กกร. คงคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้ที่ 3-3.5% เชื่อท่องเที่ยวฟื้นแรงพอ แม้ส่งออกมีแนวโน้มติดลบถึง 2% ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หวังการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีราบรื่น ได้ ครม. ตามไทม์ไลน์ พร้อมจับมือรัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนการลงทุนและแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กดดันการใช้จ่ายในประเทศ
ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. ในวันนี้ (5 กรกฎาคม) ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ว่าจะขยายตัวได้ในกรอบ 3-3.5% จากแรงขับเคลื่อนหลักที่มาจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะไปถึง 29-30 ล้านคน
อย่างไรก็ดี กกร. ได้มีการปรับลดตัวเลขการส่งออกไทยในปีนี้เพิ่มเป็น 0 ถึง -2% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ในช่วง 0 ถึง -1% ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ภาคการผลิตยังคงหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาคบริการเริ่มเห็นสัญญาณชะลอลงในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น
นอกจากนี้ธนาคารกลางของประเทศหลักฝั่งตะวันตกมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อในช่วงครึ่งปีหลัง ภาวะการเงินตึงตัวจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อใหม่จะยิ่งกดดันภาคธุรกิจและจำกัดการใช้จ่าย นำไปสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอลงเช่นกัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจฉุดการเติบโตของภาคการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า
สำหรับการอ่อนค่าของเงินบาทที่ค่อนข้างเร็วในช่วงที่ผ่านมา กกร. มองว่าเป็นการอ่อนค่าที่สอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค โดยสาเหตุหลักเกิดจากค่าเงินดอลลาร์ที่กลับมาแข็งค่าหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มกลับมาเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียที่นำโดยเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวกว่าคาด ส่งผลให้ค่าเงินภูมิภาคอยู่ในทิศทางอ่อนค่า
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าชั่วคราวและจะกลับมาทยอยแข็งค่าได้ในช่วงที่เหลือของปี ด้วยทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่เป็นขาขึ้นและปัจจัยความไม่แน่นอนในประเทศที่คลี่คลายลง
ผยงกล่าวอีกว่า ที่ประชุม กกร. มีมุมมองว่าตลาดการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักตัวเดียวในการขับเคลื่อนประเทศในตอนนี้ โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนที่มีการใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญกับการเร่งเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการออกหนังสือเดินทาง รวมถึงการดูแลด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันจะต้องเร่งเพิ่มเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งการเร่งการใช้จ่ายและการจัดทำงบประมาณเป็นเรื่องเร่งด่วน การจัดตั้งรัฐบาลให้ได้อย่างรวดเร็วและราบรื่นจึงสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้การใช้จ่ายภาครัฐไม่สะดุด จะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวท่ามกลางความเสี่ยงรอบด้าน
“เราคาดหวังจะเห็นการจัดตั้งรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีเป็นไปตามไทม์ไลน์ คือไม่ช้าไปกว่าเดือนสิงหาคม หากเว้นไปนานเกินจะทำให้เราเสียโอกาสในหลายด้าน เช่น การเร่งขับเคลื่อนการใช้จ่ายของภาครัฐ นอกจากนี้ต่างชาติที่มีแผนจะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งปัจจุบันชะลอดูความชัดเจนทางการเมืองอยู่ อาจตัดสินใจไปประเทศอื่นแทน และในกรณีที่มีการชุมนุมประท้วงก็จะกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวอีก” ผยงกล่าว
ผยงระบุอีกว่า หากเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้อีกหนึ่งผลกระทบที่จะตามมาคือ การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงที่ 90.6% ต่อ GDP หลังการปรับปรุงนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นแรงกดดันที่ทำให้ผู้บริโภคมีข้อจำกัดและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
ทั้งนี้ ในมุมมองของ กกร. การจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืนจะต้องทำผ่านการฟื้นฟูศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ ยกระดับทักษะแรงงานและผลิตภาพแรงงาน นำไปสู่รายได้ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่ร่วมหาแนวทางกับภาคเอกชน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ทั้งแรงงาน ผู้ประกอบการ และรัฐบาล ในระหว่างนี้ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่เต็มที่ ภาคการเงินยังต้องประคับประคองลูกหนี้กลุ่มเปราะบางต่อไปแม้จะมีต้นทุนต่อระบบบ้าง
“เราเห็นด้วยกับ 3 แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนของ ธปท. ส่วนจะมีการลดดอกเบี้ยให้กลุ่มลูกหนี้เรื้อรังร้ายแรงตามที่เป็นข่าวหรือไม่ มองว่าการใช้เครื่องมือทางการเงินเป็นเพียงหนึ่งในองค์ประกอบของการแก้ปัญหาเท่านั้น สิ่งสำคัญคือการช่วยให้เขามีรายได้เข้ามาชำระหนี้และลดเงินต้นได้อย่างเหมาะสม ไม่ให้เขาอยู่ในสภาวะหนี้แข็งหรือเป็นหนี้คงค้างที่ไม่มีทางออก ซึ่งรายละเอียดของเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือจะมีความชัดเจนออกมาจาก ธปท. เร็วๆ นี้” ผยงกล่าว