกรอบประมาณการเศรษฐกิจเดิม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X