×

สัญญาณเริ่มบวก! กกร. ปรับเพิ่ม GDP ปีนี้เป็น -0.5 ถึง 1% หลังส่งออกโตแรง คลายล็อกดาวน์เร็ว แนะรัฐตั้งเป้าท้าทายดันเศรษฐกิจปีหน้าโต 6-8%

01.09.2021
  • LOADING...
กกร.

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ดีขึ้นมาอยู่ในกรอบ -0.5 ถึง 1.0% จากเดิมที่คาดว่าจะ -1.5 ถึง 0.0% ตามการส่งออกที่เติบโตได้ดีต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดี และการแพร่ระบาดของโควิดยังไม่ส่งผลกระทบต่อโรงงานที่ผลิตเพื่อส่งออก 

 

โดยคาดว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้ 12.0 ถึง 14.0% ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐให้การสนับสนุนภาคธุรกิจให้มีวัคซีนสำหรับแรงงานได้ทั่วถึง และช่วยเหลือค่าใช้จ่ายการทำ Rapid Test ต่างๆ เพื่อให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงที 

 

“การปรับ GDP มีการถกเถียงกันมากในที่ประชุม แต่ปัจจัยสำคัญที่ กกร. เราปรับครั้งนี้ เพราะมองว่าส่งออกยังดี ถ้าการระบาดไม่ทำให้การผลิตในโรงงานสะดุด และแรงงานยังได้รับวัคซีนทั่วถึง นอกจากนี้ การล็อกดาวน์ก็ไม่ได้ยาวนานอย่างที่คิดไว้ ตอนนี้เริ่มเห็นการคลายล็อกดาวน์แล้ว ที่สำคัญภาครัฐได้จัดหาวัคซีนมากขึ้น ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาแผนการจัดหาวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรมากขึ้นยังนับเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย และแนวโน้มการติดเชื้อเริ่มผ่อนคลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น จึงมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ และเราขอให้ครั้งที่ผ่านมาเป็นรอบสุดท้ายของการประกาศล็อกดาวน์” ประธาน กกร. กล่าว

 

ผยงกล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิดในประเทศที่เริ่มดีขึ้น และแผนการจัดหาวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี โดยมองว่าการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคบางส่วนในเดือนกันยายนนี้ และการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ใกล้เคียงปกติ น่าจะช่วยให้ปัญหาหนี้เสีย ( NPL) ในระบบสถาบันการเงินยังอยู่ในระดับที่ควรคุมได้ แต่การลดลงของ NPL น่าจะใช้เวลาในระยะประมาณ 2 ปี ซึ่งเรื่องนี้ ธปท. กับสมาคมฯ มีการหารือกันต่อเนื่อง คาดว่าจะออกมาตรการต่างๆ เพิ่มได้ในเร็วๆ นี้ 

 

อย่างไรก็ดี แนวโน้มของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปียังขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 

 

  1. Supply Chain ของภาคการผลิตใน Bubble & Seal ต้องไม่หยุดชะงักจากการระบาดในกลุ่มแรงงาน  

 

  1. หากควบคุมการแพร่ระบาดดีขึ้นมาก ภาครัฐจะสามารถเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ทันไฮซีซันในช่วงไตรมาส 4 หรือปลายปีนี้ จะช่วยสร้างบรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศให้คึกคักขึ้น อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดกลับมาแย่ลง เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ Recession

 

สำหรับเศรษฐกิจโลกมองว่ายังขยายตัวต่อเนื่องท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด บางประเทศมีการกลับมาบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์บ้าง แต่โดยส่วนใหญ่สามารถอยู่กับโควิดได้ กิจกรรมการผลิตฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ขยายตัวในระดับสูง เป็นปัจจัยบวกต่อภาคการส่งออกของไทย 

 

แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิดใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ค่าระวางเรือที่ยังสูงต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ 2. การขาดแคลนชิปที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของหลายสินค้าอุตสาหกรรม และ 3. เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มการปรับทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และการเมืองระหว่างประเทศ

 

ผยงระบุอีกว่า แผนการจัดหาวัคซีนและการฉีดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นของรัฐบาลในเวลานี้ จะสามารถผลักดันให้ประเทศไทยตั้งเป้าหมายการฟื้นตัวเศรษฐกิจในปี 2565 ที่ท้าทายขึ้น โดยเบื้องต้นหน่วยงานภาครัฐประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะสามารถเติบโตได้ในช่วง 3-5% ซึ่ง กกร. มองว่าการเติบโตในระดับนี้ต่ำเกินไป และทำให้ระดับกิจกรรมเศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิดในปี 2562 ส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากยังบอบช้ำ 

 

“เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจฟื้นตัวกลับมายืนได้โดยเร็ว ภาครัฐควรกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ท้าทายขึ้นเป็น 6-8% ซึ่งเป็นไปได้ในภาวะที่คนไทยกว่า 50% ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว โดยภาครัฐจำเป็นต้องใช้กระสุนทางการคลังจากการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP จาก 60% เป็น 70-80% เพื่อจะทำให้มีเงินเข้ามาเพิ่มเติมอีกราว 0.7-1.5 ล้านล้านบาท โดยเน้นใช้สนับสนุนการจ้างงาน และใช้ในมาตรการที่มีผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ (Multiplier) อย่างมาตรการที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย (Co-payment) หรือมาตรการค้ำประกันสินเชื่อที่สูงขึ้น และเทียบเคียงกับประเทศอื่น เป็นต้น” ผยงกล่าว

 

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสจะเติบโตที่ระดับ 6% ได้ในปีหน้า หากฉีดวัคซีนได้ครบตามแผนที่รัฐบาลกำหนดไว้ และจะทำให้เรายังจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้ในไตรมาส 4 ปีนี้ ส่วนการเปิดประเทศใน 120 ตามนโยบายภาครัฐนั้น ส่วนตัวมองว่าน่าจะหวังได้ หากสามารถจัดหาและดำเนินการฉีดวัคซีนได้ตามแผน คาดว่ารัฐบาลน่าจะนำเข้าวัคซีนได้มากขึ้น ทำให้โอกาสจะกลับมาล็อกดาวน์อีกจะน้อยลง 

 

ขณะที่ สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากพูดถึงแนวทางการการเปิดประเทศเพื่อให้ได้ผลดีต่อเศรษฐกิจมากที่สุดนั้น มองว่าก็น่าจะเปิดตามโมเดล Phuket Sandbox เพื่อให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการได้ มีการจ้างงานต่อ แต่การเปิดก็ควรจัดให้มีการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อรู้ข้อมูลที่ชุดเจนของคนที่เข้ามา และให้ง่ายต่อการควบคุมการแพร่ระบาด

 

โดยการประชุมครั้งนี้ กกร. มีข้อเสนอต่อภาครัฐ ดังนี้  

 

  1. รัฐบาลต้องดำเนินการให้การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสื่อสารให้ชัดเจน ไม่ให้สับสน และโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เห็นด้วยกับการคลายล็อกดาวน์ของรัฐบาล และไม่ควรมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกต่อไป เพราะมีผลกระทบกับเศรษฐกิจค่อนข้างมาก 

 

แต่ควรใช้มาตรการ Bubble & Seal ร่วมกับการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit เชิงรุก โดยใช้ศักยภาพของภาคเอกชนอย่างเต็มที่ในทางที่เสริมและไม่แย่งกัน เพื่อให้การป้องกันโควิดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

  1. รัฐบาลควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมาตรการระยะสั้น เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ เช่น โครงการคนละครึ่ง 3,000-6,000 บาท เพราะเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ, ช้อปดีมีคืน (ลดหย่อนภาษี) และกระตุ้นการท่องเที่ยว 

 

ส่วนมาตรการระยะยาวมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างและรักษาฐานการผลิต รับมือสงครามทางการค้า (Trade War) ผลักดันอุตสาหกรรมใหม่ๆ (New S-Curve) โดยการลงทุนภาครัฐควรทำต่อเนื่อง ทั้งการลงทุนโดยรัฐเอง และการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐ (PPP) พร้อมสร้างบรรยากาศการลงทุน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปอย่างเต็มศักยภาพ 

 

นอกจากนี้ รัฐควรเพิ่มงบประมาณสำหรับการช่วยผู้ประกอบการ SMEs ผ่านการเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งในต่างประเทศมีสัดส่วนการค้ำประกันที่ทางการสนับสนุนสูงถึง 80-100% ของยอดสินเชื่อ ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนการค้ำประกันเพียง 40%

 

  1. ขอให้ภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายชุดตรวจ Antigen Test Kit ในการตรวจหาเชื้อในภาคอุตสาหกรรม โดยให้ความช่วยเหลือในเรื่องของชุดตรวจและค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงช่วยเหลือในเรื่องของมาตรการการจ่ายภาษี เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ

 

  1. กกร. ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือในส่วนปัญหาค่าระวางเรือที่มีราคาสูง โดยภาคเอกชนต้องการให้มีมาตรการลดค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม โดย กกร. มองว่าปัญหาห่วงโซ่อุปทานติดขัดในหลายอุตสาหกรรม ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบและค่าขนส่งปรับตัวสูงขึ้น หนึ่งในหัวใจสำคัญที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากปัญหานี้ คือ เซมิคอนดักเตอร์ชิป (Semiconductor Chips) ที่ไม่สามารถผลิตได้ทัน จนเกิดปัญหาการขาดแคลนในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งขอให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X