×

กกร. คงเป้า GDP ไทยติดลบ 7-9% จับตาสถานการณ์ม็อบในไทย

09.09.2020
  • LOADING...

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า แม้ว่าเดือนกันยายน 2563 เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ยังอ่อนแอจากหลายด้าน ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุน โดยเฉพาะความกังวลเรื่องตลาดแรงงาน เพราะ ณ สิ้นไตรมาส 2/63 มีผู้ว่างงานในระบบประกันสังคม 7 แสนคน ขณะที่มีผู้มีงานประจำแต่ปัจจุบันไม่ได้ทำงานอีก 2.5 ล้านคน ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้น 2 ล้านคนเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 

 

ดังนั้นมองว่าช่วงที่เหลือของปี 2563 เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง เพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกสองในหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญ เช่น กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ขณะเดียวกันแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนจะมีทิศทางฟื้นตัว แต่ยังต้องติดตามการควบคุมการระบาดอย่างต่อเนื่อง 

 

ขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทยมองว่าการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีอุปสรรคมาก และอุปสงค์ในประเทศโดยรวมยังคงเปราะบางสูงจากความไม่แน่นอน ดังนั้นที่ประชุม กกร. มองว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 และยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 ดังนี้ (หลังไตรมาส 3 จะมีการปรับประมาณการอีกครั้ง)

 

  • เศรษฐกิจไทยอาจหดตัว 7-9% 
  • การส่งออกจะหดตัว 10-12% 
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ -1% ถึง -1.5%  

กลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าในที่ประชุม กกร. มองว่าภาครัฐควรเร่งการเจรจา FTA อย่าง CPTPP เนื่องจากมีหลายกรอบที่ต้องเร่งเจรจาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ 

 

ขณะเดียวกันในประเด็นการปฏิรูปกฎหมาย กกร. ให้ความสำคัญในการปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดขั้นตอนการทำงานของภาครัฐ เพื่อให้เกิดการอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น โดยนำผลการศึกษาของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นำไปปฏิบัติในการปรับปรุงกฎหมายให้เกิดขึ้นได้จริง

 

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กกร. มองว่าประเด็นการค้ำประกันเงินกู้ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ช่วยเหลือ SMEs จะมีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง โดยจะศึกษาร่วมกันในการให้ บสย. เข้ามาค้ำประกันเงินกู้เพิ่มเติม โดยเพิ่ม Max Claim จาก 30% ให้มากขึ้น โดยมองว่าหากขยับไปสู่ระดับ 50% จะจูงใจธนาคารพาณิชย์มากขึ้น เพราะต่างประเทศยังให้ Max Claim สูงกว่านี้ 

 

ทั้งนี้หากมองอัตราหนี้เสีย (NPL) ที่เกิดจากกลไกการค้ำประกันของ บสย. จะอยู่ที่ 5-6% และมองว่าในสถานการณ์วิกฤตนี้ NPL อาจจะเพิ่มขึ้น และหากเพิ่มขึ้นไปถึง 10% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ 

 

ขณะที่การชุมนุมที่เกิดขึ้นในระยะนี้ กกร. อยากให้ภาครัฐรับฟังข้อเสนอต่างๆ ซึ่งการรับฟังและนำข้อเสนอมาปรับเข้าหากันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในระยะยาวเป็นเรื่องที่ดี โดยมองว่าสถานการณ์การชุมนุมในปัจจุบันยังไม่น่าเป็นกังวลมาก เพราะไม่มีเหตุการณ์รุนแรง แต่หากสถานการณ์ลากยาวไปเรื่อยๆ อาจกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนบ้าง 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X